ศึกหนัก “บิ๊กตู่-อนุทิน” ซีซัน 2 บริหารโควิดผิดพลาดซ้ำซาก

15 ส.ค. 2564 | 08:15 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย... ว.เชิงดอย

+++ ยัง “เอาไม่อยู่” กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ “มฤตยูไวรัสโควิด-19” สำหรับประเทศไทย ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ ศบค.รายงานเมื่อวันที่ 11 ส.ค.2564  พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 21,038 ราย ผู้หายป่วยกลับบ้านได้22,012 ราย  ยอดผู้ป่วยสะสม 816,989 ราย ขณะที่ผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 207 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 6,701 ราย ยอดผู้เสียชีวิตรวม 6,795 ราย 
     

+++ สำหรับผู้เสียชีวิตนั้น ส่วนใหญ่ก็อยู่ในพื้นที่ กทม. และ ปริมณฑล เป็นชาย 112 ราย หญิง 95 ราย ส่วนจังหวัดที่มีผู้ป่วยอาการหนัก มีทั้งหมด 5,005 ราย จังหวัดที่มากกว่า 10% ได้แก่ นครปฐม 364 ราย ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ป่วยอาการหนัก 5-10% จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ นครนายก นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก สมุทรสาคร สุพรรณบุรี หนองคาย อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี 


+++เจอแน่ๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับ “ศึกซักฟอก” หรือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านประกาศออกมาแล้ว บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม และ เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข จะตกเป็นเป้าหลัก และประเด็นที่จะถูกถล่มก็คือเรื่องการบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ “ผิดพลาดซ้ำซาก” ของรัฐบาล เป็นสาเหตุทำให้พี่น้องประชาชนทุกข์ยากลำบาก และจะมีรัฐมตรีอีก 3-4 คน เจอถล่มในปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบของบุคคลในรัฐบาลรวมไปถึงบริวารแวดล้อม โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล วันจันทร์ที่ 16 ส.ค.นี้ และการอภิปรายจะเกิดขึ้นก่อนการปิดสมัยประชุมสภาฯ วันที่ 19 ก.ย.2564

+++ เมื่อช่วงต้นปี 2564 ระหว่างวันที่ 16-19 ก.พ. 4 วัน 4 คืน ที่ฝ่ายค้านเปิดศึกซักฟอก 10 รมต. มาแล้วครั้งหนึ่ง และในจำนวนนี้ “บิ๊กตู่” กับ “อนุทิน” ก็ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเกี่ยวกับความผิดพลาดในการแก้ปัญหา “โควิด-19” มาแล้วครั้งหนึ่ง โดยครั้งแรก “บิ๊กตู่” ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ภูมิปัญญา ไร้ความสามารถ...ท่ามกลางภาวะที่ประชาชนดำรงชีวิตอย่างยากลำบาก และมีการระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งทำให้สภาพเศรษฐกิจดิ่งเหว ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม 


+++ ขณะที่ในครั้งแรก ในส่วนของ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข ถูกพรรคร่วมฝ่ายค้านกล่าวหาว่า มีพฤติการณ์บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาด บกพร่องอย่างร้ายแรง ไร้ประสิทธิภาพ และไร้ความสามารถ ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มีการแพร่ระบาด ในรอบสองอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนอย่างที่ไม่ควรจะเป็น ปกปิด อำพรางการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรค เพื่อเปิดช่องให้มีการทุจริต แสวงหาประโยชน์บนความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ดำเนินนโยบายที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน


+++ มาถึง “ศึกซักฟอก” ครั้งนี้ ซึ่งเป็นการแพร่ระบาดของ “โควิดระลอก 3” ที่หนักหน่วงกว่าการระบาด 2 ระลอกแรกที่ผ่านมา สร้างความทุกข์ใจ ทุกข์ร้อน เดือดร้อนกันไปทั้งประเทศ คอยดูว่าญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ จะเขียนกล่าวหา “บิ๊กตู่” และ “เสี่ยหนู” ได้ “สกรรจ์สกรรณ์” ขนาดไหน 

+++ ทำดี เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ก็ต้องชื่นชมกันหน่อย สำหรับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ บริษัทในเครือ ยุคที่มี อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่ได้ดำเนินการเปิดหน่วยคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 และ รพ.สนามครบวงจร ในโครงการ “ลมหายใจเดียวกัน” เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาวิกฤติโควิด-19 ของประเทศ ร่วมเป็นพลังต่อลมหายใจของประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไป โดยในระยะแรกนั้น ปตท.ได้เร่งส่งมอบเครื่องช่วยหายใจ เครื่องให้ออกซิเจนอัตราไหลสูง พร้อมสนับสนุนออกซิเจนเหลวแก่รพ.ในพื้นที่วิกฤติ และมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อใช้ในการรักษาอาการผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัดรวมกว่า 200 แห่ง ทั่วประเทศ


+++ มาครั้งนี้ท่ามกลางนสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ปตท. ก็ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และ พันธมิตรทางการแพทย์ จัดตั้งหน่วยคัดกรอง และ รพ.สนามครบวงจรแบบ End-to-End เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ยังคงมีตัวเลขที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการเสียชีวิต ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด โดยรพ.สนามครบวงจร จะเป็นการระดมกำลังของกลุ่ม ปตท.ทุกด้าน ทั้งด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ แบ่งการจัดตั้ง รพ. ประกอบด้วย 1.รพ.สนาม สำหรับผู้ป่วยระดับ “สีเขียว” เปิดให้บริการในรูปแบบของ Hospitel กระจายไปในหลายโรงแรม จำนวน 1,000 เตียง รองรับผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากหน่วยคัดกรองอย่างเป็นระบบ 2.รพ.สนาม สำหรับผู้ป่วยระดับ “สีเหลือง” ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการในระดับหนักขึ้น เปิดให้บริการ ที่ โรงแรมเดอะบาซาร์ กรุงเทพ มีเตียงผู้ป่วยจำนวน 300 เตียง มีระบบไฮโดรเจน ต่อ Direct Tube ส่งตรงถึงทุกเตียงผู้ป่วย 


3.รพ.สนาม สำหรับผู้ป่วยระดับ “สีแดง” โดยจัดสร้าง รพ.สนาม ICU บนพื้นที่ 4 ไร่ รองรับผู้ป่วยจำนวน 120 เตียง ให้บริการสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก โดยปรับพื้นที่โล่งของ รพ.ปิยะเวท เป็นสถานที่ก่อตั้ง โดยจัดทำห้องรักษาความดันลบแยกรายผู้ป่วย ห้องละ 1 เตียง ซึ่งเป็นครั้งแรกของรพ.สนามในประเทศ พร้อมระบบ Direct Tube ส่งท่อออกซิเจนตรงทุกห้องผู้ป่วย และติดตั้งถังออกซิเจนเหลวขนาด 10,000 ลิตร พร้อมห้องฉุกเฉินให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง