“เศรษฐกิจถดถอย” มาแล้ว จน-แบกหนี้-โงหัวไม่ขึ้นยาว

07 ส.ค. 2564 | 23:30 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

     ในขณะที่ผู้คนสนใจจำนวนการติดเชื้อโควิด และกระบวนการได้มาซึ่งวัคซีนที่เป็นอาวุธในการสู้กับ “สงครามโรค” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กันทั้งเมืองนั้น ผมอยากพามาพิจารณาเรื่องเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องของประชาชนทั้งประเทศที่กำลัง “จมดิ่ง” กันทั้งบาง

     เป็นข้อคิดเห็นของ “คณะกรรมการนโยบายการเงิน-คณะกรรมการภาครัฐและเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)” ที่สอดคล้องกันว่าเศรษฐกิจไทยกำลังตกอยู่ในภาวะถดถอยหนักหน่วง

     ผมพาไปดูข้อคิดเห็นของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งมีมติออกมาด้วยคะแนนเสียง 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยที่ 2 เสียง เห็นควรให้ลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 ต่อปี  และมีมติปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงมาจากที่คาดว่า จะขยายตัวในปีนี้ 1.8% ลงมาเหลือ 0.7%

     คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มากกว่าที่ประเมินไว้ และ “ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำ” อย่างมีนัยสำคัญ   

     คณะกรรมการ กนง.เห็นว่า โจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทยตอนนี้ คือ

     1.การเร่งควบคุมการระบาดและกระจายวัคซีน เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชนและเอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้กลับมาขยายตัว  

     2. มาตรการทางการคลังและการเงินจะต้องเร่งช่วยผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ยิ่งขึ้นสอดคล้องกับสถานการณ์

     คณะกรรมการ กนง. เห็นว่า ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ายังอยู่ในระดับสูง การช่วยเหลือต้องเร่งผลักดันผ่านการกระจายสภาพคล่องและลดภาระหนี้ของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบได้โดยตรง

“เศรษฐกิจถดถอย” มาแล้ว จน-แบกหนี้-โงหัวไม่ขึ้นยาว

     ขณะที่การระบาดทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน รายได้และการจ้างงานเข้ามาอีก จากผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 

     ด้านสภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายตัวยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาด  

     จึงต้องดำเนินมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อให้มีประสิทธิผลมากขึ้น โดยเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่น ๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว

     นักข่าวถามว่า หากเกิดกรณี minus case นั้น ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสถดถอยเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันหรือไม่ และ ธปท.ประเมินอย่างไร ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการ กนง. ตอบว่า กรณี minus case ที่ประเมินไว้เป็นเพียงหนึ่งในฉากทัศน์ที่มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทย จะชะลอลงมากกว่ากรณีฐานมาก

     “เศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวที่ 0.7 ก็ถือว่าค่อนข้างต่ำมากแล้วจากที่ปีก่อนหดตัวไปถึง -6.1 และเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่ยังขยายตัวได้ค่อนข้างดี แต่คงต้องทำอย่างเต็มที่ตั้งแต่วันนี้ ไม่ต้องรอให้เศรษฐกิจไทยแย่ลงไปถึงขนาดติดลบ” ทิตนันทิ์ ส่งสัญญาณออกมา

     ฟังแล้วเห็นภาพมั้ยว่า เศรษฐกิจไทยโอกาสที่จะดำดิ่ง ลงลึก หรือยังครับ!

“เศรษฐกิจถดถอย” มาแล้ว จน-แบกหนี้-โงหัวไม่ขึ้นยาว

     ถ้ายังไม่เห็นภาพ ผมพามาดูผลการประเมินของคณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชนร่วม 3 สถาบัน “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย-สภาหอการค้าไทย-สมาคมธนาคารไทย” องค์กรนี้ถือว่าใหญ่สุดในระบบเศรษบกิจที่สามารถส่งเสียงออกให้รัฐบาลได้สะดุ้งสะเทือนกัน

     ผู้นำองค์กรแต่ละคนล้วนแล้วแต่มีศักดิ์ศรีความน่าเชื่อถือสูง ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคาร เป็นประธาน กกร. สุพันธุ์ มงคลสุธี เป็นประธานสภาอุตฯ สนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย ประเมินแบบนี้ครับ

     หนึ่ง กกร. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกปี จากโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ส่งผลกระทบตลอดครึ่งปีหลัง การควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่ประสบความสำเร็จ ผู้ติดเชื้อรายวัน ผู้ป่วยสะสมในโรงพยาบาลยังเพิ่มขึ้นในอัตราสูง แม้จะ Lockdown มา 14 วัน   

     สอง เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะวิกฤตและเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมากและรุนแรง กระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ กกร. จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ลงเป็นติดลบ 1.5 % ถึง 0% ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการระบาดของโรคโควิด-19

     แม้การส่งออกจะขยายตัว 10-12% จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดี แต่ต้องดูแล supply chain ไม่ให้เกิดการติดเชื้อในวงกว้าง เพราะถึงขณะนี้ นอกเหนือจากธุรกิจบริการ ท่องเที่ยว และการค้าขายทั่วไป ที่เปราะบางแล้ว การระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานได้เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและอุตสาหกรรมส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เดียวของเศรษฐกิจไทยตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา จึงต้องจำกัดวงจรของการระบาด ไม่ให้ถลำลึกกว่านี้

     ความถดถอยทางเศรษฐกิจที่กกรงประเมินนั้นถือว่า  กระทบกระเทือนต่อทุกคน เพราะนั่นหมายถึงเงินหายจากระบบ การเป็นหนี้ที่สูงขึ้น แต่ขีดความสามารถในการจ่ายหนี้ลดลง ไม่เชื่อผมพามาดูตัวเลขนี่ครับ

“เศรษฐกิจถดถอย” มาแล้ว จน-แบกหนี้-โงหัวไม่ขึ้นยาว

     จีดีพีประเทศไทยในปี 2562 เคยสูงถึง 16.8 ล้านล้านบาท พอถึงสิ้นปี 563 จีดีพีของประเทศไทยหดตัวติดลบแรงมาก โดยติดลบถึง 6.1% ทั้งๆที่มีการกู้ยืมเงินมา 1 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลลุงตู่อัดฉีดเข้าไปในระบบซึ่งสามารถประคองการหดตัวของเศรษฐกิจไทยได้ 2-2.5% นั่นหมายถึงอะไร หมายถึงว่าความมั่งคั่งและเม็ดเงินในระบบของประเทสหายไปทันที 1.2-14 ล้านล้านบาท

     งวดเดือนก.ย.2563 ขนาดจีดีพีจองประเทศไทยอยู่ที่ 15,901,669 ล้านบาท งวดเดือนก.ย.2563 จึงร่วงลงมาอยู่ที่ 15,901,669 ล้านบาท งวดเดือน ธ.ค.2563 ขนาดจีดีพีของประเทศไทยจึงร่วงลงมาเหลือ 15,698,286 ล้านบาท

     พอถึงเดือน ม.ค.2564 ขนาดของจีดีพีลดลงเหลือ 15,668,576 ล้านบาท และพอถึงงวดเดือน พ.ค. 2564 ขนาดของจีดีพีลงมาเหลือแค่  15,691,888 ล้านบาท

     งัดเครื่องคิดเลขมากดดู ถ้าเศรษฐกิจไทยหดตัวลง 1.5% เท่ากับว่าเม็ดเงินหายไปจากระบบทันทีอีก 235,378 ล้านบาทครับ

     ระยะเวลา 2 ปี ที่เศรษฐกิจไทยถดถอยลงจนเข้าข่ายหดตัวนั้น เม็ดเงินหายไปจากระบบ 1,635,378 ล้านบาท

     เงินขนาดนี้กว่าจะฟื้นตัวขึ้นมารัฐบาลต้องทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวให้ได้ปีละ 10-12% และถ้าพิจารณาจากผลการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ได้ 3-4% ต้องใช้เวลาอีก 3-4 ปี จึงจะกับมาเท่าเดิม เหนื่อยมั้ยครับ!