มุมมองการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวของไทย

21 ก.ค. 2564 | 07:14 น.

มุมมองการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวของไทย : คอลัมน์ เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ดร.ทยา ดำรงฤทธิกุล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,698 หน้า 5 วันที่ 22 - 24 กรกฎาคม 2564

การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา...

 

ในช่วง 45 ปีที่ผ่านมา ประเทศ ไทยได้ก้าวพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ตํ่าเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับบน และมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูง ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการขยายตัว คือ นโยบายการเปิดประเทศที่มากขึ้น ทำให้ไทยสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของโลก ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพการผลิตการลงทุน การจ้างงาน อันส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของไทย 

 

เศรษฐกิจไทยเติบโตในอดีตจากการสะสมของ “ปัจจัยการผลิต” อีกนัยหนึ่ง คือ การขยายตัวของแรงงานในประเทศ ประกอบกับการอพยพเข้ามาอย่างต่อเนื่องของแรงงานต่างด้าวจาก กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม

 

นอกจากนี้ การโยกย้ายแรงงานจากภาคเกษตรที่มีผลิตภาพตํ่ามาสู่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่ขยายตัวตามความต้องการจากต่างประเทศในช่วงหลายทศวรรษก่อน ส่งผลให้ผลิตภาพแรงงานโดยรวมเพิ่มขึ้นอย่างมาก อีกทั้งยังช่วยยกระดับมูลค่าเพิ่มของการผลิตสินค้าภายในประเทศ

 

ความท้าทายของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน...

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยซึ่งพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คิดเป็นประมาณ 15% ของ GDP จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติลดลงอย่างมากตั้งแต่ มี.ค. 2020 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิกฤตโควิดระลอกที่ 3 ที่มีความรุนแรงมาก ส่งผลให้เกิดการชะงักงันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานพุ่งสูง การบริโภคชะลอตัว

 

ประกอบกับการหดตัวของการส่งออกและนำเข้าสินค้า ส่งผลให้ศรษฐกิจโดยรวมเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการปรับตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือเพียง 1.8% และปี 2022 เหลือเพียง 3.9%

 

การขยายตัวของเศรษฐกิจที่มาจากการสะสมปัจจัยการผลิตได้มาถึงจุดอิ่มตัว ในทางกลับกัน จำนวนแรงงานเริ่มลดลงอย่างที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ นอกจากนี้ ปัญหาสำคัญยิ่งคือ การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะโดยเฉพาะทักษะทางด้านดิจิทัล ดาต้าความปลอดภัยทางไซเบอร์ และคลาวด์ ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังวิกฤติโควิด-19 ส่วนหนึ่งเพราะแรงงานไทยมีระดับการศึกษาไม่สูงพอ ส่งผลให้ผลิตภาพแรงงานไทยเติบโตไม่ทันกับระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ 

 

ถึงแม้ว่า ไทยได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกและเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายสำคัญ แต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศที่หยุดชะงักเป็นเวลานานอาจทำให้หลายประเทศมีความตระหนักถึงความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดภายนอกประเทศที่มากเกินไป และกลับมาให้ความสำคัญ กับเศรษฐกิจภายในประเทศ ปัจจัยเหล่านี้จึงมีความสำคัญในกำหนด การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่มูลค่าโลกในอนาคต แนวโน้มพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคหรือในประเทศตนเองเพิ่มมากขึ้น

 

ความเหลื่อมลํ้าของรายได้ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทั่วโลก ในประเทศไทย คนจำนวนมากที่ตกงานในช่วงวิกฤตนี้ ส่วนใหญ่เป็นคนงานที่มีทักษะระดับตํ่าและค่าแรงตํ่า เนื่องจากขาดความสามารถในการปรับตัวและการปรับรูปแบบของการทำงานไปสู่การทำงานระยะไกล (Remote working)

 

รวมถึงการเข้ามาแทนที่ของเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติ ในทางกลับกัน คนงานที่มีทักษะระดับสูงซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้สูง จะมีความสามารถในการปรับตัวได้ดีกว่า จึงมีความได้เปรียบในตลาดแรงงาน

 

มุมมองการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวของไทย

 

ทางออกที่เป็นไปได้ในเชิงนโยบาย...

 

เมื่อมองถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น สิ่งที่สำคัญมากที่สุดในขณะนี้ คือ นโยบายเกี่ยวกับวัคซีน การสรรหาวัคซีนให้เพียงพอ และสามารถกระจายวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพทั่วถึงในเวลาอันสั้น เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ซึ่งจะสามารถหยุดการแพร่ระบาดหนัก

 

นอกจากนี้ ความยืดหยุ่นและการร่วมมือกันระหว่างนโยบายการคลัง นโยบายการเงิน และระบบสถาบันการเงินในการปรับตัวต่อเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอนคือสิ่งจำเป็นโดยส่วนของภาครัฐ รัฐบาลควรออกแบบมาตรการการโอนเงินให้ตรงกลุ่มเป้าหมายและทันท่วงที และเมื่อสถานการณ์เริ่มฟื้นตัว รัฐบาลควรต้องพิจารณาถึงแผนพัฒนาด้านรายรับรัฐบาลระยะกลาง (medium-term revenue mobilization strategy) เพื่อรักษาระดับการเติบโตของรายได้ภาครัฐและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่าย รวมถึงออกแบบการบริหารหนี้สาธารณะของรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ในระยะยาว การเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน คือ สิ่งสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การยกระดับทักษะแรงงานทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบันและแรงงานที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดจะเป็นภารกิจสำคัญที่ผู้นำภาครัฐ และเอกชน ต้องให้ความสำคัญ รัฐบาลควรเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา พัฒนาระบบการศึกษาที่ผลิตแรงงานให้มีทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาสำหรับคนยากจนเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมลํ้าของรายได้

 

นอกจากนี้ รัฐบาลอาจใช้มาตรการทางภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการ upskill และ reskill ให้พนักงานได้เสริมองค์ความรู้และเพิ่มพูนทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานในระดับองค์กร

 

การเพิ่มเงินสนับสนุนทางด้านงานวิจัยและพัฒนาจะผลักดันให้มีการสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ ประกอบกับเพิ่มค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อทด แทนวัยแรงงานที่ลดลง ทั้งหมดนี้ จะนำมาซึ่งการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน และผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ยั่งยืนอย่างแท้จริง