อยู่ด้วยกัน ….. อยู่ให้เป็น

18 ก.ค. 2564 | 07:28 น.

อยู่ด้วยกัน ….. อยู่ให้เป็น : คอลัมน์เล่าตามที่เห็น พูดตามที่คิด โดยดร.สมชาย หาญหิรัญ สมาชิกวุฒิสภา

ทันทีที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประกาศข้อมูลอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาสที่หนึ่งของปี 2564 ทำให้เรารู้ว่าประเทศไทยกำลังบันทึกหน้าประวัติศาสตร์เศรษฐกิจใหม่ แม้ว่าครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราเผชิญกับวิกฤติทางเศรษฐกิจ ที่อัตราการขยายตัวติดลบต่อเนื่องมากกว่า 5 ไตรมาสติดต่อกัน แม้ว่าไม่ยาวนานเหมือนครั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 ที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยติดลบ 7 ไตรมาสติดต่อกัน และในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปลายปี 2550 ที่ทำให้ GDP ของเราติดลบต่อเนื่อง 3 ไตรมาส หรือแม้แต่ตอนที่น้ำท่วมในปี 2554 เราก็ติดลบแค่หนึ่งไตรมาส และทุกครั้งเรามองเห็นทางออก
 

เราพอคาดเดาได้ว่าปัญหาคืออะไร หากแก้ไขแล้วก็จะจบ ทุกอย่างจะเหมือนเดิม และเราก็ทำได้จริง ๆ แม้ว่าหลายเหตุการณ์อาจทิ้งรอยแผลเป็นไว้ให้ระลึกถึงก็ตาม แต่วิกฤติโควิดครั้งนี้ต่างกันลิบลับจากที่เราเคยเจอมา การคาดการณ์ เป็นไปได้ยากและไม่มีใครรู้ว่าจะจบเมื่อไร ทำอย่างไรถึงจะพาให้เรารอดจากเหตุการณ์นี้ หลายคนพูด หลายคนเสนอ หลายคนด่า หลายคนตำหนิ และเอะอะ ว่าไปตามหัวโขนที่มีอยู่ แต่ผมดูแล้วทุกคนยังมืดมน งุนงง และไม่แน่ใจอะไรสักอย่าง ซึ่งผมเข้าใจครับว่าเป็นเรื่องใหม่ของคนในยุคเรา
 

ประสบการณ์ของคนวัยนี้ เราจะเห็นว่าทุกวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมามีผลกระทบจำกัดที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น ในวิกฤติ ปี 2540 ภาคการเงินได้รับผลกระทบอย่างมาก และส่งต่อไปภาคการผลิต การลงทุน สังหาริมทรัพย์ และผู้คนที่อยู่ในระบบสินเชื่อของสถาบันการเงิน ซึ่งตอนนั้นก็เกิดการว่างงานจำนวนมหาศาล แต่คนที่อยู่นอกวงนี้ได้รับแรงกระเพื่อมของผลกระทบไม่มาก และเรายังโชคดีที่มีภาคการเกษตรรองรับผู้คนในวัยแรงงานที่กลับไปสู่บ้านเกิด ขณะเดียวกันผู้ซื้อของเราในตลาดต่างประเทศก็ไม่ได้รับผลกระทบมาก ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเราฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ส่วนปัจจัยภายในประเทศนั้น นโยบายของรัฐก็คล้ายๆ กับที่เราทำวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเอาเงินไปใส่ในมือของผู้คนประชาชนในระดับล่างของระบบเศรษฐกิจเพื่อก่อให้เกิดการหมุนเวียนและการจับจ่ายใช้สอยในระดับล่างที่เชื่อว่าจะสร้างตัวคูณทางเศรษฐกิจได้ดีที่สุด 
 

ส่วนในชุมชนในเมืองเราก็จะเห็นคนไทยที่มีน้ำใจโอบอ้อมอารีออกมาช่วยเหลือผู้รับผลกระทบในรูปแบบต่างๆเหมือนที่เราเคยเห็นในยุคโควิดใหม่ ๆ เพียงแต่ตอนนั้นเรายังไม่มีขั้วของการเมือง ข้อมูลข่าวสารที่ชุลมุนวุ่นวายไม่รู้อันไหนจริงอันไหนปลอมเหมือนเช่นในทุกวันนี้ นอกจากนี้ ผลของโควิดกระทบต่อผู้คนไม่เลือกอาชีพ วัย สถานที่ หรือรายได้ เท่านั้นไม่พอยังมีผลกระทบกับคนทั้งโลก จนมาถึงวันนี้ที่การแพร่กระจายของไวรัสที่เกิดขึ้นทุกมุมของโลกมีมารอบแล้วรอบเล่า จนไม่แน่ใจว่ารอบที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้จะจบเมื่อไร และจะมาอีกหรือไม่ จนทำให้หลายคนเชื่อว่าประสบการณ์ที่เราพบมาก่อนนั้นอาจไม่มีประโยชน์กับเราเลยในการเผชิญหน้ากับวิกฤติครั้งนี้ 
 

วันนี้ ระบบเศรษฐกิจของไทยในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ก็แทบไม่ได้พักจากผลกระทบทางการเมือง แทบไม่มีเวลาการสร้างภูมิคุ้มกัน ไม่มีความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงที่กำลังมาอย่างรวดเร็ว ระบบการกำกับดูแลเกือบเหมือนเดิมใน 20 กว่าปีที่ผ่านมา และการเมืองก็เข้าสู่ระบบขั้นสุดโต่งอย่างสมบูรณ์แบบ (The Political Polarization) ที่ฝังรากลึกลงไปในระบบสังคมทุกส่วน เพื่อนฝูง พ่อแม่พี่น้อง ญาติมิตร ต้องห่างเหิน หรือพาลเลิกคบกันไปกันหลายราย แต่แทนที่แนวคิดที่ได้รับจะสนับสนุนการทำงาน กลับกลายเป็นเครื่องมือในการห้ำหั่นกันทางการเมือง และผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม 
 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเราขึ้นอยู่กับการส่งออกเป็นสำคัญ ซึ่งเห็นจากอัตราการขยายตัวของจีดีพีรายไตรมาสจะติดลบในช่วงที่มีผลกระทบต่อการส่งออก เช่น ในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่อัตราการขยายตัวของเราติดลบกว่าสองไตรมาสก็เพราะคนเหล่านั้นคือลูกค้าในการส่งออกของเรา และมาติดลบอีกครั้งเมื่อเกิดน้ำท่วมในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 และ ในปี 2557 ที่การขยายตัวของ GDP รายไตรมาสแรกติดลบ ซึ่งผมว่าเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่การติดลบของ GDP มาจากปัญหาการเมืองที่วุ่นวายจนสุกงอมและนำสู่การยึดอำนาจของ คสช.
 

ในทุกครั้งของทุกวิกฤตเราก็ยังสามารถจัดการให้ผ่านไปและพา GDP มายืนบนแดนบวกอีกครั้งได้เสมอ จะช้า จะเร็ว ขึ้นกับหลายปัจจัย แม้หลายครั้งอาจจะทิ้งรอย “แผลเป็น” ให้กับประเทศไทยบ้าง แต่ทั้งหมดที่ผ่านมาช่วยให้เรามองย้อนหลังแผลเป็นนั้นเพื่อเป็นบทเรียนเตือนใจในการเดินทางต่อไปอย่างระมัดระวัง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายหรือมาตรการในการฟื้นตัวหรือการเยียวยาเพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งในครั้งนี้มาตรการต่าง ๆ ที่เราเคยใช้ก็ถูกดัดแปลงมาใช้เกือบทุกมาตรการ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เหมือน ๆ กับทั้งโลก แต่จะได้ผลต่างออกไปบ้างก็ตรงที่มาตรการนี้ใช้กับคนไทยเท่านั้นเอง ประสิทธิภาพของมาตรการเหล่านี้ที่อาจจะเคยใช้ได้อย่างได้ผลในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจครั้งก่อน อาจจะได้ประโยชน์น้อยหรือมีประสิทธิภาพต่ำในคราวนี้ ก็อาจเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสังคม ของคนไทย และระบบเศรษฐกิจ ผมว่าก็คงคล้าย ๆ กับวัคซีนต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับโควิดลดลงเมื่อเชื้อโรคมีการกลายพันธุ์

ผมยกตัวอย่าง เมื่อก่อนเราเอาเงินลงไปให้ผู้คนในชนบท เขาก็จะไปซื้อของในชุมชน จากร้านค้าชุมชน พ่อค้าชุมชนก็มาซื้อของในเมือง จากในเมืองมาซื้อจากหัวเมืองใหญ่ใกล้ ๆ และจากผู้ผลิตส่วนกลาง ทำให้เงินบาทเดียวหมุนหลายรอบ สร้างตัวคูณทางเศรษฐกิจสูง แต่วันนี้ไม่ใช่ มีทั้งร้านสะดวกซื้อของบริษัทขนาดใหญ่ การค้าออนไลน์ คนในชุมชนซื้อโดยตรง เงินถูกดูดจากชนบทเข้าสู่ส่วนกลาง การหมุนของเงินมีรอบสองรอบก็จบ ทำให้มาตรการเหล่านี้พอนำมาใช้ครั้งนี้ก็ถูกวิจารณ์มากพอประมาณว่าให้ประโยชน์บางกลุ่ม ต่อมาก็มีดัดแปลงปรับเปลี่ยนไปที่พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยในชุมชนมากขึ้น โดยส่วนตัวแล้วผมถือว่าโชคดีที่ยังอยู่นานพอที่จะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมสังคมไทย โครงสร้างเศรษฐกิจที่ซับซ้อนมากขึ้น ปัจจัยจากภายนอกที่มีอิทธิพลสูงขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจไทยซึ่งอาจไม่ใช่ปัจจัยทางเศรษฐกิจก็ตาม
 

เราเห็นความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงของวิกฤติทางการเมือง สังคม ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน บทเรียนนี้สำหรับนักเศรษฐศาสตร์หรือคนกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นการเปิดโลกให้เห็นว่า มาตรการทางเศรษฐกิจในวิกฤติครั้งนี้มีประสิทธิภาพต่ำกว่าที่เราคาดหวังหรือเหมือนที่เราเคยเรียน เคยรู้มาก่อน ทั้งนี้อาจเพราะเราใช้กับคนไทยที่ไม่เหมือนเดิม ระบบเศรษฐกิจ และสังคมที่ไม่เหมือนเดิม ทำให้เกือบทุกมาตรการเป็นเพียงการพยุงระบบเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ไม่ได้จะพาเราขึ้นไปยืนในแดนบวกอีกครั้ง สำหรับผมแล้วมาตรการที่ใช้วันนี้ทั้งการช่วยเหลือประชาชน ชดเชย สินเชื่อต่าง ๆ เหล่านี้ถือว่า “จำเป็น” แต่ “ไม่เพียงพอ” ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับไปสู่จุดเสถียรภาพใหม่อย่างที่พวกเราหวัง

ผมยังคิดว่า หากวันนี้เรายังไม่รู้จักกับเจ้าโควิด ว่ามาจากไหน วัคซีนช่วยได้มากน้อยขนาดไหน ข่าวจริง ข่าวเท็จ ออกมาจนไม่รู้ว่าใครรู้จริง ไม่รู้แต่อยากรู้ ยิ่งทำให้ผู้คนหลงอยู่ในถ้ำมืดจนมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เลย ยิ่งทำทุกคนหดหู่ สิ้นหวัง ก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยแย่ลงไปอีก ผมว่าการวางเป้าหมายว่าเราจะเปิดประเทศในอีก 4 เดือนข้างหน้า ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่เราเลือกแล้วว่าเราจะอยู่กับโควิด แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เราต้องสร้างความพร้อมให้ทุกส่วนสำหรับระบบการจัดการในทุกเรื่อง เช่น เปิดประเทศให้คนเข้าออกได้ เปิดโรงงานให้ผลิตเต็มที่ ร้านค้าเปิดดำเนินธุรกิจ การเดินทางคมนาคม หรืออื่น ๆ แต่เราต้องมีมาตรการ ระเบียบ เงื่อนไขที่พร้อมภายใต้ความเสี่ยงของสภาพแวดล้อมใหม่ เพื่อให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องรับรู้และปฏิบัติตามได้อย่างไร เพราะเรื่องนี้ในอดีตเราเคยบ้าเรื่องการเงินเสรีมาแล้ว การเปิด BIBF (Bangkok International Banking Facilities) ที่เลียนแบบชาวบ้านแต่ทำไม่ครบเหมือนเขาที่เปิดเสรีการเงิน แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขมากมาย ส่วนของเรา ก็เป็น “เสรีแบบเสรี” จนนำไปสู่ความวินาศของเศรษฐกิจในปี 2540
 

ผมเชื่อว่าถ้าเราวางระเบียบ เงื่อนไข กฎ ตั้งแต่วันนี้ไป จะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจ ผู้คน สามารถปรับตัว เตรียมความพร้อม และคุ้นเคยกับวิถีการดำรงชีวิตที่พร้อมและมั่นในว่าจะอยู่กับโควิดได้ แต่ต้องอยู่ให้เป็น ตามรูปแบบในวิถีชีวิตใหม่ ตอนนี้เราต้องพูดเรื่องนี้ให้คนในสังคมรับรู้ให้ได้ในสิ่งที่ทุกคนในประเทศไทยต้องรับผิดชอบร่วมกัน
 

วันนี้เราอยู่ ท่ามกลางสงครามทางสาธารณสุข ทางการเมืองทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ และสิ่งเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ต่อปากท้องของคนไทยทุกคน ทำให้การออกแบบมาตรการสำหรับผู้คนที่ตีคำว่าคุณค่าของแต่ละเจเนอเรชั่นที่อยู่ปนกันในสังคมไทยตั้งแต่ เบบี้บูมเมอร์จนถึงกลุ่มอัลฟา ที่มีสัดส่วนพอ ๆ กัน แต่มีความคิดต่างกันมากมหาศาล ทำให้การหาคำตอบสำหรับทางออกของประเทศยิ่งยากไปอีก และวันนี้หลายคนก็พยายามที่จะใช้ตัวชี้วัดในระดับจุลภาคมาประเมินผลมาตรการด้านมหภาค ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลส่วนตัว ทางการเมือง หรือสะใจ หรือไม่มีความรู้ก็ตาม แต่คนทำนโยบายก็ต้องเดินต่อ
ไม่มีสิทธิ์บ่นน้อยใจหรือเสียใจ เพราะหมวกที่เราสวมอยู่นั้นเราเลือกมาใส่เอง และก็ต้องเข้าใจคนอีกกลุ่มหนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์ด้วยเพราะนี่ความเป็นมนุษย์ที่มีมานานแล้ว เหมือนที่ลีโอนาร์โด ดาวินชีกล่าวไว้ว่า มีคนอยู่สองประเภท คือ หนึ่ง “ศิลปิน” และสอง “นักวิจารณ์” เพราะทุกคนต่างต้องการมีส่วนร่วมในงานศิลปะชิ้นนั้น ถึงแม้จะวาดรูปไม่เป็นก็ตาม