สุขภาพจิตในธุรกิจครอบครัว

21 ก.พ. 2566 | 22:59 น.

Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

ปัจจุบันพบปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มแรงงานทั่วโลกจำนวนมาก จากตัวเลขสถิติพบว่า 676 ล้านคนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากปัญหาสุขภาพจิต ขณะที่ข้อมูลจาก The Royal College of Psychiatrists ระบุว่าความเจ็บป่วยทางจิตเป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดของภาระโรค (Burden of disease) ในสหราชอาณาจักร และปัญหาสุขภาพจิตทำให้สูญเสียวันทำงานไป 91 ล้านวันต่อปี ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรถึง 3 หมื่นล้านปอนด์ เป็นต้น ในขณะที่ธุรกิจครอบครัวเองก็ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงานสมัยใหม่ด้วยเช่นกัน

จากสถิติในข้างต้นอาจกล่าวได้ว่าปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถละเลยได้ และสิ่งที่น่ากังวลเป็นอย่างมากคือคนจำนวนมากที่เข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัวมีปัญหาสุภาพจิตมาก่อนแล้วด้วย ส่วนความเครียดและความกดดันทางจิตใจที่มีความเฉพาะในโลกธุรกิจครอบครัวนั้น

Designing Your Family Business

แม้จะมีเหตุผลอันหลายประการที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวประสบความสำเร็จและดึงสถาบันครอบครัวมาไว้รวมกันได้ แต่ก็มีด้านลบมากเช่นกัน ด้วยว่าแรงกดดันอย่างไม่หยุดยั้งในการดำเนินธุรกิจสามารถนำไปสู่ความเครียดมากมาย โดยเฉพาะความเครียดที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ และที่แย่กว่านั้นคือความเครียดที่เกิดขึ้นเป็นประจำมักเป็นจุดเริ่มต้นของอาการป่วยทางจิต

ทั้งนี้ปัญหาที่ธุรกิจครอบครัวต้องเผชิญนั้นกว้างและหลากหลายมาก ตัวอย่างของปัญหาที่สามารถพบได้ เช่น

• นำงานกลับมาทำที่บ้าน ทำให้การรับประทานอาหารเย็นหรือเที่ยวกลางคืนเปลี่ยนเป็นการประชุมกะทันหัน

• มีเวลาจำกัดในการหยุดงาน

• ความไม่ลงรอยกันระหว่างรุ่น ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากโลกดิจิทัลหรือความไม่ชอบเสี่ยง

• การไม่เห็นด้วยกับการวางแผนสืบทอดกิจการ

• การควบคุมและสิทธิในการออกเสียง

• การตัดสินใจจะนำที่ปรึกษาจากภายนอกเข้ามาหรือไม่

• บางครั้งอาจมีมุมมองคับแคบเกินไป ซึ่งอาจเพราะมีประสบการณ์จากภายนอกน้อยเกินไป

• เป้าหมายของครอบครัวอาจทับซ้อนหรือขัดแย้งกับธุรกิจหรือการเงิน

• ความต้องการด้านการเงินของคนรุ่นอาวุโสอาจสร้างความขัดแย้งระหว่างความต้องการเกษียณระยะสั้นกับอนาคตของธุรกิจ

แนวทางขั้นแรกในการจัดการปัญหาด้านสุขภาพจิตขององค์กรคือการศึกษา อาทิ การฝึกอบรมความตระหนักรู้ด้านสุขภาพจิตสำหรับพนักงานทุกคนเป็นขั้นพื้นฐาน ด้วยเหตุผลที่ว่าเราไม่สามารถเข้าใจปัญหาได้จนกว่าจะเข้าใจเรื่องนั้นๆดีพอ ขั้นต่อไปควรดำเนินการในรูปแบบให้ผู้บริหารทุกคนได้รับการฝึกอบรมอย่างเต็มที่ เกี่ยวกับความรับผิดชอบของตนภายใต้ที่กฎหมายกำหนด

รวมถึงเพื่อให้รู้ว่าในสภาวะที่แตกต่างกันควรจะแสดงออกอย่างไร ต้องปรับเปลี่ยนบางอย่างให้เหมาะสมเพื่อจัดการสภาวะดังกล่าวอย่างไร วิธีสังเกตสัญญาณทั่วไป สิ่งที่ต้องทำ และวิธีจัดการกับบทสนทนาที่ยากลำบาก เป็นต้น

ประเด็นสำคัญคือสุขภาพจิตต้องได้รับการดูแลเช่นเดียวกับสุขภาพกาย นอกจากนี้เมื่อบริษัทรับพนักงานจากภายนอกเข้ามา ไม่เพียงบางคนจะกังวลเกี่ยวกับการเลือกที่รักมักที่ชังจากความสัมพันธ์ในครอบครัวซึ่งอาจทำให้เกิดความเครียดในตัวเองอยู่แล้วเท่านั้น แต่คนรุ่นมิลเลนเนียลทั่วโลกต้องการสิ่งที่แตกต่างออกไปในการทำงาน พวกเขาเน้นความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกที่ทำงาน ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักการประพฤติปฏิบัติของครอบครัว

ดังนั้นธุรกิจครอบครัวจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจนโยบายเกี่ยวกับสุขภาพกายและจิตให้ดี แม้อาจเป็นสิ่งที่ธุรกิจครอบครัวไม่เห็นว่ามีความจำเป็น แต่จะเห็นว่าภาครัฐก็ให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพกายและจิตมากขึ้นเช่นกัน โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบข้อบังคับด้านสุขภาพและความปลอดภัยและกฎหมายเพิ่มมากขึ้น เพื่อประโยชน์ในระยะยาวของทุกฝ่าย

 โดยทั่วไปธุรกิจครอบครัวนั้นเป็นที่อิจฉาของพนักงานในธุรกิจทั่วไปจำนวนมากอยู่แล้ว ดังนั้นจงปล่อยให้งานอยู่ในที่ทำงาน เปิดเผยและซื่อสัตย์ต่อกัน และท้ายที่สุดไม่ว่าใครจะมีสุขภาพจิตดีหรือไม่ดี จงดูแลกันและกันเสมือนคนในครอบครัว เพื่อรักษาหัวใจของคนซึ่งเป็นพื้นฐานของความแข็งแรงในทุกองค์กรนั่นเอง

ที่มา: Caulfield, M.  (n.d.). Retrieved January 16, 2023.  Mental Health In the Family Business Workplace.  Available: https://fambizcommunity.com/news/mental-health-in-the-family-business-workplace/

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,862 วันที่ 16 - 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566