เศรษฐกิจไทย บนปากเหว

28 พ.ค. 2566 | 00:30 น.

บทบรรณาธิการ เศรษฐกิจไทย บนปากเหว

แม้จะลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล หรือ MOU ไปแล้ว สำหรับพรรคก้าวไกลในฐานะแกนนำร่วมกับอีก 7 พรรค ภายใต้ 23 ข้อครอบคลุมแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แก้ปากท้องความยากจน ที่ดินทำกินและสิ่งแวดล้อมบวกอีก 5 แนวทางบริหารประเทศ
 
แต่ที่ยังไม่ชัดเจนและดูเหมือนจะไม่มีใครยอมใครระหว่าง พรรคก้าวไกล 151 เสียง กับ พรรคเพื่อไทย 141 เสียง คือ การแย่งเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็อ้างถึงความเหมาะสม และให้อีกฝ่ายยกเก้าอี้ให้ 
 
ที่น่าเป็นห่วงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่อง การเมือง คือ ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ที่แม้ไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัวได้ 2.7% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 4 ปี 2565 ที่ขยายตัวที่ 1.4% และดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัว 2.2% แต่หากปรับผลของฤดูกาลแล้ว เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปีนี้ ขยายตัวเพียง 1.9% เท่านั้น
 

ไตรมาส 2 จึงเป็นที่จับตาว่า เศรษฐกิจไทยจะยังรักษาการขยายตัวได้ต่อเนื่องหรือไม่ เพราะแค่เพียงเข้าเดือนแรกของไตรมาส คือ เมษายน 2566 สถานการณ์ก็น่าเป็นห่วงเสียแล้ว เพราะตัวเลขที่ออกมา หลายตัวเลขยังคงติดลบ ไม่ว่าจะเป็น การผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ติดลบ 3.1% ต่อเนื่องจากที่ติดลบ 5.0% ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ติดลบ 3.9%
 
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม(TISI) เอง ก็ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 95.0 จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 97.8 โดยลดลงเกือบทุกองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็น ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ มีเพียงต้นทุนประกอบการเท่านั้นที่ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย 
ส่วนดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าเอง ก็ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน จากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ
 
การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย กระทบต่อต้นทุนการกู้สินเชื่อรถยนต์ ทำให้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งลดลง 1.4% ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ก็ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยหดตัวที่ 8.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน รวมถึงปริมาณการจำหน่ายหน่ายรถกระบะ 1 ตัน หดตัวถึง 20.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น กระทบต่อภาระค่าครองชีพประชาชน ไปกดดันการบริโภค ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มลดลง 7.0% แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้นก็ตาม 
ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าหดตัวที่ 14.9% ต่อปี และภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 12 เดือนถึง 30.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
 
ยังต้องรอดูอีก 2 เดือนของไตรมาส 2 ว่า ตัวเลขจะออกมามากพอที่จะดึงทั้งไตรมาสขึ้นได้หรือไม่