เศรษฐกิจไทยปี 2566 หลังวิกฤตโควิค-19

29 ธ.ค. 2565 | 01:30 น.

เศรษฐกิจไทยปี 2566 หลังวิกฤตโควิค-19 : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.นิพิฐ วงศ์ปัญญา รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,848 หน้า 5 วันที่ 29 - 31 ธันวาคม 2565

 

ปี 2566 จะเป็นก้าวแรกของเศรษฐกิจไทย หลังวิกฤติโควิด-19 เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร ผมขออนุญาตเล่าปูพื้นถึงเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา เพื่อให้เห็นภาพของเศรษฐกิจก่อนที่เราจะมาถึงวันนี้ครับ

 

ธันวาคม ปี 2562 เกิดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขึ้นทำให้โลกเรา รวมถึงประเทศไทยต้องมีการรักษาระยะห่าง และ lock down เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัส ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ทำให้ปี 2563 เศรษฐกิจของหลายประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจไทยทรุดหนัก

 

 

 

 

การเติบโตทั้งปี 2563 ของเศรษฐกิจไทยติดลบ 6.2% ถัดมาปี 2564 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการระดมฉีดวัคซีนซึ่งเป็นทางออกของวิกฤติโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มเศรษฐกิจหลัก กลุ่มประเทศเกิดใหม่ และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา


ตามการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออก ส่งผลให้ในปี 2564 เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นโดยขยายตัวร้อยละ 1.5 ปีนี้ 2565 ปัญหาโควิค-19 ทุเลาลงมาก

 

 

ข้อมูลจากสภาพัฒน์ฯ ชี้ว่า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกบริการ หรือ การท่องเที่ยวขยายตัวเร่งขึ้น  3 ไตรมาสแรกเศรษฐกิจไทยเริ่มขยายตัวดีขึ้นเป็นลำดับ

 

ไตรมาสแรกเศรษฐกิจไทยโต 2.3% ไตรมาสสองโต 2.5% และไตรสามโต 4.5% รวม 9 เดือนแรกของปีนี้เศรษฐกิจไทยโต 3.1% รวมทั้งปีของปี 2565 นี้ก็น่าจะโตประมาณ 3% กว่าๆ

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของปีนี้คือเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เงินเฟ้อของประเทศต่างๆ อยู่ในระดับสูง เนื่องจากความต้องการซื้อเพิ่มมากขึ้น หลังเศรษฐกิจโลกเริ่มทยอยฟื้นตัว ในขณะที่สินค้าและบริการผลิตมาได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ และต้นทุนการผลิตแพงขึ้นจากราคาสินค้าโภคภัฒฑ์ในตลาดโลกสูงขึ้น เช่น นํ้ามันดิบ ก๊าซธรรมชาติ

 

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานของหลายประเทศ นอกจากนี้ยังมีปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทาน (supply chain disruption) ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตที่แพงขึ้น อัตราเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสหรัฐและยูโรโซน ไตรมาสสามปี 2565 นี้เงินเฟ้อของสหรัฐอยู่ที่ 8.3% และของยูโรโซนอยู่ที่ระดับ 9.3%

 

เศรษฐกิจไทยปี 2566 หลังวิกฤตโควิค-19

 

ธนาคารกลางจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องเพื่อสกัดกั้นไม่ให้เงินเฟ้อสูงมากเกินไป อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 0.13% ในปี 2563 และ 2564 แต่ปี 2565 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐถูกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างเร็วและแรง

 

ไตรมาสสามปีนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอยู่ที่ 3.13% อัตราดอกเบี้ยนโยบายของยูโรโซนเป็น 0% มาตลอดตั้งแต่ปี 2562 เพิ่งมาขึ้นเป็นครั้งแรกคือไตรมาสที่สามปี 2565 นี้โดยเท่ากับ 1.25% จะเห็นว่ายุโรบแก้ปัญหาเงินเฟ้อช้ากว่าสหรัฐอเมริกา

 

ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลัก อาทิเช่น สหรัฐฯ ยูโรโซน ในปี 2565 นี้มีทิศทางชะลอลง ในขณะที่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และกำลังพัฒนาขยายตัวเร่งขึ้นตามการส่งออก และฐานการขยายตัวที่ตํ่าในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า

 

เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งส่งผลต่อความตึงตัวในตลาดการเงินโลก นอกจากนี้ยังมีประเด็นความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อ แนวโน้มการฟื้นตัวช้าลงของเศรษฐกิจจีนเนื่องจากปัญหาโควิดที่กลับมาระบาดและปัญหาหนี้สินในภาคอสังหาริมทรัพย์

 

สำหรับเศรษฐกิจไทยเราปี 2565 สถาณการณ์แรงงานในประเทศฟื้นตัวกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 ในสิ้นไตรมาสสามของปี 2562 คือมีจำนวนแรงงาน 40 ล้านคน

 

ด้านการคลัง การเบิกจ่ายเงินกู้ภายใต้ พรบ. กู้เงินโควิด-19 ปี 2563-2564 วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท ก็มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 93% รวมทั้งปีงบประมาณ 2565 รัฐขาดดุลงบ ประมาณ 5.95 แสนล้านบาท และมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล ทำให้รัฐเกิน ดุลเงินสดหลังกู้สุทธิ 35,000 ล้านบาท

 

ฐานะเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนกันยายน มีจำนวน 6.25 แสนล้านบาท หนี้สาธารณะคงค้างสิ้นเดือนกันยายน อยู่ที่ 10.3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 60.7% ของ GDP ด้านการเงิน อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับ ตํ่าที่สุดเท่าที่เคยมีมาอยู่ที่ระดับ 0.5% จากปี 2563 2564

 

และสองไตรมาสแรกของปีนี้ และธนาคารแห่งประเทศไทย ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาสที่สามปี 2565 อยู่ที่ 1% ทางคณะกรรมการนโยบายการเงินประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการภาคเอกชน

 

ในขณะที่เงินเฟ้อของไทยยังทรงตัวในระดับสูง จากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น เงินเฟ้อของไทยเพิ่ม ขึ้นจากต้นปี 2565 มาถึงจุดสูงสุดในไตรมาสที่สาม ที่ 7.3% และมีแนวโน้มลดลงเดือน กันยายน และตุลาคมที่ผ่านมากอยู่ที่ 6.4% และ 6% ตามลำดับ

 

ธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ว่า เดือนตุลาคมการปรับขึ้นของราคาสินค้าลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับในช่วงต้นปี อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงในไตรมาสสามปี 2565 อยู่ที่ 36.42 บาท สอดคล้องกับทิศทางการดำเนิน นโยบายการเงิน ที่มีความเข้มงวดมากขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งทำให้มีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องของค่าเงินดอลลาร์

 

ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เงินทุน สำรองระหว่างประเทศลดลง จำนวนนักท่องเที่ยวปี 2562 หรือก่อนโควิดอยู่ที่ 40 ล้านคน ปี 2565 นี้ทั้งปีคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 12 ล้านคน

 

ปี 2566 นี้จะเป็นปีแรกที่ปัญหาวิกฤติโควิดได้บรรเทาลงมาก แต่ขณะเดียวกันมีข้อจำกัดและความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก IMF ได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะโตแค่ 2.7% ตํ่ามากที่สุดในประวัติการณ์ ถ้าไม่นับในช่วงวิกฤติโควิด เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซน คาดว่าจะมีการเติบโตเพียงแค่ 0.7% และ 0.3% ตามลำดับ เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงเหลือ 2% เศรษฐกิจไทยยังคงพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักในปีหน้า

 

แม้จะมีแรงกดดันจากชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่การส่งออกโดยรวมคาดว่าจะเป็นบวก โดยมีการเติบโตไม่สูงมากนักที่ 1% โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 23.5 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนครึ่งหนี่งของจำนวนก่อนวิกฤติโควิด ตามความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยว ภายหลังเปิดให้มีการเดินทางระหว่างประเทศ โดยจะเป็นนักเท่องเที่ยวจากเอเชียและแถบภูมิภาคอาเซียนเป็นส่วนใหญ่

 

เงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลง และคาดว่าจะเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายนโยบายการเงินในไตรมาสที่สามของปีหน้า อยู่ที่ 3% ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลแต่ไม่มากนักที่ประมาณ 1.1% ของ GDP

 

อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นไปเป็น 2% ปลายปี 2566 เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างมีเสถียรภาพ เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไปที่ 35-36 บาทต่อดอลลาร์เนื่องจากการส่งออกและดุลบัญชีเดินสะพัดเกิดดุลไม่มากนัก

 

อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของเงินทุนจะส่งผลต่อการปรับตัวของค่าเงินบาทในระยะสั้นได้เช่นกัน ปี 2566 หลายๆ สำนักคาดกันว่าก้าวแรกของเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤติโควิค-19 จะมีการเติบโต 3-4% ครับ