มองจุดแข็ง-จุดอ่อนของประเทศไทย ผ่านผลการจัดอับดับประเทศที่ดีที่สุดประจำปี 2022

18 ต.ค. 2565 | 09:10 น.

คอลัมน์เศรษฐกิจ 3 นาที โดย... ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา US News & World Report สื่อชื่อดังของสหรัฐฯ ได้มีการประกาศผลการจัดอันดับประเทศที่ดีที่สุดของโลกประจำปี 2022 ซึ่งไทยได้ถูกจัดอันดับอยู่ที่ 28 ของโลก จาก 85 ประเทศที่ได้ถูกเลือกมาจัดอันดับในครั้งนี้

 

แม้ว่าการจัดอันดับนี้ จะอาศัยการให้คะแนนตามมุมมองหรือความคิดเห็นของแต่ละบุคคล ซึ่งมีความรู้สึก ความเชื่อ ความเห็นที่อาจจะไม่ได้ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง ไม่ได้อ้างอิงจากค่าสถิติที่เป็นวัตถุวิสัย แต่ความคิดเห็นดังกล่าวก็สะท้อนถึงมุมมองและทัศนคติของผู้ตอบที่มีต่อประเทศไทย ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศต่อไปได้

 

ผู้เขียนได้คัดเลือกปัจจัยที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อนของประเทศไทย โดยอาศัยผลคะแนนที่ประเทศไทยได้รับจากหมวดคำถามทั้งสิ้น 69 คำถาม แยกเป็นกลุ่มที่คะแนนมากกว่า 80 คะแนน (จาก 100 คะแนน) ซึ่งแสดงว่าเป็นจุดแข็งของประเทศไทย และกลุ่มที่คะแนนน้อยกว่า 20 คะแนน (จาก 100 คะแนน) ซึ่งแสดงว่าเป็นจุดอ่อนของไทย พบว่า

จุดแข็งของไทย มีอยู่ด้วยกัน 8 หมวด ประกอบไปด้วย ค่าครองชีพไม่แพง ต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมการผลิตต่ำ แหล่งท่องเที่ยวที่ดี อาหารอร่อย ติดต่อทำธุรกิจผ่านระบบราชการได้โดยสะดวก ประเทศที่สนุกสนาน และประเทศมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมที่น่าสนใจ

 

สำหรับจุดอ่อนของไทย พบว่ามีอยู่ด้วยกัน 34 หมวด ซึ่งสามารถจัดกลุ่มได้เป็น 5 กลุ่ม คือ

 

1. ประเทศไทยถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีความคล่องตัวที่ต่ำ มีภาวะการตอบสนองที่ช้า ถูกมองว่าไม่ค่อยมีความก้าวหน้าและทันสมัย

 

2. ประเทศไทยมีจุดอ่อนอยู่ที่ปัจจัยที่สนับสนุนการเป็นผู้ประกอบการในหลากหลายหมวด ได้แก่ ประชากรมีการศึกษาที่จำกัด ระดับการพัฒนานวัตกรรมที่จำกัด การเข้าถึงเงินทุนทำได้ยาก ความสามารถด้านเทคโนโลยีที่จำกัด การทำธุรกิจที่ไม่โปร่งใส โครงสร้างพื้นฐานทั้งที่เป็นทางกายภาพและทางดิจิทัลที่ยังไม่ดีนัก กรอบทางกฏหมายยังเป็นอุปสรรค ตลอดจนความโปร่งใสในการดำเนินงานภาครัฐ

 

3. คุณภาพชีวิตของประชาชนต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาเสถียรภาพการเมือง ปัญหาความปลอดภัย รวมไปถึงระบบดูแลสุขภาพและระบบการศึกษาที่ยังมีคุณภาพไม่ดีนัก

 

4. ประเด็นทางสังคมที่ยังต้องเร่งพัฒนายกระดับ ได้แก่ สิทธิมนุษยชน สิทธิของสัตว์ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ความเป็นธรรมทางสังคม ความเป็นธรรมทางเพศ การเคารพในสิทธิทรัพย์สิน การสร้างสังคมที่ไว้วางใจได้ และการสร้างความสมดุลของอำนาจทางการเมือง

 

5. ประเทศไทยยังมีอิทธิพลในการเมืองระดับโลกที่จำกัดทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง ผู้นำ และทางการทหาร รวมทั้งการเป็นพันธมิตรกับนานาประเทศ

ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า จุดแข็งของไทยนั้นโดยมากจะเป็นจุดแข็งเดิมๆ ที่ประเทศไทยมีมานานหลายสิบปีแล้ว และเริ่มเข้าสู่ขีดจำกัดของการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น ต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่เพิ่มสูงตามค่าแรง แหล่งท่องเที่ยวที่เริ่มรับนักท่องเที่ยวเกินศักยภาพ ส่วนการแข่งขันในด้านของอาหาร การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมก็เริ่มมีประเทศอื่นๆ เข้ามาแข่งขันมากขึ้น เช่น สิงค์โปร์มีการโปรโมทอาหารริมทาง (Street food) หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของอินโดนิเชียถูกจัดอันดับว่าเป็นบะหมี่ที่อร่อยที่สุดในโลก เป็นต้น

 

สำหรับจุดอ่อนของไทยนั้น ผู้เขียนพบว่าประเทศไทยมีจุดอ่อนจำนวนมาก และแทบจะทุกหมวดที่เป็นจุดอ่อนของไทยนั้น จะเป็นหมวดที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น 1) การพัฒนาปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การศึกษา การเข้าถึงแหล่งทุน โครงสร้างพื้นฐานทั้งทางกายภาพและทางดิจิทัล ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม กรอบทางกฏหมาย และความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจและของภาครัฐ 2) การแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตของประชาชน 3) การยกระดับการแก้ไขปัญหาสังคมต่างๆ ตลอดจน 4) การยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

 

ข้อสรุปที่ได้จากการประเมินผลการจัดอันดับครั้งนี้ อาจจะกล่าวได้ว่าประเทศไทยในปีนี้ยังคงกินบุญเก่าไปได้อีกปี และยังคงมีจุดอ่อนที่ต้องแก้ไขอีกมากหากไม่อยากที่จะถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีความคล่องตัวต่ำ ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงช้า ไม่ค่อยก้าวหน้าและไม่ทันสมัย