ภาวะเงินเฟ้อพุ่ง กำลังจะกลับมาอีก

10 มิ.ย. 2566 | 01:25 น.

บทบรรณาธิการ ภาวะเงินเฟ้อพุ่ง กำลังจะกลับมาอีก

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพฤษภาคม 2566 ปรับตัวลดลง 0.71 % ชะลอตัวตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 21 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 และเมื่อรวมทั้ง 5 เดือน (มกราคม-พฤษภาคม 2566) ส่งผลอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.96% ซึ่งยังอยู่ในกรอบเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 1-3 % ซึ่งมีปัจจัยมาจากลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง การลดลงของค่าไฟฟ้า สินค้าในหมวดอาหารราคาชะลอตัวลง

อย่างไรก็ตาม กำลังมีสัญญาณที่อัตราเงินเฟ้อหลังจากนี้ไป จะกลับมาพุ่งสูงขึ้นอีก หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ได้บรรลุข้อตกลงที่จะร่วมกันลดเป้าหมายการผลิตน้ำมันดิบโดยรวมลงอีก 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบีย ที่ได้ประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 นี้ ถือเป็นการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงมากที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา และกำลังจะกระทบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่จะมีแนวดน้มปรับตังสูงขึ้นไปหลังจากนี้ได้

ประกอบกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ที่จะส่งผลกระทบต่อการผลิตของภาคการเกษตร โดยเฉพาะพืช ผัก ผลไม้ และวัตถุดิบต่างๆ ที่ใช้ผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภค จะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อราคาสินค้า โดยเฉพาะราคาอาหาร การกิน ที่จะตามมาเป็นระลอก

หรือแม้แต่ราคาค่าพลังงานอย่างก๊าซหุงต้ม หรือ แอลพีจี ที่ใช้ในภาคครัวเรือน มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นอีก จากปัจจุบันที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังต้องอุดหนุนอยู่ที่ 0.27 บาทต่อกิโลกรัม ต้องเปลี่ยนมาเก็บเงินเพิ่มเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อล้างหนี้ที่สะสมจากอุดหนุนที่ผ่านมาราว 4.63 หมื่นล้านบาท รวมถึงค่าไฟฟ้าที่จะจ่อปรับเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนกันยายน 2566 อีก

จากปัจจัยดังกล่าว จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูป ราคาก๊าซหุงต้ม ราคาอาหาร จะปรับตัวสูงขึ้นตาม ซึ่งจะกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนตามมา ดังเช่นเดียวกับเมื่อปี 2565 และจะกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาจจะต้องชะลอตัวลง

ขณะที่หลายภาคส่วนออกมาจี้ให้มีการเร่งจัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด เพื่อมารับมือกับปัจจัยเสี่ยงที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะหากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่มีความล่าช้า การจะออกนโยบายหรือมาตรการใดๆ มาช่วยเหลือหรือช่วงพยุงค่าครองชีพของประชาชน ก็จะไม่มีความชัดเจนตามไปด้วย

นั่นเท่ากับว่า หลังจากนี้ประชาชน หรือ ผู้บริโภค อาจจะต้องรับกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นไป และส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อที่สูงตามมาอีกก็เป็นได้