การให้ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์

18 ม.ค. 2566 | 06:57 น.

การให้ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ดร.สมทิพ วัฒนพงษ์วานิช คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,854 หน้า 5 วันที่ 19 - 21 มกราคม 2566

มูลนิธิเพื่อการกุศล (Charities Aid Foundation: CAF) ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการให้และการช่วยเหลือสังคมของคนทั่วโลกเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 เป็นต้นมา และจัดทำดัชนีการให้ในระดับโลก หรือ “World Giving Index” ขึ้น ซึ่งจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1.95 ล้านคนทั่วโลก ในปี ค.ศ. 2021 ผลการสำรวจพบว่าคนไทยมีพฤติกรรมการให้อยู่ในอันดับที่ 12 จาก 119 ประเทศ 

พฤติกรรมการให้ของการสำรวจนี้แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ การช่วยเหลือคนแปลกหน้า การบริจาคเงินให้องค์กรการกุศล และการอุทิศเวลาเป็นอาสาสมัคร โดยการสำรวจจะพิจารณาว่ากลุ่มตัวอย่างในแต่ละประเทศเคยทำกิจกรรมการให้ 3 ประเภทดังกล่าวคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์แล้วจึงนำมาจัดอันดับ โดยไม่ได้คำนึงถึงมูลค่าจำนวนเงินในการบริจาคหรือระยะเวลาในการเป็นอาสาสมัครแต่อย่างใด 

 

 

 

โดยเมื่อเปรียบเทียบกับผู้คนในประเทศอื่นแล้ว ในปี ค.ศ. 2021 คนไทยบริจาคเงินให้องค์กรการกุศลสูงติดอันดับที่ 8 ของโลก (62% ของกลุ่มตัวอย่าง) ตามมาด้วยการช่วยเหลือคนแปลกหน้าในอันดับที่ 58 (64% ของกลุ่มตัวอย่าง) และการอุทิศเวลาเป็นอาสาสมัครในอันดับที่ 75 (19% ของกลุ่มตัวอย่าง) 

หากเปรียบเทียบกับสถิติในช่วงปี ค.ศ. 2009-2019 ที่คนไทยมีพฤติกรรมการให้โดยเฉลี่ยอยู่ในอันดับที่ 21 จาก 126 ประเทศทั่วโลก โดยมีการบริจาคเงิน การเป็นอาสาสมัคร และการช่วยเหลือคนแปลกหน้า อยู่ในอันดับที่ 4, 79 และ 89 ของโลก ตามลำดับ

 

ตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ขึ้น แต่พฤติกรรมการให้ของคนไทยในภาพรวมนั้นอยู่ในอันดับที่สูงขึ้น โดยคนไทยยังคงบริจาคเงินสูงติดสิบอันดับแรกของโลก และมีแนวโน้มการช่วยเหลือคนแปลกหน้าและการทำงานเป็นอาสาสมัครที่เพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 

แนวโน้มนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ผลการสำรวจในปี ค.ศ. 2021 ยังชี้ให้เห็นว่าคนทั่วโลกมีพฤติกรรมการให้สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่มีการจัดทำดัชนี World Giving Index ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการบริจาคเงินให้องค์กรการกุศลและการช่วยเหลือคนแปลกหน้า 

 

การให้ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์

 

การช่วยเหลือสังคมในรูปแบบต่างๆ นั้นเรียกได้ว่าเป็น “พฤติกรรมเอื้อสังคม” (Prosocial Behavior) ซึ่งหมายถึง การกระทำที่ก่อให้เกิดต้นทุนแก่ผู้กระทำ แต่สร้างประโยชน์แก่บุคคลอื่น โดยการกระทำดังกล่าวเป็นไปโดยสมัครใจ และผู้กระทำไม่ได้คาดหวังผลตอบแทนใดๆ ที่เป็นรูปธรรม 

ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ ข้อสมมติของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเชื่อว่ามนุษย์จะกระทำในสิ่งที่ก่อประโยชน์สูงสุดให้แก่ตนเองเท่านั้น หรือกล่าวได้ว่ามนุษย์ทุกคนต่างเป็นคนเห็นแก่ตัว ดังนั้น พฤติกรรมเอื้อสังคมที่สร้างประโยชน์ให้ผู้อื่นเป็นหลักจึงดูไม่สอดคล้องกับหลักการทางเศรษฐศาสตร์สักเท่าไหร่ โดยเฉพาะในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากผู้คนทั่วโลก แต่ทำไม World Giving Index กลับ ชี้ให้เห็นว่าคนเราช่วยเหลือกันมากขึ้น 

แต่เมื่อขยายกรอบแนวคิดเรื่องประโยชน์ (หรืออรรถประโยชน์ในทางเศรษฐศาสตร์ ที่หมายถึงความพึงพอใจที่ ได้รับจากการบริโภคสินค้าและบริการ) ให้ครอบคลุมถึงการได้รับอรรถประโยชน์จากการช่วยเหลือผู้อื่นด้วย เราก็จะสามารถอธิบายพฤติกรรมเอื้อสังคมในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ได้ กล่าวคือ จากที่เราเชื่อว่ามนุษย์เห็นแก่ตัวและตัดสินใจทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ตัวเองเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง แล้ว การกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นก็มีส่วนช่วยสร้างความพึงพอใจให้กับตัวผู้กระทำได้ด้วยเช่นกัน 

เนื่องจากการช่วยเหลือผู้อื่นหรือการมีพฤติกรรมเอื้อสังคมนั้นจะสะท้อนว่าคนเราคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขของผู้อื่น และการคำนึงถึงผู้อื่นนั้นอาจอยู่ในรูปแบบที่บริสุทธิ์ใจอย่างแท้จริง เช่น การช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่ได้ คาดหวังผลตอบแทนใดๆ หรืออาจอยู่ในรูปแบบที่ไม่บริสุทธิ์ใจก็ได้ เช่น ต้องการความรู้สึกดีจากการเป็นผู้ให้ เพื่อบรรเทาความรู้สึกผิด หรือต้องการชื่อเสียงจากการทำความดี เป็นต้น 

การคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขของผู้อื่นและการทำพฤติกรรมเอื้อสังคมนั้นไม่ได้เป็นคุณลักษณะที่มีอยู่ในมนุษย์ ทุกคนเหมือนกัน บางคนอาจไม่มี หรือบางคนอาจมี แต่ก็อยู่ในระดับที่มากน้อยแตกต่างก็ได้ ซึ่งการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าพฤติกรรมเอื้อสังคมมีปัจจัยกำหนดหลายอย่าง เช่น เพศ อายุ การศึกษา รายได้ สุขภาพ ศาสนา และความเคร่งศาสนา นิสัยส่วนบุคคล ลักษณะบุคลิกภาพ รวมถึงประสบการณ์เลวร้ายในชีวิต เช่น การ เปลี่ยนแปลงปัจจัยบางอย่างที่เกิดขึ้นอย่าง ฉับพลัน (Shock) เป็นต้น 

หากเราพิจารณาถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้น จะพบว่าโรคระบาดนั้นนับเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพอย่างฉับพลัน (Health Shock) รูปแบบหนึ่งที่ทำให้คนมีสุขภาพแย่ลง ทั้งทางร่างกาย และจิตใจโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน ซึ่งจะสามารถส่งผลต่อพฤติกรรมเอื้อสังคมได้เช่นกัน 

ในทางเศรษฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพอย่างฉับพลันส่งผลต่ออรรถประโยชน์ที่บุคคลได้รับ เนื่องจากสุขภาพที่ดีจะทำให้คนได้รับความพึงพอใจจากการบริโภคมากกว่าสุขภาพที่ไม่ดี และยังส่งผลต่อข้อจำกัดด้านงบประมาณของผู้บริโภคด้วย เนื่องจากเมื่อมีการเจ็บป่วย ก็จะมีค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่าย ทางด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น ทำให้บุคคลมีความสามารถในการใช้จ่ายและการบริโภคสินค้าอื่นๆ ลดลง รวมทั้งเกิดการสูญเสียรายได้จากการทำงานอันเนื่องมาจากการเจ็บป่วย ซึ่งในที่สุดแล้วอาจส่งผลให้บุคคลมีพฤติกรรมเอื้อสังคมเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ 

ในกรณีแรก บุคคลอาจมีพฤติกรรมเอื้อสังคมเพิ่มขึ้น เนื่องจากสุขภาพที่แย่ลงอย่างกะทันหันจะกระตุ้น (Trigger) ให้ผู้ป่วยตระหนักถึงความทุกข์และเข้าใจผู้ร่วมชาตะ กรรมเดียวกันกับตนเองมากขึ้น ก่อให้เกิดความรู้สึกรับผิดชอบต่อการป้องกันไม่ให้ผู้อื่นต้องทนทุกข์ทรมานเหมือนกับตน ผู้ที่มีสุขภาพแย่ลงจึงช่วยเหลือสังคมมากขึ้น (ไม่ว่าจะเป็นแบบบริสุทธิ์ใจหรือไม่บริสุทธิ์ใจก็ตาม) และพฤติกรรมเอื้อสังคมก็จะเพิ่มอรรถประโยชน์ได้เสมือนการบริโภคสินค้าอื่นๆ ในกรณีนี้ จึงอาจมองได้ว่าพฤติกรรมเอื้อสังคมกับสินค้าอื่นๆ เป็นสินค้าบริโภคร่วมกัน (Complements) 

ในกรณีที่สอง บุคคลอาจมีพฤติกรรมเอื้อสังคมลดลง เนื่องจากการเผชิญกับปัญหาทางสุขภาพส่งผลให้เกิด ค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ ทำให้บุคคลมีทรัพยากรที่ไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือผู้อื่น หรือมีความพร้อมทางร่างกาย และจิตใจลดลง จนรู้สึกว่าตนเองอยู่ในสถานะของผู้ที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ มากกว่าที่จะเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ

ด้วยเหตุนี้ คนที่ประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพจึงต้องเลือกบริโภคสินค้าอื่นที่จำเป็นและปรับลดการช่วยเหลือสังคมลง ในกรณีนี้ พฤติกรรมเอื้อสังคมกับสินค้าอื่นจึงนับเป็นสินค้าทดแทนกัน เพราะอรรถประโยชน์ที่ได้จากสินค้าอื่นทดแทนอรรถประโยชน์ที่ได้จากพฤติกรรมเอื้อสังคมได้ (Substitutes) 

เมื่อเราย้อนกลับมาพิจารณาถึงประเทศ ไทยในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มีความรุนแรงนั้น นอกจากผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นแล้ว มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มข้นยังส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ มีคนจำนวนมากสูญเสียงาน รายได้ และตกอยู่ในสถานะที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน 

ในช่วงเวลานั้นเอง เราก็ได้เห็นพฤติกรรมเอื้อสังคมในรูปแบบที่หลากหลายเกิดขึ้นในสังคมไทย เช่น ผู้ที่ยังมีรายได้จากการทำงานก็บริจาคเงินเพื่อซื้อสิ่งของจำเป็นให้โรงพยาบาลหรือผู้ที่เดือดร้อน

ในขณะที่ผู้ที่มีทรัพยากรในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงินก็ช่วยเหลือสังคมตามข้อจำกัดของตน เช่น ผู้ประกอบการร้านอาหาร ทำอาหารเพื่อบริจาค ผู้ที่มียานพาหนะก็ช่วยรับส่งยาหรือสิ่งของจำเป็นให้กับผู้ที่ติดเชื้อ รวมถึงมีผู้ที่สละเวลา เพื่อเป็นอาสาสมัครเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก หรือแม้กระทั่งแพทย์และผู้ป่วยเองก็ออกมาแบ่งปันวิธีการปฏิบัติตัว และการรักษาแก่ผู้อื่นเช่นกัน 

การรอรับความช่วยเหลือและการตัดสินใจช่วยเหลือสังคมในรูปแบบที่แตกต่างกันเช่นนี้จึงสะท้อนถึงแนวคิด เรื่องอรรถประโยชน์และข้อจำกัดด้านงบประมาณของแต่ละบุคคลตามมุมมองทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่ได้ อธิบายไว้แล้วข้างต้น และขึ้นอยู่กับว่าพฤติกรรมเอื้อสังคมเป็นสินค้าประเภทใดในสายตาผู้บริโภคนั่นเอง

และหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 คลี่คลายลง หลายประเทศทั่วโลกกลับไปดำเนินชีวิตตามปกติในปีที่ผ่านมา ก็เป็นที่น่าสนใจว่าแนวโน้มดัชนีการให้ของคนไทยและตัวเลขสถิติในระดับโลกจะเป็นอย่างไร พฤติกรรมเอื้อสังคมในแต่ละช่วงเวลาจะมีการทดแทนกันหรือไม่ ซึ่งจะต้องติดตามกันต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง: 

Charities Aid Foundation (CAF). (2019). World Giving Index. Available online at: https://www.cafonline.org/about-us/publications/2019-publications/caf-world-giving-index-10th-edition 

 

Charities Aid Foundation (CAF). (2022). World Giving Index. Available online at: https://www.cafonline.org/about-us/publications/2022-publications/caf-world-giving-index-2022 

 

นพพล วิทย์วรพงศ์, และ สมทิพ วัฒนพงษ์วานิช. (2566). ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพอย่างฉับพลันต่อพฤติกรรมเอื้อสังคม. Working Paper.