คนไทยปลดทุกข์“โควิด” ใช้จ่ายปีใหม่ทะลุแสนล้าน

24 ธ.ค. 2565 | 00:00 น.

บทบรรณาธิการ

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย สำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 พบส่วนใหญ่มองว่า บรรยากาศช่วงเทศกาลปีใหม่นี้คึกคักกว่าปีที่ผ่านมา กว่าครึ่งวางแผนออกนอกพื้นที่ ทั้งไปท่องเที่ยวและเดินทางกลับบ้าน ซึ่งจะทำให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เฉพาะช่วง 29 ธ.ค.2565-2 ม.ค. 2566 มียอดใช้จ่ายเพิ่มเฉลี่ยคนละ 10,262 บาท 
     

ทำให้มีเม็ดเงินท่องเที่ยวในประเทศ 57,491 ล้านบาท ท่องเที่ยวต่างประเทศกว่า 2,945 ล้านบาท การวางแผนจัดกิจกรรมเลี้ยงสังสรรค์ มูลค่า 11,732 ล้านบาท ทำบุญ มูลค่า 8,266 ล้านบาท ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค มูลค่า 18,943 ล้านบาท ซื้อสินค้าคงทน 2,000 ล้านบาท และซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยอีกกว่า 1,500 ล้านบาท  ทำให้ช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ จะมีเม็ดเงินสะกัดกว่า 103,039 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 3 ปี และขึ้นแตะระดับแสนล้านบาทแล้ว ขยายตัวเพิ่มขึ้น 20.1% นับเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 17 ปี  
     

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ชี้ว่า มูลค่าการใช้จ่ายช่วงปีใหม่ 2566 ที่ทะลุ 1 แสนล้านบาท กลับมามีมูลค่าใกล้เคียงปกติ สะท้อนว่าสถานการณ์โควิด-19 ได้ยุติลงแล้วสำหรับเศรษฐกิจไทย เนื่องจากประชาชนไม่รู้สึกกังวล และเริ่มวางแผนทำกิจกรรมต่าง ๆ  ดังเดิม

แม้การบริโภคประชาชนฟื้นกลับมาสู่ระดับเดิมก่อนโควิด-19 ได้แล้ว แต่ภาพรวมเศรษฐกิจยังมีแผลเป็นจากพิษโควิด-19 เนื่องจากในปี 2563 ที่เกิดการระบาดขึ้นและต่างปิดบ้านปิดเมืองกันนั้น ได้ฉุดเศรษฐกิจดิ่งเหวทั้งโลก เฉพาะประเทศไทยปีนั้นจีดีพีติดลบไปถึง 6.1% ถัดมาในปี 2564 ยังสาละวนรับมือโควิดและเร่งพัฒนาวัคซีนสู้เชื้อร้าย จีดีพีฟื้นเล็กน้อยที่ 1.5% และทะยอยกลับมาเปิดเศรษฐกิจหลังโควิด-19คลี่คลาย ในครึ่งหลังปี 2565 ทำให้ทั้งปีจีดีพีเติบโตได้เพิ่มขึ้นเป็น 3.2% 
      

การบริหารเศรษฐกิจปี 2566 จึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ ต้องเตรียมรับผลกระทบจากปัจจัยลบภายนอก ทั้งภาวะการค้าโลกชะลอตัวหรืออาจถึงขั้นถดถอย วิกฤตราคาพลังงานที่ยังทรงตัวสูง การระบาดเชื้อโควิด-19ที่ยังต้องเฝ้าระวัง ขณะที่มาตรการภาครัฐเริ่มถอนคันเร่งการกระตุ้น อาทิ แบงก์ชาติกลับมาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย รัฐบาลลดการอัดฉีดขนานใหญ่ เพราะมีงบจำกัด ต้องเลือกช่วยจำเพาะกลุ่ม 

หากไม่มีเหตุเกินคาดหมาย เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยจะกลับมาช่วยกันขับเคลื่อนได้ ทั้งการบริโภคประชาชน-เอกชน การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน ขณะที่การส่งออกยังต้องระวังโดยอาจโตตํ่าหรือไม่มีอัตราขยายตัว แต่ก็ยังมีความหวังเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น 20 ล้านคน ที่จะช่วยเติมกำลังซื้อระบบเศรษฐกิจ โดยคาดจีดีพีจะเติบโตได้ที่ 3.5-4 % และทำให้เศรษฐกิจไทยกลับขึ้นมาสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 เพื่อจะเดินหน้าต่อภายใต้บริบทใหม่ในยุคดิจิทัล