โมเดลการเป็นเจ้าของ ธุรกิจครอบครัว (1)

15 ต.ค. 2565 | 09:36 น.

Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

ความสำเร็จของธุรกิจนั้นขึ้นอยู่กับประเภทของโมเดลธุรกิจที่นำมาใช้ตั้งแต่เริ่มต้นกิจการเป็นอย่างมาก และความล้มเหลวในการกำหนดโมเดลธุรกิจที่ชัดเจนก็อาจนำมาซึ่งขัดแย้งเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของในอนาคตซึ่งอาจแก้ไขได้ยาก ทั้งนี้แม้จากการศึกษาต่างๆ จะระบุว่าธุรกิจครอบครัวมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าธุรกิจทั่วไป

 

แต่ในทางตรงกันข้ามรายงานที่ตีพิมพ์โดย Forbes ระบุว่าความขัดแย้งในครอบครัวระหว่างการสืบทอดกิจการยังคงเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ที่ส่งผลต่อการล่มสลายของธุรกิจครอบครัวเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ธุรกิจต้องมีโมเดลการบริหารจัดการที่เหมาะสมเพื่อนำไปสู่การสืบทอดกิจการที่ราบรื่น โดยในที่นี้จะนำเสนอโมเดลความเป็นเจ้าของแบบพื้นฐาน ซึ่งใช้ได้ผลดีที่สุดสำหรับธุรกิจครอบครัว

  โมเดลการเป็นเจ้าของ ธุรกิจครอบครัว (1)              

1. Owner Operated โมเดลนี้ดีสำหรับธุรกิจครอบครัวด้วยเหตุผลหลายประการ โดยความเป็นเจ้าของบริษัทขึ้นอยู่กับคู่สามีภรรยาหรือผู้ก่อตั้ง ซึ่งจะยังคงควบคุมองค์กรธุรกิจทั้งหมดเป็นเวลาหลายปี และเพื่อให้แน่ใจว่าโมเดลธุรกิจประเภทนี้จะประสบความสำเร็จ ครอบครัวต้องตัดสินใจเลือกสมาชิกในครอบครัวที่มีแนวโน้มว่าจะประสบความสำเร็จในฐานะเจ้าของเอาไว้ล่วงหน้าหากมีอะไรเกิดขึ้น โมเดลนี้จะสร้างพื้นฐานความสามัคคีที่แข็งแกร่งภายใต้การถ่ายโอนความเป็นเจ้าของธุรกิจจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งอย่างราบรื่น

              

2. Partnership ใช้ได้ผลดีในการจัดตั้งธุรกิจครอบครัว รายได้จากบริษัทจะได้รับการแบ่งสรรกันระหว่างหุ้นส่วน โดยไม่คำนึงถึงจำนวนสมาชิกในครอบครัวที่มีส่วนร่วมในการเป็นหุ้นส่วน บริษัทสามารถรวบรวมทรัพยากรเพื่อขยายธุรกิจและแบ่งสรรรายได้ตามการมีส่วนร่วมของแต่ละคน มีตัวอย่างบริษัทจำกัดที่ประสบความสำเร็จจำนวนมากดำเนินการโดยการเป็นหุ้นส่วนในครอบครัว ภายใต้โมเดลนี้พี่น้องและสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ จะรวบรวมทรัพยากรเข้าด้วยกันเพื่อขยายการดำเนินงานออกไป

 

แม้ว่าโมเดลธุรกิจจะสามารถส่งต่อจากรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่งได้ แต่แผนการสืบทอดกิจการที่ชัดเจนเป็นสิ่งสำคัญเพื่อหลีกเลี่ยงการต่อสู้ในครอบครัวที่อาจเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการนั้น นอกจากนี้จำนวนหุ้นของหุ้นส่วนทุกคนควรมีความชัดเจนเพื่อป้องกันการทะเลาะวิวาทเกี่ยวกับการแบ่งรายได้ และเพื่อจัดการกับข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในหมู่หุ้นส่วนในอนาคต อีกทั้งในส่วนของรายละเอียดเกี่ยวกับการถือหุ้นและการแบ่งสรรผลกำไรควรมีข้อกฎหมายมารองรับอย่างชัดเจน

              

3. Distributed Model เหมาะสำหรับเมื่อต้องการแก้ไขข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการสืบทอดกิจการ โดยสมาชิกในครอบครัวจะกระจายความเป็นเจ้าของธุรกิจอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะทำงานในบริษัทหรือไม่ก็ตามเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง โมเดลนี้มักพบได้ทั่วไปในธุรกิจครอบครัว

 

โดยทรัพย์สินทั้งหมดจะถูกเก็บไว้ภายใต้บริษัทเดียวกัน ลักษณะเฉพาะของโมเดลคือ พ่อแม่ต้องการแบ่งสรรรายได้จากธุรกิจครอบครัวอย่างเท่าเทียมกันกับบุตรหลานของตน ขณะที่ความท้าทายหลักของโมเดลนี้คือ สมาชิกในครอบครัวที่ทำหน้าที่บริหารธุรกิจมักจะไม่เห็นด้วยกับการกระจายทรัพยากรหากไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องตามกฎหมายและเป็นมืออาชีพ

              

อย่างไรก็ตามโมเดลนี้มีประสิทธิภาพมากในการจัดการความท้าทายในการสืบทอดกิจการ (อ่านต่อฉบับหน้า)

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,822 วันที่ 29 กันยายน - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565