ครม.เห็นชอบ ความร่วมมือทวิภาคี หลายประเทศ ช่วงการประชุมเอเปค 

15 พ.ย. 2565 | 14:04 น.

ครม. เห็นชอบ ความร่วมมือหลายด้าน ทั้งแบบลงนาม และไม่ลงนาม ใน 3 ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย , ญี่ปุ่น และ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงของการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ว่า ครม.ได้เห็นชอบความร่วมมือหลายด้าน ทั้งแบบลงนาม และไม่ลงนาม ใน 3 ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย , ญี่ปุ่น และ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงของการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค

 

ความร่วมมือกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย

เห็นชอบการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ระหว่างการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของมกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ประกอบด้วย

 

  • บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต หนังสือเดินทางราชการ และหนังสือเดินทางพิเศษ

โดยผู้แทนของทั้ง 2 เป็นผู้ลงนาม เพื่อ กำหนดให้ประชาชนของประเทศคู่ภาคีที่ถือหนังสือเดินทางทูต และหนังสือเดินทางราชการที่มีผลใช้ได้ ของทั้ง2 ประเทศ ไม่ต้องรับการตรวจลงตราเป็นระยะเวลารวมกันไม่เกินกว่า 90 วัน ในช่วงระยะเวลา 180 วัน นับจากวันแรกที่เดินทางเข้า โดยมีเงื่อนไขว่า บุคคลเหล่านั้นจะไม่ทำงานใด ไม่ว่าการทำงานนั้นจะเป็นการดำเนินกิจการของตนเอง หรือกิจกรรมเชิงพาณิชย์ส่วนตัวใด

 

เนื่องจาก ซาอุดิอาระเบีย มักมี ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานราชการต่าง ๆ หรือภาคเอกชนจำนวนมากที่เป็นราชวงศ์ มักจะถือหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางพิเศษ การทำบันทึกความเข้าใจดังกล่าว จะช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อราชการระหว่างหน่วยงานของทั้งสองประเทศได้เป็นอย่างมาก

  • ร่างบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว 
  • ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงาน เพื่อจัดตั้งกรอบความร่วมมือในด้านพลังงาน เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน และเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ การส่งเสริมการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลและนวัตกรรมด้านพลังงาน การเสริมสร้างขีดความสามารถบุคลากรผ่านการฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน 

 

ความร่วมมือกับรัฐบาลจีน


เห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมระหว่างราชอาณาจักรไทย กับสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยไม่มีการลงนามเพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย – จีน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น ร่างถ้อยแถลงร่วมมีประเด็นข้อราชการที่สำคัญ อาทิ

  1. การขับเคลื่อนความสัมพันธ์ะหว่างไทยกับจีน ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน และ การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ
  2. การย้ำท่าทีทางการเมืองในการเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของกันและกัน 
  3. การส่งเสริมการค้า การลงทุน และความเชื่อมโยง รวมถึงการขับเคลื่อนแนวคิดการสร้างระเบียงการพัฒนาความเชื่อมโยงไทย - ลาว - จีน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของไทยกับกรอบความร่วมมือเขตอ่าวกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า และเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีของจีน โดยเฉพาะสาขาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า
  1. การส่งเสริมความร่วมมือในด้านอื่น ๆ อาทิ สาธารณสุข การลดความยากจนและการพัฒนาชนบท และการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะยาเสพติด การพนันออนไลน์ และขบวนการหลอกลวงทางโทรศัพท์
  2. การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน การกลับมาทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศไทยกับจีน ร่วมมือกันฟื้นฟูการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูง  และเพิ่มความร่วมมือด้านการศึกษาวัฒนธรรม สื่อ และข้อมูลข่าวสาร

 

และ แผนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนว่าด้วยการร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 เพิ่มพูนความร่วมมือด้านรถไฟ ทางหลวง การขนส่งทางทะเล ท่าอากาศยาน พลังงาน การสื่อสาร อวกาศ และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพิ่มการอำนวยความสะดวกในการลงทุน การค้า และพิธีการทางศุลกากร 


ความร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น  ครม. เห็นชอบความร่วมมือ 2 ฉบับ

 

ฉบับแรก คือ ร่างแผนปฏิบัติการร่วม ว่าด้วยหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ ไทย – ญี่ปุ่น ในระยะ 5 ปี คือ 2565 - 2569 โดยมีความร่วมมือ 3 ด้านหลัก คือ 

  1. ความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การปรับปรุงกฎระเบียบ และนวัตกรรม
  2. ความร่วมมือด้าน เศรษฐกิจชีวภาพ เศษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy)
  3. ความร่วมมือด้าน โครงสร้างพื้นฐาน 
  4.  

ฉบับที่สอง คือ ร่างถ้อยแถลงร่วมระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น เรื่อง การยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจนเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม