‘รถยนต์ไฟฟ้า’แจ้งเกิดยาก มาสด้าหวั่นสะเทือนอีโคคาร์2

10 ส.ค. 2559 | 00:00 น.
ค่ายรถประสานเสียง รถไฟฟ้ายังต้องพัฒนาอีกนาน “นิสสัน”หนุนชูเป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนตัวที่ 3 แต่ต้องค่อยๆเปลี่ยน และให้สิทธิพิเศษจูงใจคนซื้อ ส่วนเบนซ์ชี้รถไฟฟ้ายังอีกไกล ปลั๊ก-อิน ไฮบริดเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน ด้าน”โตโยต้า”ฟันธง สถานีชาร์จยังน้อย ไฮบริดดีสุด

จากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าหรือรถอีวี นั้น นายคะซุทากะ นัมบุ ประธาน บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับนโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้านั้น ทางนิสสัน พร้อมให้การสนับสนุน เพราะมีโนว์ฮาวพร้อมอยู่แล้ว โดยปัจจุบัน นิสสัน ลีฟ เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มียอดขายอันดับต้นๆของโลก มียอดขายไปแล้ว 2.4 แสนคัน นอกจากนี้ ยังมี นิสสัน เอ็นวี 200 อีวี รถแวนสำหรับโดยสาร จึงเห็นด้วยกับรัฐบาลที่เริ่มจุดประกายแนวคิดการใช้รถประเภทนี้ในไทยซึ่งจะเป็นเทรนด์อนาคตสำหรับการใช้รถของผู้คนทั่วโลก

“รถพลังไฟฟ้าเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่แต่ละประเทศที่มีอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์พยายามกระตุ้นให้มีการพัฒนาขึ้นสูงสุด ซึ่งต้องขอชื่นชมนโยบายของรัฐบาลไทยที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์มาอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นตั้งแต่การผลักดันการผลิตรถปิคอัพให้เป็นโปรดักท์แชมเปี้ยนตัวที่ 1 ตามด้วยอีโคคาร์โครงการ 1 อีโคคาร์ โครงการ 2 เป็นโปรดักท์แชมเปี้ยนตัวที่ 2 ต่อจากนั้น ก็น่าจะเป็นการสนับสนุนการผลิตรถพลังไฟฟ้าให้เป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนตัวที่ 3 แต่การสนับสนุนให้ใช้รถพลังไฟฟ้าจะค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งแต่ละประเทศ ก็มีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ระยะเวลาในการสนับสนุนก็แตกต่างกัน อย่างในสหรัฐอเมริกา ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ก็มีชัดเจนว่า จะสนับสนุนให้ใช้รถพลังไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อยๆโดยให้ส่วนลดประมาณ 8,000 ดอลลาร์สหรัฐฯหรือประมาณ 2 แสนบาท”

ขณะที่นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท นิสสัน มอเตอร์(ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ปัจจัยที่จะทำให้ตลาดรถไฟฟ้าเกิดขึ้น ประกอบด้วย 1.การสร้างการรับรู้ให้กับคนไทย เนื่องจากปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ยังไม่ต้องรู้จักรถพลังงานไฟฟ้าว่ามีประโยชน์อย่างไร ช่วยลดมลภาวะอย่างไร ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแค่ไหน สามารถนำมาใช้จริงบนท้องถนนได้หรือไม่ 2. ผลิตภัณฑ์หรือโปรดักท์มีความพร้อมแค่ไหน ตลาดรถยนต์ไทยยังไม่มีการเปิดตัวรถไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ จำเป็นต้องมีการสร้างดีมานด์หรือต้องการให้เกิดขึ้นในตลาดเสียก่อน ในตลาดต่างประเทศมีรถไฟฟ้าจำหน่าย แต่มีราคาแพง รัฐบาลในประเทศนั้นๆ ต้องสนับสนุนด้วยการให้ส่วนลดภาษี ให้เงินพิเศษ ให้สิทธิ์ในการขึ้นทางด่วนฟรี ทำให้ผู้สนใจซื้อรถไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการส่วนลดเหล่านี้ หากรัฐบาลไทยจะสนับสนุนรถไฟฟ้าให้เกิดขึ้น ก็ควรให้สิทธิเศษ ไม่ว่าจะเป็นลดภาษีนำเข้า ลดภาษีสรรพสามิต เพราะภาษีเหล่านี้ทำให้ราคารถแพงขึ้นอีกเท่าตัว ต้องทำให้ราคารถไฟฟ้าถูกลง ดีมานด์ก็จะเกิดขึ้น

นางเพียงใจ กล่าวต่อไปว่าประการที่ 3 สถานีชาร์จพลังงงานไฟฟ้า เป็นสิ่งที่สำคัญมาก รถไฟฟ้าทั่วไปสามารถชาร์จไฟบ้านเป็นปกติ แต่หากเดินทางไปตามถนน จำเป็นต้องมีสถานีชาร์จไฟความเร็วสูงหรือ ควิก ชาร์จ เหมือนรถเติมน้ำมันตามปั้มริมทาง 4.การสนับสนุนจากภาครัฐ ที่ผ่านมา ประธาน บริษัท นิสสัน มอเตอร์(ประเทศไทย) เคยเข้าพบนายกรัฐมนตรีและขอให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนให้เป็นรูปธรรม โดยนิสสันมีการผลิตรถไฟฟ้าในชื่อ “ลิฟ (LEAF )” ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในโลก มียอดขาย 2.5 แสนคัน และมีส่วนแบ่งตลาด 35 % ของรถไฟฟ้าทั่วโลก สำหรับประเทศไทย บริษัทนำเข้ามา 3 คัน สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ และนำเข้าอีก 5 คัน สำหรับการไฟฟ้านครหลวง เพื่อจัดกิจกรรมภายในองค์กร

ด้านนายไมเคิล เกร่เว่ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย)จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แนวโน้มการใช้รถพลังงานทางเลือกเริ่มเปลี่ยนไป จากเดิม เบนซ์มีเทคโนโลยีบลูเทค ไฮบริด ตอนนี้ก็เป็นปลั๊ก-อิน ไฮบริดแทน และในอนาคตคือรถไฟฟ้า อย่างไรก็ตามการจะก้าวไปถึงรถไฟฟ้าจะต้องใช้เวลา เพราะต้องดูนโยบายของภาครัฐฯกฏระเบียบ ,กติกาต่างๆ,อินฟาสตรัทเจอร์หรือโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานอาทิ สถานีชาร์จ ที่จะมารองรับ แต่เรายืนยันว่าจะได้เห็นผลิตภัณฑ์ที่ครบไลน์ ซึ่งหมายถึงจะได้เห็นรถไฟฟ้าภายในปี 2568 อย่างแน่นอน

“รู้สึกยินดีที่ภาครัฐมีความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายสนับสนุนรถไฟฟ้า เพราะจะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม ประการต่อมาคือ ไทยเป็นดีทรอยต์ของเอเชีย เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ หากมีการผลักดันโครงการผลิตรถไฟฟ้าก็จะทำให้ไทยมีความแข็งแกร่งและเป็นการต่อยอดเทคโนโลยีที่ทันสมัย นอกจากนั้นแล้วมองว่าหากไทยสามารถเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่,คอนเวอร์เตอร์ ตรงจุดนี้น่าจะเป็นโอกาสที่ดี สำหรับเมอร์เซเดส-เบนซ์ มีความสนใจที่จะลงทุนในไทย โดยจะสนับสนุนอุปกรณ์ ช่วยด้านโนว์ฮาวต่างๆ ซึ่งทุกวันนี้เราก็ไม่ได้รอให้รัฐมาให้สิทธิพิเศษ แต่เรามีการนำรถที่เป็นพลังงานทางเลือกเหล่านี้เข้ามาทำตลาดเพื่อมอบสิ่งที่ดีให้กับลูกค้าอยู่แล้ว

ปัญหาเกี่ยวกับสถานีชาร์จไฟยังคงเป็นประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบ นอกจากนั้นแล้วแต่ละค่ายผู้ผลิตก็มีความแตกต่างกันเกี่ยวกับหัวชาร์จ ดังนั้นตัวชาร์จจะต้องมีมาตรฐานเดียวกัน จะทำยังไงให้ชาร์จร่วมกันได้ รวมไปถึงกฏระเบียบต่างๆอาทิ การตั้งสถานีชาร์จไฟในจุดต่างๆสามารถทำได้หรือไม่อย่างไร การคิดค่าไฟจะคำนวณอย่างไร

สำหรับเมอร์เซเดส-เบนซ์ มีความพร้อมด้านผลิตภัณฑ์ มีสินค้าที่เป็นรถไฟฟ้า แต่ต้องดูความพร้อมในประเทศต่างๆด้วย โดยเบื้องต้นมองว่าไทยเหมาะกับปลั๊ก-อิน ไฮบริด เพราะสามารถรองรับพลังงานได้หลายรูปแบบ หากพลังงานใดพลังงานหนึ่งหมดไป ก็สามารถที่จะเลือกใช้พลังงานอีกแบบได้ และเมื่อดูจากตัวเลขการขาย ก็พบว่าลูกค้าในไทยให้การตอบรับรถแบบปลั๊ก-อินสูงมาก ส่วนรถไฟฟ้านั้นต้องมองถึงความพร้อมของโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทั้งนี้มองว่าหากนำเทคโนโลยีเข้ามาเร็วเกินไป จะกลายเป็นภาระของผู้บริโภค

ก่อนหน้านี้นายเคียวอิจิ ทานาดะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า รถไฟฟ้าจะได้ความรับนิยมแค่ไหน ต้องพิจารณาจากระยะเวลาการชาร์จ ระยะทางที่วิ่งได้แต่ละครั้ง และสถานีชาร์จไฟฟ้าแพร่หลายแค่ไหน สำหรับโตโยต้ามองว่า การพัฒนาต้องค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากรถพลังงานไฮบริด ตามด้วยรถแบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด แล้วจึงค่อยเป็นรถพลังไฟฟ้า ซึ่งในสหรัฐอเมริกา รถไฟฟ้ามียอดขายน้อยกว่ารถไฮบริด เนื่องจากสถานีชาร์จไฟฟ้ามีไม่เพียงพอ แม้แต่ในญี่ปุ่น รถพลังไฟฟ้าก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ

สอดคล้องกับที่นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวเสริมว่า แม้ว่ารถพลังไฟฟ้า จะไม่มีการปล่อยไอเสียเลยหรือมลพิษ 0 % แต่การผลิตไฟฟ้าก็เป็นการสร้างมลพิษให้กับอากาศ เท่ากับเป็นการย้ายมลพิษจากรถยนต์ไปอยู่ที่โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าแทน รถไฟฟ้าจะได้รับความนิยมมากแค่ไหน ขึ้นกับระยะเวลาการชาร์จไฟฟ้า ระยะทางที่วิ่งได้แต่ละครั้ง สถานีสำหรับชาร์จไฟฟ้ามีมากน้อยแค่ไหน สำหรับโตโยต้าก็มีการเปิดตัวรถพลังไฟฟ้า แต่ก็ไม่ได้รับนิยมมากนักเมื่อเทียบกับรถไฮบริด เนื่องจากสถานีชาร์จมีไม่เพียงพอ แต่รถปลั้ก-อินไฮบริดวิ่งด้วยพลังไฟฟ้า เมื่อไฟหมดก็เปลี่ยนมาใช้นํ้ามันได้

เช่นเดียวกับที่ นายฮิเดสึเกะ ทาเกสึเอะ ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า รัฐบาลต้องสนับสนุนผลิตรถไฟฟ้าเป็นโครงการระยะยาว ต่อจากโครงการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานหรืออีโคคาร์ 2 ซึ่งปัจจุบัน มีค่ายรถยนต์เริ่มต้นผลิตแล้วเพียงรายเดียว คือมาสด้า ดังนั้น เงื่อนไขการสนับสนุนผู้ผลิตรถไฟฟ้า จะต้องไม่ให้ข้อเสนอที่ดีกว่า จูงใจกว่า เพราะอาจทำให้ผู้ที่ประกาศร่วมโครงการอีโคคาร์ 2 อาจขอยกเลิกการผลิตไปได้ และจะกระทบต่อเนื่องถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จำนวนมากด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,181 วันที่ 7 - 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559