โอกาสและประโยชน์ เมื่อไทยเข้าเป็นสมาชิก OECD

17 เม.ย. 2567 | 08:33 น.

ก้าวสำคัญของประเทศไทยสู่การเป็นสมาชิก OECD จะช่วยยกระดับประเทศด้านเศรษฐกิจ ธรรมาภิบาล และความสามารถในการแข่งขัน พร้อมดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเติบโตอย่างยั่งยืน ทำความเข้าใจบทบาทและภารกิจหลักของ OECD และโอกาสที่จะเกิดขึ้นแก่ประเทศไทย

16 เม.ย. 2567 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย พร้อมคณะ ได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) อย่างเป็นทางการ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส 

นับเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของไทยบนเส้นทาง การยื่นเจตจำนงเข้าเป็นสมาชิก OECD เพราะในโอกาสนี้ มีตัวแทนประเทศสมาชิกทั้ง 38 ประเทศขององค์กรดังกล่าว พร้อมทั้งตัวแทนจากสหภาพยุโรป (EU) เข้าร่วมรับฟังวิสัยทัศน์ของไทยในการขอเข้าเป็นสมาชิก กระแสตอบรับนับว่าดี  นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ระบุว่า ทุกฝ่ายให้การสนับสนุน ประเทศไทย ด้วยดี เพราะว่าเป็นไทยประเทศเดียวในอาเซียนที่ทำงานร่วมกันกับ OECD มาตลอดระยะเวลายาวนานกว่า 42 ปี

ก่อนจะรู้ผลว่า ไทยจะได้ยกระดับตัวเองให้เป็นสากลมากขึ้นด้วยการเป็นสมาชิกใหม่ของ OECD หรือไม่ ช้าหรือเร็วแค่ไหน วันนี้ เรามาทำความรู้จักกันก่อนว่า OECD มีความเป็นมาอย่างไร และมีดีอย่างไร ทำไมไทยถึงควรเข้าเป็นสมาชิก

เป็นสมาชิก OECD หมายถึงมาตรฐานระดับโลก

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เป็นองค์การระหว่างประเทศที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2503 ปัจจุบันมีสมาชิก 38 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรปและอเมริกาเหนือ ภารกิจหลักของ OECD คือ กระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าโลก และเป็นเวทีเปรียบเทียบ นโยบาย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ค้นหาวิธีแก้ปัญหาที่ต่างเผชิญร่วมกัน และประสานงานนโยบายทั้งใน ประเทศและระหว่างประเทศสมาชิก อาทิ การปราบปรามการค้าผิดกฎหมาย เป็นต้น

สำนักงานใหญ่ OECD ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ พร้อมนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD อย่างเป็นทางการ

สำนักงานใหญ่ขององค์การ OECD ตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการลงนามก่อตั้งองค์กรเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1960

สมาชิกก่อตั้งในวันนั้นมี 20 ประเทศ ประกอบด้วยอดีต 18 ประเทศสมาชิกองค์กร OEEC หรือ Organization for European Economic Co-operation ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นชื่อเดิมก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น OECD ส่วนใหญ่เป็นประเทศในยุโรปตะวันตก ยกเว้นสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ออสเตรีย, เบลเยียม, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, กรีซ, ไอซ์แลนด์, ไอร์แลนด์, อิตาลี, ลักเซมเบิร์ก, นอร์เวย์, เนเธอร์แลนด์, โปรตุเกส, อังกฤษ, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์, ตุรกี และเยอรมนีตะวันตก

ส่วนอีกสองประเทศที่เพิ่มเข้ามา ทำให้สมาชิกก่อตั้ง OECD ในปี 1960 มี 20 ประเทศ คือ แคนาดา และสเปน ข้อตกลงจัดตั้ง OECD มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1961

ปัจจุบัน OECD มีจำนวนสมาชิกเพิ่มเติมขึ้นเป็น 38 ประเทศแล้ว เรียงตามตัวอักษรภาษาอังกฤษได้ ดังนี้

Austria, Australia, Belgium, Canada, Chile, Colombia, Costa Rica, Czech Republic, Denmark, Estonia, Finland, France, Germany, Greece, Hungary, Iceland, Ireland, Israel, Italy, Japan, Korea, Latvia, Lithuania, Luxembourg, Mexico, The Netherlands, New Zealand, Norway, Poland, Portugal, Slovak, Republic, Slovenia, Spain, Sweden, Switzerland, Turkey, The United Kingdom และ The United States

38 ประเทศสมาชิก OECD มีจำนวนประชากรรวมกันมากกว่า 1,370 ล้านคน มีค่าอายุเฉลี่ยประชากร 80 ปี ส่วน ขนาดเศรษฐกิจของ 38 ประเทศรวมกันนั้น เทียบเท่ากับ 41.1% ของจีดีพีโลก (ข้อมูล ณ ปี 2566) และมีส่วนผลักดันการเติบโตของจีดีพีโลก 27.2% ระหว่างปี 2556 ถึง 2566

การได้เข้าเป็นสมาชิก OECD จะทำให้จีดีพีของไทยโตขึ้นได้ถึง 1.6% หรือประมาณ 200,000 ล้านบาท (ข้อมูล TDRI)

เข้าเป็นสมาชิก OECD แล้วดีอย่างไร

ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (Thailand Development Research Institute: TDRI) ชี้ว่า การที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิก OECD จะทำให้จีดีพีของไทยโตขึ้นได้ถึง 1.6% หรือประมาณ 200,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมาก และแม้ไม่ได้เป็นสมาชิก เพียงแต่เมื่อยื่นเจตจำนงขอเข้าเป็นสมาชิก ก็จะทำให้ประชาคมโลกเฝ้าดูว่า ไทยมีเจตนาที่จะยกระดับประเทศให้เป็นสากลมากยิ่งขึ้นในหลากหลายด้าน นั่นก็ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศยกระดับขึ้นด้วยเช่นกัน

ดังนั้น การที่ไทยโดยนายปานปรีย์ รองนายกฯและรัฐมนตรีต่างประเทศ ได้ยื่นเจตจำนงสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ OECD ต่อนายมาทีอัส คอร์มันน์ เลขาธิการ OECD อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา พร้อมทั้งแสดงวิสัยทัศน์ของไทยในการขอเข้าเป็นสมาชิก จึงเป็นผลดีกับประเทศไทย แต่ระยะเวลาการจะได้เป็นสมาชิกเร็วหรือช้าแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่า ไทยทำตามเงื่อนไขต่างๆของ OECD ได้เร็วหรือช้าเท่านั้นเอง

"ถ้าเราเข้าเป็นสมาชิก OECD ได้ ก็จะเป็นประโยชน์เพราะจะมีการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น คนไทยจะทำงานเพิ่มขึ้น มีการจ้างงานจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้ OECD เองยังมีแผนในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจสีเขียวซึ่งจะช่วยสร้างบุคลากรของไทยให้มีศักยภาพมากขึ้นด้วย เพราะเวลานี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า เราขาดแคลนแรงงานที่มีศักยภาพ และการเข้าเป็นสมาชิกเช่นนี้ ก็จะเป็นการปฏิรูปในส่วนนี้ไปในเวลาเดียวกัน"รองนายกฯ ปานปรีย์กล่าว และขยายความว่า

สิ่งที่ประชาชนจะได้จากการที่ไทยเข้าเป็นสมาชิก OECD นั้น คือความมั่นคงทางเศรษฐกิจจะมีมากขึ้น เพราะกลุ่มของประเทศสมาชิก OECD เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ไทยเราเป็นประเทศกำลังพัฒนา เราก็มีสิทธิ์ที่จะก้าวข้ามกับดักการพัฒนาที่เราติดอยู่หลายปี และเราเองก็มีความประสงค์ที่จะขยับฐานะขึ้นเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2580  ซึ่งก็อีกนาน หรือไทยอาจจะทำได้ก่อนหน้านั้น

ในโอกาสนี้ ไทยได้แสดงวิสัยทัศน์การขอเข้าเป็นสมาชิก ต่อตัวแทนประเทศสมาชิก OECD ทั้ง 38 ประเทศ รวมทั้งตัวแทนจาก EU ที่เข้าร่วมรับฟังด้วย

 

โอกาสและอุปสรรค บนเส้นทางสู่การเป็นสมาชิก

ภายหลังการแสดงวิสัยทัศน์ต่อตัวแทนประเทศสมาชิก OECD ทั้ง 38 ประเทศ รวมทั้งตัวแทนจาก EU เข้าร่วมรับฟัง นายปานปรีย์กล่าวว่า มี 3 ประเทศที่ตั้งคำถามสำคัญกับประเทศไทย ส่วนประเทศอื่นๆ ให้ความสนับสนุนที่ไทยมีเจตจำนงในการเข้าเป็นสมาชิก OECD เนื่องจากไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ทำงานร่วมกันกับ OECD มาตลอดระยะเวลา 42 ปี

ปัจจุบัน หน่วยงานไทยมีส่วนร่วมในกลไกและโครงการต่าง ๆ ของ OECD รวม 48 โครงการ ซึ่งรวมถึงโครงการที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จัก คือ โครงการ PISA และไทยยังเป็นภาคีตราสารทางกฎหมายของ OECD ทั้งสิ้น 10 ฉบับ

นอกจากนี้ ดังกล่าวมาแล้วว่า ไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีโครงการความร่วมมือทวิภาคีกับ OECD ในรูปแบบ Country Programme โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการระยะที่ 2 ทำให้ประเทศไทยได้มาตรฐานหลายด้านในการเข้าเป็นชาติสมาชิก ซึ่งรวมทั้งด้านเศรษฐกิจ ธรรมาภิบาล สิ่งแวดล้อม การค้า ความสามารถในการแข่งขัน และเศรษฐกิจสีเขียว

ต่อคำถามที่ว่า ยังมีสิ่งใดที่จะเป็นอุปสรรคในการเข้าเป็นสมาชิก OECD หรือไม่นั้น นายปานปรีย์กล่าวว่า จากสิ่งที่ทาง OECD ให้ความมั่นใจไว้กับเราในวันที่ยื่นแสดงความจำนงขอเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการนั้น ทำให้มีความมั่นใจว่า เขาจะให้การสนับสนุนไทยเต็มที่ แต่สิ่งที่ยังเป็นความกังวล คือภายในประเทศของเราเอง ที่จำเป็นจะต้องมีการอธิบายและชี้แจง เพราะในขั้นตอนการเข้าเป็นสมาชิก จะต้องเกิดการปฏิรูปและต้องมีการแก้ไขกฎหมายบางส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล จึงเป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนให้เข้าใจว่า ทำไมถึงมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นอย่างไรที่จะต้องเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลโดยตรง และนายกรัฐมนตรีเองจะขึ้นเป็นประธานของคณะกรรมการนี้ เพื่อที่จะขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ เพื่อให้ไทยเข้าสู่การเป็นสมาชิก OECD ได้เร็วขึ้น