นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรโพสต์เฟสบุ๊ก เมื่อวันที่ 5มิถุนายน ว่า “วันนี้ป็นวันที่ลาว-จีน วางรางรถไฟ ระยะทาง 417 กม.จากต้นทางเวียงจันทน์ ผ่านหลวงพระบาง หลวงน้ำทา บ่อเต็น ถึงปลายทางที่ชายแดนยูนนานของจีนได้เสร็จสมบูรณ์ 100% แล้วเป็นรางขนาด 1.435 เมตร มี 31 สถานีรวมทั้ง 5 สถานีหลัก วิ่งผ่านอุโมงค์ 76 แห่งที่มีความยาวรวม 195.78 กิโลเมตรและสะพาน 154 สะพานที่มีความยาวรวม 67.15 กิโลเมตร เงินลงทุนประมาณ 6,800 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 238,000 ล้านบาท)
สามารถเชื่อมต่อระบบรถไฟจีน ไปเที่ยวถึงสิบสองปันนา แล้วต่อไปยังเมืองคุนหมิงซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลยูนนาน เป็นไปตามโครงการ " Halfway Corridor" เป็น โครงการระหว่างแนวคิด "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" ของจีน และ ยุทธศาสตร์ของ สปป.ลาวในการเปลี่ยนจากประเทศไม่มีทางออกสู่ทะเล เป็นศูนย์กลางของการขนส่งทางบก
แม้ในสถานการณ์โควิด-19 ก็ตาม รถไฟลาว-จีน ก็ดำเนินการไปตามแผนที่กำหนดซึ่งจะเปิดดำเนินการวันที่ 2 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันชาติของ สปป.ลาว คนไทย-ลาวและจีนก็สามารถเลือกเดินทางระหว่างกัน ผ่านเส้นทางนี้สะดวกแล้ว มาขึ้นรถไฟที่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาวได้
บริษัท Lao Song Laozhong Railway Co., Ltd. จัดซื้อรถไฟรุ่น CR200 J "Fuxing" ผลิต โดย บริษัท ร่วมทุนระหว่าง China Railway Group และ CRRC สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 160 กม. / ชม. (สำรองอีก200กม./ชม.) มาให้บริการสองขบวนแรกโดย บริษัท China-Laos Railway Co. ทุนที่ก่อตั้งโดยบริษัทจีนและลาวในเวียงจันทน์ สปป. ลาว ด้วยทุนจดทะเบียน 1.5 หมื่นล้านหยวน
ไม่นานนัก นับถอยหลัง...ไป..เลย ไปจีนง่ายจัง ..”ผมเคยคุยกับอดีตพนักงาน รฟท. ได้รับข้อมูลว่า
1 ถ้าจะเน้นการขนผู้โดยสาร ก็ต้องลงทุนรถไฟความเร็วสูง ก่อสร้างระบบราง 1.435 เมตร ยาวตลอดจากเวียงจันทร์ ลงไปถึงชายแดนมาเลเซีย ลงทุนมาก แต่จะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง กว่า demand จำนวนผู้โดยสารประจำวันจะสูงพอที่จะคุ้มทุน
2 ถ้าจะเน้นการขนสินค้า รฟท. สามารถปรับเพิ่มราง 1 เมตรปัจจุบัน ให้มีรางที่สาม เป็น 1.435 เมตร และยกรางข้ามถนนไม่ให้มีจุดตัด ทำรั้วโปร่งป้องกันสัตว์ระบบสามราง จะรองรับรถไฟไทยปัจจุบัน และรถไฟจีนก็สามารถใช้ระบบนี้ได้ แต่จะต้องทำเป็นรางคู่ตลอดสายวิธีนี้ รฟท. ขยายธุรกิจได้ โดยลงทุนโบกี้ 1.435 เมตร และจะส่งสินค้าไทย-จีนได้ตลอดเส้นทาง โดยไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายโบกี้ ไม่ต้องขนขึ้นขนลงโดยจะวิ่งความเร็วปกติมาตรฐานไทย เพียงแต่จะต้องจัดให้มีจุดเบี่ยงทั้งในจีนและในไทย เพื่อหลบทางให้แก่รถไฟความเร็วสูงของจีนแซง โดยจัดเป็นช่วงๆ
ส่วนรถไฟจีน ก็ขยายธุรกิจได้ โดยขอวิ่งผ่านเข้ามาในไทย และจะส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้าได้ตลอดเส้นทางเช่นกัน เพียงแต่จะต้องลดความเร็วลงเป็นปานกลางแนวทางนี้ จะสามารถวาง phase โครงการลงทุน ให้พอเหมาะกับกำลังเงินของฝ่ายไทย โดยไม่ต้องมีภาระหนี้ก้อนโตเริ่มแต่ต้น และจะเป็นการใช้โครงสร้างพื้นฐานเดิมให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุดแนวทางนี้ น่าจะเอื้อให้การย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมจากจีนมาไทย จะทำได้สะดวกมากขึ้น เช่นเดียวกับรถไฟที่เชื่อมจีนกับเวียดนาม หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ
สำหรับฝั่งประเทศไทย ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ตามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ(เฟส)ที่ 1 ช่วงเส้นทาง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 253 กิโลเมตร(กม.) จำนวน 14 สัญญา วงเงินลงทุน 1.79 แสนล้านบาท ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) อยู่ระหว่างก่อสร้างและรอลงนามผู้รับจ้างอีก4สัญญารอประมูลอีก1สัญญา(ดอนเมือง-บางซื่อ) คาดว่าก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดใช้เส้นทางอย่างเร็วในปี2569อย่างช้าปี2570เนื่องจากมีความล่าช้า
ขณะโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทาง กรุงเทพ-หนองคาย เฟส 2 ช่วงนครราชสีมา (โคราช)-หนองคาย ระยะทางราว 356 กิโลเมตร วงเงินลงทุน ราว 2.5 แสนล้านบาท รฟท.เตรียมเปิดประมูลปลายปีนี้ คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ5-6ปี หากแล้วเสร็จสามารถเชื่อมโยงการเดินทาง ท่องเที่ยว ขนส่งสินค้า กับรถไฟลาว-จีนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเตรียมเปิดใช้เส้นทางเดือนตุลาคมบริเวณด่านพรมแดนหนองคายฝั่งไทยกับ เวียงจันทน์ สปป.ลาว วิ่งยาวถึงสิบสองปันนาไปจีนตอนใต้ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง