วันนี้ค่าจ้างแรงขึ้นกับดีมานด์

21 ก.ย. 2559 | 00:30 น.
ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว สังคมไทยเปลี่ยนไปไกลมากจากอดีต แปรเปลี่ยนไปตามความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศ เราต้องยอมรับฝีไม้ลายมือกระทรวงแรงงานของไทยที่ก้าวทันโลกตลอดเวลา เป็นแหล่งจัดหางานทั้งในไทยและต่างประเทศ สมัยนี้ใครจะไปทำงานต่างประเทศและยอมจ่ายเงินถือว่าเชยเอามากๆ เพราะสำนักจัดหางานเขามีกระจายไปทั่ว จะไปทำงานที่เกาหลี ไต้หวันหรือที่อื่นๆ ก็เฝ้ารอดูประกาศ และสมัครไป ก็มีโอกาสได้เดินทางไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ต้องจ่ายเบี้ยบ้ายรายทางแต่อย่างใด กรมพัฒนาฝีมือแรงงานก็มุ่งมั่นพัฒนาฝีมือแรงงานไทยได้ดีมากๆ
แรงงานไทยส่วนหนึ่งไปทำงานในต่างประเทศ และสมัยนี้ก็ต่างจากเมื่อก่อน เมื่อก่อนไปอย่างเก่ง 2 ปีก็เดินทางกลับ เดี๋ยวนี้ไปแล้วก็มักต่อสัญญาอยู่ต่อกับนายจ้างเดิม ส่งรายได้เข้าประเทศเป็นกอบเป็นกำ ครอบครัวลูกหลานก็ได้ร่ำเรียนหนังสือ ความเป็นอยู่ดีขึ้น มีจักรยานยนต์ไว้ใช้ มีโทรศัพท์มือถือกันถ้วนทั่ว ใช้ชีวิตในสังคมแบบมาตรฐานสูงขึ้น และบางครอบครัวได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมเยียนในต่างประเทศด้วย ทั้งๆ ที่แรงงานนั้นไม่ได้มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ใหญ่โตอะไร

แรงงานหญิงบางรายก็กลายเป็นคู่สมรสกับชาวต่างชาติ ลูกเกิดมาก็มีโอกาสได้ร่ำเรียนในต่างประเทศ ...นั่นคือโลกกว้าง นั่นคือโลกที่คนไทยยุคใหม่ผจญอยู่ ขณะที่แรงงานไทยที่ทำงานในประเทศก็เฝ้ามองแบบอย่างทางเดินของรุ่นพ่อ และมองหาโอกาสที่จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศเช่นกัน บางส่วนก็ปักหลักมุ่งมั่นที่จะเป็นเกษตรกรยุคใหม่โดยพึ่งพาตัวเองไม่พึ่งนายจ้างเหมือนคนรุ่นพ่ออีกต่อไป ขณะที่โรงงานต่างๆ ผุดขึ้นทำให้แรงงานไทยขาดแคลน

ค่าจ้างแรงงานไทยทุกวันนี้ไม่ได้ขีดเส้นที่ขั้นต่ำ 300 บาท/วัน แต่ก็มีอยู่บ้างที่รับจ้างต่ำกว่า 300 บาท ส่วนใหญ่กินค่าแรง 400-450 บาทขึ้นไป และแรงงานต่างด้าวก็เรียกค่าแรงสูงกว่า 300 บาททั้งนั้น ยกเว้นแรงงานในระบบโรงงานที่ได้ค่าจ้างตามมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำ คือ 300 บาท/วัน

วันนี้นักวิชาการบางท่านเสนอความเห็นว่า ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจการส่งออกจะยังไม่ดี ถ้าจะรอให้พร้อมแรงงานที่ต้องพึ่งการขึ้นค่าแรงโดยอาศัยค่าจ้างขั้นต่ำเป็นฐานในการขึ้นค่าแรงอาจจะจนลงไปอีก จึงเสนอว่าขอให้รัฐบาล (คณะกรรมการค่าจ้างแห่งชาติ) พิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำโดยอัตโนมัติตามสภาวะของค่าเฉลี่ยดัชนีค่าครองชีพในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาให้กับแรงงานทุกจังหวัดโดยอัตโนมัติ (ของขวัญปีใหม่) เนื่องจาก CPI แต่ละจังหวัดไม่เท่ากันค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับจะไม่เท่ากันในแต่ละจังหวัด

ทั้งนี้การปรับค่าจ้างขั้นต่ำนี้ไม่ใช่การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ แต่เป็นการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้ขึ้นไปแล้ว เพื่อให้แรงงานมีอำนาจซื้อเท่าเดิมเท่านั้นซึ่งไม่ต้องพึ่งคณะกรรมการค่าจ้างแห่งชาติมากนักเพียงแต่ช่วยพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำตาม CPI ก็น่าจะพอ ส่วนจะขึ้นค่าจ้างเพิ่มเติมจากค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับค่าครองชีพแล้ว (การขึ้นค่าจ้างประจำปี) เป็นเรื่องของผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่จะพิจารณากันต่อไปเองโดยคณะกรรมการค่าจ้างฯคงไม่ต้องไปยุ่งด้วยและจะให้ดียิ่งขึ้นไปอีกนายจ้างก็ควรขึ้นค่าจ้างตามความสามารถหรือสมรรถนะของแรงงานมากกว่าเป็น competency-base pay ก็จะทำให้ทั้งแรงงานและนายจ้างมีความพึงพอใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ความเห็นของท่านนี้ดูจะสอดคล้องกับความเป็นจริงและเป็นเหตุเป็นผลที่สุด ปัญหาก็คือว่า ถ้ามีการปรับตามนี้โอกาสที่ค่าแรงจะปรับตัวสูงขึ้นก็มี และข้อถกเถียงเรื่องอัตราคาจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ไม่เท่ากันก็อาจจะเป็นปัญหาเกิดขึ้นได้ แต่ไหนแต่ไรเราก็ปรับค่าจ้างแรงงานตามสภาพเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ โดยแบ่งเป็นเขตจังหวัดมาแล้ว มาในระยะหลังนี่ล่ะถึงประกาศเป็นนโยบายให้ค่าแรงขั้นต่ำเท่าเทียมกันทั่วประเทศโดยกำหนดให้ขั้นต่ำต้อง 300 บาท/วัน ....ผมว่าวันนี้อย่าเพิ่งเรียกร้องค่าแรงเพิ่มเลย เพราะถึงไม่เรียกร้องการจ้างทั่วไปก็สูงกว่ากฎหมายอยู่แล้วขึ้นอยู่กับดีมานด์-ซัพพลายจริงๆ ครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,193 วันที่ 18 - 21 กันยายน พ.ศ. 2559