มอนเดลีซเดินหน้าลดค่าใช้จ่าย มองหาแนวทางใหม่หลังจากข้อเสนอซื้อเฮอร์ชีย์ล้มเหลว

05 ก.ย. 2559 | 00:00 น.
หลังจากความพยายามในการเจรจาควบรวมกิจการกับเฮอร์ชีย์ไม่ประสบผลสำเร็จ เวลานี้บริษัทผลิตขนมยักษ์ใหญ่ของโลก มอนเดลีซอินเตอร์เนชั่นแนล ต้องเผชิญกับแรงกดดันในการลดค่าใช้จ่าย หรือเสี่ยงที่จะตกเป็นเป้าหมายถูกซื้อกิจการเสียเอง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มอนเดลีซ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ผลิตขนมรายใหญ่สัญชาติอเมริกัน เจ้าของผลิตภัณฑ์ อาทิ คุกกี้โอริโอ และช็อกโกแลตท็อปเบอโรน กล่าวในสัปดาห์นี้ว่า ทางบริษัทได้ยุติการเจรจาเพื่อซื้อกิจการของบริษัทผลิตช็อกโกแลตเฮอร์ชีย์เป็นมูลค่า 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลงแล้วหลังจากพยายามเจรจามาเป็นเวลากว่าหนึ่งเดือนแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

ในขณะที่ผู้ถือหุ้นของมอนเดลีซดูเหมือนจะพึงพอใจที่กระบวนการเจรจาอันยืดเยื้อสิ้นสุดลง แต่ก็ได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าต้องการให้ทางฝ่ายบริหารเดินหน้าลดค่าใช้จ่าย เพื่อเพิ่มอัตรากำไรที่อยู่ในระดับที่ต่ำ ขณะเดียวกันก็มีความเป็นไปได้ที่มอนเดลีซอาจจะตกเป็นเป้าของการถูกควบรวมกิจการจากบริษัทอาหารขนาดใหญ่รายอื่นเสียเอง

การควบรวมกิจการกับเฮอร์ชีย์จะทำให้มอนเดลีซกลายมาเป็นบริษัทขนมหวานที่ใหญ่ที่สุดของโลก และปิดโอกาสที่มอนเดลีซจะตกเป็นเป้าหมายการควบรวมกิจการจากคู่แข่ง อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางรายกล่าวว่า ในขณะที่มอนเดลีซมีความน่าสนใจสำหรับผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่จะเข้ามาซื้อกิจการ อาทิ บริษัท คราฟท์ ไฮนซ์ หรือเป๊ปซี่โค แต่มูลค่าตลาดของมอนเดลีซในเวลานี้ที่อยู่ที่ประมาณ 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ทำให้การควบรวมกิจการอาจเกิดขึ้นได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามอนเดลีซไม่ยอมขาย

อย่างไรก็ดี เวลานี้ฝ่ายบริหารของมอนเดลีซจะต้องเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในการลดค่าใช้จ่าย โดยนางไอรีน โรเซนเฟลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของมอนเดลีซ ได้ให้คำมั่นว่าจะเพิ่มอัตรากำไรของบริษัทขึ้นเป็น 17-18% ภายในปี 2561 หลังจากในไตรมาสที่ผ่านมาบริษัทมีอัตรากำไรอยู่ที่ 15%

มอนเดลีซกำลังประสบปัญหาจากการชะลอตัวของตลาดขนมหวาน หลังจากชาวอเมริกันหันไปเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบราซิลและจีน ก็ส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัท ซึ่งทำรายได้จากตลาดนอกอเมริกาเหนือเป็นสัดส่วนถึง 75% ขณะที่ตลาดในสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่สดใสกว่า นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มอนเดลีซตัดสินใจยื่นข้อเสนอขอซื้อกิจการของเฮอร์ชีย์ ซึ่งทำรายได้ในอเมริกาเหนือเป็นสัดส่วน 90% เมื่อปีก่อน

โรเซนเฟลด์กล่าวว่า หลังจากนี้มอนเดลีซอาจจะมองหาเป้าหมายในการซื้อกิจการใหม่ ซึ่งพาโบล ซูอานิก นักวิเคราะห์จากซัสเควฮันนา อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป มองว่ามีความเป็นไปได้อยู่เช่นกัน โดยมอนเดลีซอาจจะพยายามซื้อกิจการของผู้ผลิตขนมหวานในยุโรป หรือมองหาบริษัทในสหรัฐฯ เองที่จะช่วยขยายผลิตภัณฑ์ไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ามีโอกาสสูงกว่าที่คราฟท์ ไฮนซ์ จะเข้ามาซื้อกิจการ

ข้อมูลจากดีลลอจิกระบุว่า การควบรวมกิจการเป็นจำนวนมากระหว่างบริษัทอาหารเมื่อปีก่อน นำไปสู่ข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับบริษัทในสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 1.16 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงสุดในรอบอย่างน้อย 20 ปี

มอนเดลีซเองก็มีประวัติในการเจรจาควบรวมกิจการที่ซับซ้อน โดยมอนเดลีซแยกตัวออกมาจากคราฟท์ ฟู้ดส์ เมื่อปี 2555 เพื่อเน้นการรุกตลาดในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ขณะที่ก่อนหน้านั้น 2 ปี คราฟท์ได้ซื้อกิจการบริษัทช็อกโกแลต แคดเบอรีมาเป็นมูลค่า 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งแคดเบอรีได้ตกมาอยู่ภายใต้การบริหารของมอนเดลีซหลังการแยกตัวออกมา ขณะเดียวกัน คราฟท์ถูกไฮนซ์ควบรวมกิจการไปเมื่อปีที่ผ่านมา กลายมาเป็นบริษัท คราฟท์ ไฮนซ์ฯ ในปัจจุบัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,189 วันที่ 4 - 7 กันยายน พ.ศ. 2559