ซิกา-เมอร์สปัจจัยเสี่ยงใหม่ กระทบส่งผลไม้ไทยไปจีน

01 ก.ย. 2559 | 09:00 น.
สรท.ชี้ปัจจัยเสี่ยงยังรุมส่งออกไทยทั้งปี WHO ประกาศไทยเสี่ยง “ไวรัสซิกา-เมอร์ส” ทำส่งออกผักผลไม้ไปจีนชะงัก หวั่นกระทบชิ่งท่องเที่ยวระยะยาว สะกิดรัฐเร่งกอบกู้ภาพลักษณ์ พร้อมจี้แบงก์ชาติดูแลค่าเงินบาท ห้ามแข็งเกิน 34.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ลุ้นตัวเลขส่งออกเดือนสิงหาฯ หากวูบอีกมีปรับคาดการณ์ใหม่เป็นติดลบมากขึ้น

[caption id="attachment_92345" align="aligncenter" width="335"] นพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) นพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)[/caption]

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออกเปิดเผยว่า การส่งออกของไทยนับจากนี้ยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสซิกาและไวรัสเมอร์ส ซึ่งล่าสุดได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรโดยเฉพาะผักและผลไม้ไปจีน หลังจากจีนได้ออกกฎกำหนดให้สินค้าที่มาจากไทย ต้องปฎิบัติตามระเบียบที่กำหนดเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่แมลงที่เป็นพาหนะของโรคติดไปกับตู้บรรจุสินค้าซึ่งกฎดังกล่าวทำให้ต้นทุนของผู้ส่งออกไทยเพิ่มขึ้น

"ทั้งนี้การส่งออกสินค้าเกษตรไปจีนในช่วงนี้คงได้รับผลกระทบในระยะสั้นๆเท่านั้น แต่ในระยะยาวหากรัฐบาลยังไม่ดำเนินการแบบจริงจัง เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ของไทยเพราะผู้บริโภคอาจจะไม่มั่นใจในสินค้าของไทย ซึ่งก็จะลามไปกระทบถึงภาคการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะไม่มั่นใจว่าสินค้าอุปโภคที่กินไปมีไวรัสดังกล่าวหรือไม่ ภาครัฐเองต้องจริงจังในเรื่องนี้ด้วย ส่วนตลาดอื่นๆไม่กระทบมากเพราะไทยส่งออกสินค้าผักผลไม้ไปมากเท่าส่งออกไปจีน"

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหลักๆที่กระทบการส่งออกไทย คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนที่พบว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมา 4.41% นับแต่ต้นปี หากไทยยังไม่สามารถดูแลสถานการณ์ค่าเงินบาทได้เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกเป็นอย่างมาก ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ควรเข้ามาดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีปัญหาการเมืองในแต่ละประเทศไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา,การลงประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ของอิตาลีหรือแม้แต่การเมืองในกรีซที่ยังไม่ทีท่าว่าจะคลี่คลาย ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดเป็นอย่างมาก

ด้านนายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า การส่งออกสินค้าไทยในขณะนี้ยังติดลบต่อเนื่องจากสินค้าหลายรายการยังไม่ฟื้นตัวโดยเฉพาะสินค้าเกษตรไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำตาลที่ยังติดลบ โดยเฉพาะข้าวที่น่าเป็นห่วงแม้สถานการณ์ภัยแล้งจะคลี่คลาย แต่ปริมาณผลผลิตที่ออกมาในช่วงนี้กลับมีปริมาณที่มาก และประเทศคู่แข่งเริ่มส่งออกมากขึ้น ประกอบกับราคาข้าวถูกกว่าของไทยซึ่งจากที่ได้คุยกับผู้ส่งออกข้าวก็เป็นห่วงในเรื่องนี้เป้าส่งออก 9.5 ล้านตันในปีนี้น่าจะยาก

ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆเช่นรถยนต์ แม้ว่าจะเป็นตัวช่วยให้การส่งออกของไทยขยายตัว แต่หากมองลึกๆแล้ว จะพบว่ารถกะบะที่ส่งออกไปยังตะวันออกกลางกลับแผ่วลงจากการออกฎใหม่ของรัฐบาลประเทศในตะวันออกกลางที่กำหนดว่ารถกะบะจะต้องไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์เกินกว่าที่กำหนด รวมถึงการที่ผู้ซื้อมีสต๊อกรถกะบะไว้จำนวนมาก ทำให้เวลานี้คำสั่งซื้อรถกะบะลดลงเพราะผู้ซื้อเร่งระบายสต๊อกให้หมด ดังนั้นจะมีผลต่อการส่งออกรถยนต์ของไทยในช่วงหลังจากนี้

"คงต้องมาดูว่าในเดือนสิงหาคมการส่งออกไทยจะยังติดลบอีกหรือไม่ ถ้าติดลบ สรท.เองคงต้องปรับคาดการณ์ส่งออกใหม่เป็นติดลบมากขึ้น จากเดิมคาดทั้งปีนี้จะติดลบ 1-2% ปีนี้ดูแล้วน่าเป็นห่วงและจะต่อเนื่องไปถึงไตรมาส1 ปีหน้า ซึ่งถ้าส่งออกไทยปีนี้ติดลบอีกจะเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่4"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 1 - 3 กันยายน พ.ศ. 2559