ธุรกิจหนังรายได้โตขึ้นเล็กน้อย แม้จะมีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ล้มเหลวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน

01 กันยายน 2559
รายได้จากบ็อกซ์ออฟฟิศในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2559 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย แต่ขณะเดียวกันในปีนี้เป็นปีที่ฮอลลีวูดมีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ช่วงฤดูร้อนล้มเหลวมากที่สุดปีหนึ่ง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของสหรัฐฯ มีภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จในจำนวนใกล้เคียงกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่กลับมีภาพยนตร์ที่ล้มเหลวและสร้างความน่าผิดหวังเป็นจำนวนที่มากกว่าปีที่ผ่านมา ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์บางเรื่องทำรายได้ไม่เป็นไปตามที่สตูดิโอผู้ผลิตคาดหวังไว้สูง อาทิ The Huntsman: Winter’s War, Teenage Mutant Ninja Turtles: Out of the Shadows, Independence Day: Resurgence, The Legend of Tarzan และ Ghostbusters เป็นต้น

ภาพยนตร์เหล่านี้ส่วนใหญ่มีทุนสร้างเกินกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีบางเรื่องทุนสร้างร่วม 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม มีภาพยนตร์ทุนสร้างสูงถึง 15 เรื่องในปีนี้ที่ทำผลงานน่าผิดหวัง เทียบกับภาพยนตร์เพียง 8 เรื่องในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ในปีนี้สตูดิโอภาพยนตร์เลือกที่จะส่งภาพยนตร์ภาคต่อ ภาพยนตร์รีเมก และภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ออกมาเข้าฉาย แต่ส่วนใหญ่กลับไม่สามารถทำผลงานได้ตามที่คาดหวัง ทั้งนี้ ความล้มเหลวของภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์หลายๆ เรื่องอาจส่งผลกระทบไปถึงผลประกอบการของสตูดิโอขนาดใหญ่

ในจำนวน 14 สุดสัปดาห์ของช่วงฤดูร้อนของฮอลลีวูด ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม มี 11 สัปดาห์ที่มีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ทุนสร้างสูงอย่างน้อย 1 เรื่องเข้าฉาย โดยส่วนใหญ่เป็นภาคต่อของภาพยนตร์ชื่อดัง อาทิ Captain America, X-Men หรือ Star Trek เทียบกับปีก่อนที่มีเพียง 7 จาก 14 สัปดาห์แรกของช่วงฤดูร้อนเท่านั้นที่มีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เข้าฉาย

อดัม กู้ดแมน โปรดิวเซอร์และอดีตหัวหน้าฝ่ายโปรดักชันของพาราเมาท์ พิกเจอร์ส กล่าวว่า "ถ้าจะให้ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ทั้งหมดทำรายได้อย่างน่าพึงพอใจ มูลค่าของตลาดจะต้องขยายออกไปอีก 20-30%" ทั้งนี้ ข้อมูลจากบริษัทวิจัยคอมสกอร์ระบุว่า รายได้ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในสหรัฐฯ และตลาดต่างประเทศขนาดใหญ่อีก 10 แห่ง เพิ่มขึ้น 1% ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เป็นประมาณ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุด 5 เรื่องในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ทำรายได้คิดเป็นสัดส่วนถึง 30% ของรายได้ในสหรัฐฯ ทั้งหมด เทียบกับช่วงปลายปีก่อนที่มีสัดส่วนประมาณ 22% ขณะเดียวกันส่วนแบ่งรายได้ของสตูดิโอภาพยนตร์ก็ไม่มีการกระจายตัวอย่างเท่าเทียมกัน โดยวอลท์ดิสนีย์ ซึ่งเน้นไปที่การสร้างภาพยนตร์ภาคต่อเป็นหลัก กวาดรายได้ในประเทศไปกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ สูงกว่าผู้ที่ทำรายได้รองลงมาเป็นอันดับ 2 คือ ทเวนตี้ เซ็นจูรี่ ฟอกซ์ ถึง 81%

นับตั้งแต่ต้นปี 2559 ภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดทั่วโลก 4 อันดับแรกต่างเป็นภาพยนตร์ของดิสนีย์ ได้แก่ Finding Dory, Captain America: Civil War, The Jungle Book และ Zootopia ดิสนีย์กล่าวว่า จนถึงขณะนี้รายได้จากการฉายภาพยนตร์ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 47% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ในทางกลับกัน ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส ทำรายได้ลดลง 53% หลังจากปีที่ผ่านมามีรายได้ทำสถิติสูงสุดด้วยภาพยนตร์ฮิตอย่าง Jurassic World, Minions และ Furious 7 แต่ในปีนี้ยูนิเวอร์แซลมีภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จเพียงเรื่องเดียว คือภาพยนตร์แอนิเมชัน The Secret Life of Pets ขณะที่อีกหลายเรื่องทำรายได้ไม่ได้ตามความคาดหมาย

ฟอกซ์และวอร์เนอร์ บราเธอร์ส กำลังแย่งชิงตำแหน่งที่ 2 ด้วยรายได้ในสหรัฐฯ และแคนาดาประมาณ 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยูนิเวอร์แซลตามมาด้วยรายได้ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนพาราเมาท์และโซนี่ พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนต์ มีรายได้อยู่ที่ราว 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจภาพยนตร์บางรายตั้งข้อสังเกตว่า รายได้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าผู้ชมสนใจภาพยนตร์ภาคต่อน้อยลงแล้วหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุด 7 จาก 10 อันดับแรกยังคงเป็นภาพยนตร์ภาคต่อหรือสปินออฟ ส่วนอีก 2 จาก 3 เรื่องที่เหลือเป็นภาพยนตร์แอนิเมชัน เทียบกับปีที่ผ่านมาที่ภาพยนตร์รายได้สูงสุด 10 อันดับแรกเป็นภาพยนตร์ภาคต่อ 8 เรื่อง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,188 วันที่ 1 - 3 กันยายน พ.ศ. 2559