โพลล์เผยประชาชน 76.19% เห็นด้วยใช้มาตรา 44 แก้ปัญหานักเรียนตีกัน

30 ส.ค. 2559 | 06:22 น.
ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการบังคับใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนทะเลาะวิวาท โดยได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24 ถึง 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,180 คนว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดอายุ 15 ปีขึ้นไปซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.68 และเพศชายร้อยละ 49.32 สามารถสรุปผลได้ดังนี้  ในด้านความคิดเห็นต่อการใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวแก้ปัญหาเด็กนักเรียนทะเลาะวิวาทนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 76.19  เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนทะเลาะวิวาท

ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.61 ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.2 ไม่แน่ใจ อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าการที่เจ้าหน้าที่มีอำนาจกักตัวเด็กนักเรียนที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาทไว้ไม่เกิน 6 ชั่วโมงนั้นเป็นเวลาที่น้อยเกินไปซึ่งคิดเป็นร้อยละ 40.42 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 32.71 มีความคิดเห็นว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมแล้ว ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 18.56 มีความคิดเห็นว่าเป็นเวลาที่มากเกินไป และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.31 ไม่แน่ใจ และหลังจากมีการใช้มาตรา 44 แก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนทะเลาะวิวาทมาได้ประมาณ 2 เดือน กลุ่มตัวอย่างประมาณครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 50.17 รู้สึกว่าปัญหาการทะเลาะวิวาทของเด็กนักเรียนยังมีเท่าเดิม ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.22 รู้สึกว่าปัญหาเพิ่มขึ้น โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 21.61 ที่รู้สึกว่าปัญหาลดลง

ในด้านความคิดเห็นต่อปัญหาการทะเลาะวิวาทของเด็กนักเรียนนั้น กลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.83 มีความคิดเห็นว่าการลงโทษสถานเบากับเด็กนักเรียนที่ก่อปัญหาทะเลาะวิวาทด้วยการตักเตือน อบรม ทำทัณฑ์บน ไม่เพียงพอที่จะทำให้เด็กนักเรียนเหล่านั้นเกิดความสำนึกไม่กลับมาก่อเหตุทะเลาะวิวาทอีก  นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.56 มีความคิดเห็นว่าการนำเด็กนักเรียนต่างสถาบันที่ก่อปัญหาทะเลาะวิวาทมาเข้าค่ายทำกิจกรรมร่วมกันจะไม่มีส่วนช่วยลดปัญหาเด็กนักเรียนทะเลาะวิวาทได้  ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.34 มีความคิดเห็นว่าพฤติกรรม/คำพูดของศิษย์เก่าหรือบรรดาครูอาจารย์ที่เป็นศิษย์เก่ามีอิฐธิพลต่อการตัดสินใจก่อปัญหาทะเลาะวิวาทของเด็กนักเรียนในรุ่นปัจจุบันได้

ในด้านความคิดเห็นต่อการแก้ปัญหาเด็กนักเรียนทะเลาะวิวาทนั้น กลุ่มตัวอย่างประมาณสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.51 เห็นด้วยกับการลงโทษเด็กนักเรียนที่ก่อปัญหาทะเลาะวิวาทด้วยการกักบริเวณในค่ายทหาร  กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 73.56 เห็นด้วยที่จะให้เด็กนักเรียนที่ก่อปัญหาทะเลาะวิวาทไปบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ เช่น เก็บกวาดขยะ ลอกท่อระบายน้ำ/คูคลอง เป็นต้น  ขณะที่กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.61 มีความคิดเห็นว่าควรมีการกำหนดโทษกับสถาบันการศึกษาที่มีเด็กนักเรียนก่อปัญหาทะเลาะวิวาทให้หนักขึ้นและเด็ดขาดกว่าในปัจจุบัน  อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 55.17 ไม่เห็นด้วยหากจะมีการกำหนดบทลงโทษทางอาญากับพ่อแม่ผู้ปกครองที่บุตรหลานไปก่อเหตุทะเลาะวิวาท

และเมื่อเปรียบเทียบความเหมาะสมของวิธีการจัดการปัญหาเด็กนักเรียนทะเลาะวิวาทระหว่างการขึ้นบัญชีเกณฑ์ทหารกับการเข้าค่ายฝึกอบรมระเบียบวินัยตามแนวของทหารนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 42.71 มีความคิดเห็นว่าการให้เด็กนักเรียนเข้าค่ายฝึกอบรมระเบียบวินัยตามแนวของทหารมีความเหมาะสมกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.68 มีความคิดเห็นว่าให้ขึ้นบัญชีเกณฑ์ทหารมีความเหมาะสมกว่า ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 17.88 มีความคิดเห็นว่าเหมาะสมทั้งสองวิธี และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.73 ไม่แน่ใจ