กำลังซื้อไตรมาส4ทะลัก 3ยักษ์ประสานเสียงโตทะยานทุกกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค

29 ส.ค. 2559 | 02:00 น.
3 ยักษ์เชื่อมั่นกำลังซื้อ-เศรษฐกิจขาขึ้น ปลุกความเชื่อมั่นโค้งท้าย “สหพัฒน์” ยืนยันคอนซูเมอร์เติบโตดีกว่าครึ่งแรก ไร้ปัจจัยลบ สิ้นปีโกยยอดโต10% ด้าน “ล็อกซเล่ย์” มองครึ่งหลังเป็นบวก ดันธุรกิจพุ่ง 25% ขณะที่ “ซีพีเอ็น” เผยกำลังซื้อภูธรแซงหน้าคนกรุง จับตาท่องเที่ยว-ลดภาษีกระตุ้นเม็ดเงินสะพัด ฟากส.ค้าปลีกฯ คาดอุตฯค้าปลีกทะยาน 8-10%

นายบุญฤทธิ์ มหามนตรี ประธานกรรมการ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ในเครือสหพัฒน์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงกำลังซื้อและภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังว่ามีทิศทางปรับตัวดีขึ้น เป็นผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ขณะที่ราคาสินค้าพืชผลทางการเกษตรก็ปรับตัวดีขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ส่วนปัญหาหนี้สินที่ประชาชนส่วนใหญ่มีก็เป็นไปในทิศทางที่ดี มีหนี้สินลดลง ทำให้มีอำนาจการใช้จ่ายซื้อสินค้ามากขึ้น จึงประเมินว่าภาพรวมธุรกิจกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคช่วงครึ่งปีหลังจะมีอัตราการเติบโตที่มากกว่าช่วงครึ่งปีแรก

"ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเริ่มกลับสู่ปกติ จากช่วง 1-2 ปีก่อนหน้านี้ประสบปัญหาต่างๆ มากมาย และมีเรื่องที่ไม่ปกติเกิดขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายจะยังไม่สามารถเดาได้ว่าจะมีปัจจัยลบอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ แต่จากการสังเกตปัจจัยการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ รวมถึงภาวะการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้ภาพรวมในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก และยังมองว่าเศรษฐกิจของประเทศน่าจะเติบโตได้ถึง 5-6% ด้วย ที่สำคัญประเทศไทยไม่มีปัญหาด้านการว่างงาน แม้ว่าจะมีบางบริษัทที่เลิกจ้างพนักงานบ้าง แต่ในภาพรวมแล้วอัตราการจ้างงานยังดีอยู่ ทำให้ประชาชนยังมีกำลังซื้อที่ดี"

สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา สามารถสร้างการเติบโตได้ถึง 10% ถือว่าเกินกว่าเป้าหมายที่คาดว่าจะเติบโตประมาณ 5% เท่านั้น ซึ่งเป็นผลจากหลายปัจจัยทั้งการทำงานภายในองค์กร และปัจจัยภายนอกจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จึงคาดว่าผลประกอบการของบริษัทจะยังคงเติบโตต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งตลอดทั้งปีนี้น่าเติบโตได้ในอัตรา 10% หรืออย่างน้อยจะเติบโตมากกว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศ จากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเติบโตด้วยอัตราเลขตัวเดียว โดยเฉพาะปีที่ผ่านมาเติบโตในอัตรา 4%

ด้านนายสุรพันธ์ ภาษิตนิรันดร์ กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) รับผิดชอบด้านธุรกิจการค้า และกลุ่มธุรกิจเทรดดิ้ง กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคในช่วงครึ่งปีหลังได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความมั่นใจของผู้บริโภคที่มีต่อภาพรวมเศรษฐกิจ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ภาครัฐพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ภาวะการท่องเที่ยวของไทยก็เติบโตได้ดี ถือเป็นดัชนีสำคัญที่มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ เพราะมีสัดส่วนถึง 20% ของจีดีพี ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ประกาศตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจที่ 3-3.5% ขณะที่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีถือว่าเป็นช่วงไฮซีซัน ที่ผู้ประกอบการและภาคเอกชนจะมีการจัดกิจกรรมการตลาดอย่างต่อเนื่องด้วย

"มองว่าครึ่งปีหลังภาพรวมเป็นบวกมากขึ้น จากกำลังซื้อเห็นสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จากยอดขายของกลุ่มคอนซูเมอร์โปรดักต์ในไตรมาส 2 มีอัตราการเติบโตถึง 25% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรก ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมายอดขายสินค้าต่างๆ ก็เติบโตได้อย่างดี อาทิ น้ำมันพืชกุ๊กที่จัดจำหน่ายก็ขายดีอย่างมาก รวมถึงสินค้าอื่นๆ ที่บริษัทเป็นผู้จัดจำหน่ายมีการทำตลาดอย่างต่อเนื่อง อาทิ นมหนองโพ มีการออกสินค้าใหม่ ซีเล็คทูน่า จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และโปรโมชั่น เครื่องดื่มวีมิกซ์ ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น ทำให้คาดว่าช่วงครึ่งปีหลังนี้กลุ่มสินค้าคอนซูเมอร์จะเติบโต 15% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก"

นายปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด กล่าวว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ผ่านมามีทิศทางที่ดีขึ้น จาการสำรวจพบว่าในกรุงเทพฯ มีกำลังซื้อเติบโตเพิ่ม 6% และต่างจังหวัดเติบโต 10% ซึ่งคาดว่าทิศทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อในครึ่งปีหลังมีภาพรวมดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรกทั้งในด้านกำลังซื้อ และเศรษฐกิจ โดยมีปัจจัยจากภาวะการท่องเที่ยวและการลดภาษีนำเข้าสินค้าเพื่อนบ้าน ที่จะเป็นปัจจัยช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีการซื้อสินค้ามากขึ้น

ทั้งนี้ มองว่าธุรกิจค้าปลีก และการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่สอดคล้องกัน พื้นที่ไหนที่มีค้าปลีกพื้นที่นั้นย่อมมีความเจริญตามมา และหากในพื้นที่ใดมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามามาก จะส่งผลดีต่อธุรกิจค้าปลีกเช่นเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาในภาพรวมด้านเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มดีขึ้นตามลำดับ โดยในกรุงเทพฯ มีกำลังซื้อที่ดีขึ้นและเติบโต 6% ขณะที่ต่างจังหวัดเติบโต 10% จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ดีขึ้นบริษัทคาดว่าปีนี้จะมีรายได้เติบโต 15% ตามที่วางเป้าหมายไว้

ขณะที่ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์มวลรวมของธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยคิดเป็น 15% จากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และมีการจ้างงานในธุรกิจค้าปลีกราว 6,000 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมต่างๆที่มีอยู่ทั่วประเทศขณะนี้ที่มีงานจ้างงานอยู่กว่า 58 ล้านคน หรือคิดเป็น 39% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศนั้นถือว่าภาพรวมธุรกิจค้าปลีกยังห่างจากอุตสาหกรรมทั่วไปอยู่ถึง 3 เท่าตัว ดังนั้นมองว่าผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกจำเป็นต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการค้าปลีก เพื่อให้สอดคล้องกับคำว่า "Thailand 4.0" หรือแนวคิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ "Value-Based Economy" หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

"เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ดีมีประสิทธิภาพและให้เกิดศักยภาพสูงสุด ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกจะต้องมีการนำเทคโนโลยีมาเสริมสร้างประสิทธิภาพ ให้กับธุรกิจของตัวเอง เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว ทั้งนี้หากผู้ประกอบการมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการในธุรกิจค้าปลีกให้มีประสิทธิภาพแล้วนั้น คาดการณ์ว่าจะสามารถเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมของธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยเป็น 30% จากเดิมที่มีสัดส่วน 15%"

ขณะที่ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในช่วงครึ่งปีหลังนับจากนี้ไปมองว่าจะยังคงทรงตัว เนื่องจากปัจจุบันกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่ส่งผลให้เม็ดเงินสะพัดในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไปถูกขับเคลื่อนด้วยการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐเพียงอย่างเดียว พร้อมกันนี้ยังประเมินว่าภาพรวมธุรกิจค้าปลีกมีอัตราการเติบโตที่ 8-10% ต่อปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 28 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559