หอการค้าไทยฯเสนอยกเครื่องปัญหาแรงงานของประเทศ

25 ส.ค. 2559 | 06:39 น.
ดร.พจน์  อร่ามวัฒนานนท์  รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์กำลังแรงงานของประเทศ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 พบว่า ประเทศไทยมีประชากรที่อยู่ในวัยทำงานหรืออายุ 15 ปีขึ้นไปจำนวน 55.5 ล้านคน จำแนกเป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 38.3 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน ร้อยละ 70.42 ของประชากรวัยแรงงานทั้งหมด และหากพิจารณาถึงการเปรียบเทียบจำนวนผู้มีงานทำ จำแนกตามอุตสาหกรรมที่สำคัญ ข้อมูลไตรมาสที่ 1  พบว่าในปี 2559  3 อันแรกที่ใช้แรงงานมากที่สุด ได้แก่ 1)ภาคเกษตรกรรม มีจำนวนแรงงานประมาณ 11.2 ล้านคน รองลงมา คือ 2) ภาคธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง จำนวน 6.4 ล้านคน 3) การผลิต จำนวน 6.4 ล้านคน 4) ที่พักแรม จำนวน 2.7 ล้านคน 5) ก่อสร้าง จำนวน 2.6 ล้านคน 6) การบริหารราชการ จำนวน 1.6 ล้านคน   7) ขนส่ง จำนวน 1.3 ล้านคน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ร่วมทำการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกทั่วประเทศเกี่ยวกับปัญหาแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ในประเด็นผลกระทบแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ได้แก่ ผลกระทบด้านทางสังคม ผลกระทบด้านความมั่นคง และผลกระทบด้านสาธารณสุข เพื่อนำผลการศึกษาดังกล่าว มาเป็นตัวชี้นำและกำหนดนโยบายของรัฐบาลและภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างถูกต้อง

ดร.พจน์ กล่าวว่า จากประเด็นผลการสำรวจความคิดเห็นปัญหาแรงงานต่างด้าว และปัญหาแรงงานของประเทศไทยที่พบในปัจจุบัน หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จึงได้จัดทำข้อเสนอในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาแรงงานของประเทศไทย ดังนี้   1)การส่งเสริมการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานไทย (นโยบายทดแทนแรงงาน)   2)กำหนดนโยบายแรงงานทดแทน โดยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกลุ่มประชากรที่มีศักยภาพในตลาดแรงงาน  3)แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานของประเทศไทย โดยกระทรวงแรงงาน ต้องเป็นเจ้าภาพในการจัดทำฐานข้อมูลอุปสงค์ อุปทาน ของแรงงาน (Database of Demand and Supply)  เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานของประเทศไทย  4)การปรับปรุงนโยบายคนเข้าเมืองให้สะดวกมากขึ้น เพื่อดึงแรงงานทักษะฝีมือสูงหรือแรงงานมีฝีมือจากต่างประเทศ (Talent Mobility) และบริษัทที่มีศักยภาพมาลงทุนในประเทศไทย  5) ปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค

ทั้งนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน (กรอ.) เพื่อทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานของประเทศไทยอย่างบูรณาการ และขับเคลื่อนข้อเสนอต่างๆ ให้เกิดความเป็นรูปธรรม และขอขอบคุณ นายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทุกภาคส่วน ที่ได้ร่วมมือแก้ไขปัญหาแรงงานของประเทศไทยอย่างจริงจัง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอของหอการค้าไทยจะแก้ไขปัญหาแรงงานได้อย่างเบ็ดเสร็จและยกระดับแรงงานไทยเพื่อรองรับ Thailand 4.0 ต่อไป