ผุดนิคมฯ‘ไบโออีโคโนมี’ ตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษดึงทุน

26 ส.ค. 2559 | 10:00 น.
สานพลังประชารัฐ เตรียมจับมือกนอ.ผุดนิคมฯไบโออีโคโนมี เบื้องต้นเล็ง 3 พื้นที่ นครสวรรค์ ขอนแก่น และอุดาธานี ใกล้แหล่งวัตถุดิบอ้อยและมันสำปะหลัง พร้อมชงให้ประกาศเป็นเขตพื้นที่เศรษฐกิจรองรับการลงทุน สิทธิประโยชน์เทียบเท่าอีอีซี หากชัดเจน คาดมีเม็ดเงินทยอยลงทุนได้ 2.8 แสนล้านบาท ในกว่า 10 โครงการ

นายวีรวงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ทางคณะทำงานย่อยด้ายไบโออีโคโนมี ภายใต้คณะทำงานด้านพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ที่มีนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด(มหาชน)หรือ พีทีทีจีซี เป็นประธานได้เข้ามาหารือถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการขับเคลื่อนโครงการไบโออีโคโนมี ซึ่งเป็นหนึ่งในการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่จะใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปนั้น

โดยคณะทำงานดังกล่าวเห็นว่า หากจะให้โครงการเกิดขึ้นได้ ภาครัฐ,จำเป็นต้องการให้การสนับสนุนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมขึ้นมาในบริเวณพื้นที่ที่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบในรัศมีไม่เกิน 50 กิโลเมตร อย่างเช่น อ้อยและมันสำปะหลังขึ้นมา และประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยใช้อำนาจภายใต้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ที่เปิดช่องไว้ให้ดำเนินการได้ เพื่อที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุด ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอกำหนดไว้ หรือรูปแบบต่างๆ ในการดำเนินงานเช่นเดียวกับอีอีซี

ทั้งนี้ จากข้อสรุปเบื้องต้นทาง กนอ.เห็นว่า หากทางภาคเอกชนมีความพร้อมในการจัดหาพื้นที่ตั้งนิคมฯ กนอ.ก็พร้อมที่จะสนับสนุนในการจัดตั้งเป็นนิคมร่วมขึ้นมา ในขณะที่พื้นที่ที่ตั้งนิคมฯนั้นทางคณะทำงานอยู่ระหว่างการศึกษาพื้นที่อยู่ทั้งภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนจะผลักดันให้เป็นการเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมาได้หรือไม่นั้น คงต้องไปดูก่อนว่าพื้นที่จัดตั้งนิคมฯ อยู่บริเวณไหน จะ พ.ร.บ.อีอีซี ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้ จะเอื้อต่อการจัดตั้งได้อย่าง

โดยทั้งหมดยังเป็นการหารือหลักการเพียงเบื้องต้น ซึ่งคงต้องมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาร่วมกันในการศึกษารูปแบบดำเนินงานทั้งหมด ซึ่งกนอ.พร้อมที่จะสนับสนุนภาคเอกชนในการดำเนินงานอยู่แล้ว เพราะไบโออีโคโนมี ถือเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจลูกใหม่ ที่จะทำให้ประเทศหนีกับดักรายได้ปานกลางขึ้นไปอยู่ในระดับสูงได้

นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ หัวหน้าคณะทำงานย่อยด้านไบโออีโคโนมี ภายใต้คณะทำงานด้านพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า สำหรับพื้นที่จัดตั้งนิคมฯไบโออีโคโนมีนั้น จะมีขนาดตั้งแต่ 1 พันไร่ขึ้นไป เบื้องต้นคณะทำงานได้มีการพิจารณาไว้ 3 พื้นที่ ในจังหวัด นครสวรรค์ อุดรธานี และขอนแก่น ที่มีการเพาะปลูกอ้อยและมันสำปะหลังจำนวนมาก แต่ก็ยังอาจจะมีการเสนอพื้นที่เข้ามาเพิ่มเติมอีกได้ ซึ่งรูปแบบการจัดตั้งนิคมฯนั้น อาจจะเป็นพื้นที่ของเอกชนเองที่มีอยู่แล้ว หรือจัดหาพื้นที่ใหม่ร่วมกับกนอ. และต้องเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับวัตถุดิบ พร้อมทั้งมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภค ระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงได้อย่างทั่วถึง และต้องมีสถาบันการศึกษาในพื้นที่เพื่อรองรับในการร่วมการวิจัยและพัฒนาด้วย

โดยขณะนี้ภาคเอกชนที่มีความสนใจที่จะมาลงทุนในนิคมฯแห่งนี้ เช่น กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) มิตรผล อยู่ระหว่างการศึกษาว่าพื้นที่ใดจะเหมาะกับการตั้งนิคมฯขึ้นมา เพื่อนำมาเสนอคณะทำงานในการผลักดันต่อไป

ส่วนการลงทุนในนิคมฯนั้น จะประกอบไปด้วย การตั้งโรงกลั่นชีวภาพขึ้นมา ซึ่งเป็นการนำน้ำตาลที่ได้จากอ้อยและมันสำปะหลังมาหมัก เพื่อให้ได้จุลินทรีย์ต่างๆ นำไปใช้เป็นสารตั้งต้นผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อไป โดยจะมีโรงงานต่างๆ เข้ามาตั้งเป็นคอมเพล็กซ์อยู่ภายในนิคมฯแห่งนี้ แต่การลงทุนในนิคมฯจะต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการผลักดันให้มีการประกาศเป็นเศรษฐกิจพิเศษควบคู่ด้วย เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เทียบเท่ากับอีอีซี

ทั้งนี้ หากมีความชัดเจนในการจัดตั้งนิคมฯ และการประกาศเขตเศรษฐกิจได้เร็ว ทางภาคเอกชนก็มีความพร้อมที่จะทยอยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 โครงการ เงินลงทุนรวมกันกว่า 2.8 แสนล้านบาท ในช่วง 10 ปี เนื่องจากมีโครงการที่รอค้างท่อพร้อมที่จะลงทุนอยู่แล้ว เช่น โครงการพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกดีโซฮอลล์ สำหรับภาคขนส่ง งบประมาณ 6 ล้านบาท ในการศึกษาวิจัย เพื่อนำไปสู่การเพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์จากอ้อยและมันสำปะหลัง มาผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังในปี 2564 ให้ได้จำนวน 506 ล้านลิตรต่อปี และผลิตเอทานอลจากอ้อย จำนวน 2,000 ล้านลิตรต่อปี เมื่อถึงปี 2567 ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรรมต้นทางมากกว่า 3.6 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยจะมีบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) มิตรผล เอสซีจี เป็นผู้ลงทุนด้วยงบ 2.63 หมื่นล้านบาท

พร้อมกับโครงการพัฒนาผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ จากชานอ้อย เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานป้อนให้กับนิคมฯ แบ่งเป็นโครงการระยะสั้น(2560-2562) ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าและไฟฟ้า ขนาด 200 เมกะวัตต์ งบลงทุนประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท จากลุ่มโรงงานน้ำตาล 3-4 แห่ง ที่อยู่ใกล้กับนิคมฯ โครงการระยะกลาง(2560-2564) เป็นการขยายไปสู่โรงงานอื่นๆ และโรงงานนำตาลที่ขยายกำลังการผลิต มีเป้าหมายผลิตไฟฟ้า 600 เมกะวัตต์ ใช้งบลงทุน 7.5 หมื่นล้านบาท และโรงงานระยะยาว (2561-2569) การผลิตไฟฟ้าจากโรงงานน้ำตาลี่สร้างใหม่ทุกแห่ง มีเป้าหมายผลิตฟ้าได้ 500 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุ 7.2 หมื่นล้านบาท โดยจะมีบริษัทมิตรผล เป็นผู้ลงทุนหลัก ร่วมกับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ฯ หรือจีพีเอสซี

รวมถึงโครงการทดลองนำร่องการใช้ก๊าซชีวภาพอัดหรือซีบีจี เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถขนส่ง โดยเป็นการนำน้ำเสียจากกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรเช่น โรงงานน้ำตาล เอทานอล และแป้งมันสำปะหลัง มาผลิตเป็นซีบีจีที่คาดว่าภายในปี 2567 จะสามารถสนับสนุนให้มีการผลิตและนำซีบีจีไปใช้เป็นเชื้อเพลิงรถขนส่งได้ 1.3 หมื่นตันต่อปี ใช้เงินลงทุนไม่น่าจะเกิน 200 ล้านบาท มีปตท. เอสซีจี เป็นผู้ดำเนินการ

นายอนนต์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีโครงการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเคมีและพลาสติกชีวภาพ ที่จะผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2562 โดยจะมีการก่อสร้างโรงงานผลิต Lactic acid กำลังผลิต 1 แสนตันต่อปี เงินลงทุน 6,500 ล้านบาท ก่อสร้างโรงงานพีแอลเอ ขนาดกำลังผลิต 7.5 หมื่นตันต่อปี เงินลงทุน 4,300 ล้านบาท และโรงงานบีเอสเอ ขนาดกำลังผลิต 1.5 หมื่นตันต่อปี และโรงงานไบโอ-บีดีโอ ขนาดกำลังผลิต 4 หมื่นตันต่อปี ใช้เงินลงทุนรวม 1.12 หมื่นล้านบาท โดยจะมีบริษัท พีทีทีจีซีฯ เป็นผู้ลงทุน ร่วมกับเอกชนรายอื่นๆ ที่สนใจ

นอกจากนี้ ยังเป็นการลงทุนในกลุ่มของอาหารเพื่อสุขภาพและอาหารสัตว์ อีก 7 โครงการ เงินลงทุนรวมประมาณ 1.11 หมื่นล้านบาท เช่น การผลิต Lactic acid เพ่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอาง ผลิตสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล การผลิต Dried yeast เพื่อทดแทนการนำเข้าโปรตีนในอาหารสัตว์ โดยเป็นการลงทุนของกลุ่มมิตรผล เป็นต้น

สำหรับในส่วนของอุตสาหกรรมยาชีววัตถุ และวัคซีนขั้นสูง เป็นแผนการลงทุนระยะยาว 10 ปี โดยส่วนหนึ่งทางกลุ่มมิตรผล จะเป็นผู้ลงทุน และจะมีการเชิญชวนให้บริษัทยาจากต่างประเทศเข้ามาลงทุน คาดว่าจะมีการลงทุนในช่วง 2 ปีแรก 1 หมื่นล้านบาท และในปีที่ 3 เป็นต้นไปอีก 3 หมื่นล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,186 วันที่ 25 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559