Engineering Happiness = Happineering

28 ส.ค. 2559 | 01:00 น.
ความสุขหรือความทุกข์เปรียบเสมือนเหรียญ 2ด้านที่ห่างกันนิดเดียว บางคนมีเงินมากมายแต่ดูเหมือนชีวิตยังมีความทุกข์มากมาย ในขณะที่บางคนมีเงินไม่มากแต่ทำไมถึงดูเหมือนมีความสุขง่ายจัง การสร้างวิศวกรรมในการออกแบบความสุข (Happineering = Engineering Happiness)โดยมีมุมมองความสุขออกมาเป็น 3 องค์ประกอบนั่นก็คือ ความเชื่อของความสุข ถ้าเราพูดถึงความสุขเรามักจะเชื่อว่าเราต้องทำอะไรถึงจะมีความสุข บางคนจะเชื่อว่ามีเงินถึงจะมีความสุข บางคนก็เชื่อว่าสุขภาพดีถึงจะมีความสุข บางคนก็เชื่อว่าถ้ามีครอบครัวดีมีลูกดีจึงจะมีความสุข บางคนต้องมีงานดีจึงจะมีความสุข หลายคนอาจจะต้องมีครบทุกข้อจึงจะมีความสุข

การที่เราต้องมีความสุขโดยยิ่งถ้าต้องพึ่งปัจจัยจากภายนอกจะทำให้เราเป็นคนสุขยาก เป็นไปได้ไหมที่เรามีความเชื่อโดยการยกสภาวะจิตให้มีความสุขเดี๋ยวนี้และเวลานี้โดยไม่ต้องพึ่งปัจจัยอะไรเลยจากภายนอก มิฉะนั้นแล้วถ้าปัจจัยภายนอกไม่ครบเราก็จะไม่สามารถค้นหาความสุขจริงๆได้สักที ต่อมสุขใจ เมื่อเราไม่ได้พึ่งความสุขจากภายนอกจะทำให้เราสุขง่ายขึ้นตัวเบาขึ้นเพราะเราไม่ต้องสะสมอะไรให้พะรุงพะรังจึงจะทำให้เรามีความสุข

แต่ความสุขที่เกิดจากภายในถ้าเรารู้จุดของขุมพลังของความสุขซึ่งแต่ละคนอาจจะมีฐานของความสุขที่แตกต่างกันจะทำให้เรา Focus พลังของต่อมสุขใจที่อยู่ภายในได้ง่ายขึ้น บางคนสุขง่ายกับการแก้ปัญหาและวิเคราะห์สิ่งต่างๆ ยิ่งถ้าอยู่คนเดียวโดยไม่ต้องคุยกับใครด้วยแล้วดูเหมือนโลกจะเป็นของเรา ในขณะที่บางคนชอบคุยกับคนอื่น การติดต่อสื่อสารและการประสานใจจะทำให้เกิดรอยยิ้มและเบิกบาน

ในขณะเดียวกันถ้ามีโอกาสทำเกี่ยวกับตัวเลขและเรื่องราวที่เป็นเหตุเป็นผลก็จะเกิดความตึงเครียดได้ง่าย เช่นเดียวกันบางคนชอบมองภาพรวม ชอบคิดนอกกรอบ แต่ไม่ชอบเดินตามเส้นตรง ในขณะที่บางคนเป็นคนเจ้าระเบียบ ชอบวางแผนและจัดการ แต่จะไม่คล่องตัวยืดหยุ่นและไม่ประสานความคิดร่วมกับใคร การที่เราสุขง่ายในเรื่องที่เราชอบจะเป็นตัวกระตุ้นให้ต่อมสุขใจทำงาน ทำให้สารแห่งความสุขหรือ เอ็นโดร์ฟินหลั่งออกมา (Endorphine) ในขณะเดียวกันถ้าเราทำสิ่งที่เราไม่ชอบก็จะกระตุ้นต่อมเครียดให้เกิดการสร้างสารคอติซอลที่ทำให้เราเครียด หงุดหงิดง่ายและอาจจะสติแตกได้อย่างรวดเร็วถ้าความเครียดเกินขีดจำกัด หรือ Threshold ที่เราทนได้

หยอดกระปุกความสุข การฝากถอนความสุขก็เปรียบเสมือนการฝากถอนเงินในบัญชีธนาคาร ถ้าเราถอนมากว่าฝากเราก็จะเป็นหนี้ธนาคารและบัญชีก็จะเป็นตัวแดงขึ้นมา ในขณะที่ถ้าเราหมั่นฝากเงินบัญชีตัวดำของเงินในธนาคารก็จะเพิ่มพูนขึ้นมาและถ้าเราบริหารให้ดีก็จะกลายเป็นดอกเบี้ยขึ้นมาอีกด้วย การฝากบัญชีความสุขก็เช่นกัน ถ้าเราหมั่นทำสิ่งที่เรามีความสุข บัญชีแห่งความสุขก็จะได้รับการฝาก ในขณะที่เราทำสิ่งที่เราเครียดเราก็จะถอดบัญชีความสุขอย่างรวดเร็ว
การบริหารอารมณ์อย่างเท่าทันเป็นสิ่งสำคัญในการบริหารการหยอดกระปุกความสุข การสร้างวิศวะความสุขเป็นการสร้างสรรค์ความเชื่อให้สุขง่ายไร้ปัจจัยภายนอกที่รุงรัง การสุขง่ายจากต่อมความสุขที่เกิดจากภายในรวมทั้งการหมั่นยอดกระปุกความสุขที่มีดอกเบี้ยทบต้นแต่ทำให้เรามีความสุขง่ายๆอย่างเหลือเฟือ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,186 วันที่ 25 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559