เตือนประชาชนริมฝั่งแม่น้ำยมเตรียมรับมือน้ำเอ่อล้นตลิ่ง

17 ส.ค. 2559 | 04:43 น.
รายงานข่าวจากกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า จากการประเมินสถานการณ์น้ำในแม่น้ำยม หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่มเติมในพื้นที่ตอนบนของแม่น้ำยม คาดการณ์ว่าระดับน้ำในพื้นที่ตอนบนบริเวณ อ.ปง จ.พะเยา และที่สถานี Y.20 บ.ห้วยสัก อ.สอง จ.แพร่ จะลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่สถานี Y.1C บ.น้ำโค้ง อ.เมืองแพร่ คาดว่าคืนนี้เวลาประมาณ 23.00 น.(16 ส.ค.) ระดับน้ำในแม่น้ำยมจะเริ่มล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตคันกั้นน้ำ และในเวลาประมาณ 07.00 น. ของวันที่ 17 ส.ค. 59 คาดว่าระดับน้ำจะสูงสุดประมาณ 9.50 เมตร สูงกว่าตลิ่งต่ำนอกคันกั้นน้ำประมาณ 1.30 เมตร และต่ำกว่าพื้นที่เศรษฐกิจประมาณ 0.50 เมตร จากนั้นระดับน้ำจะเริ่มลงลง เข้าสู่ภาวะปกติภายในช่วงเย็นวันเดียวกัน

กรมชลประทาน จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำยม นอกเขตคันกั้นน้ำ บริเวณ อ.เมืองแพร่ ให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งที่จะเกิดขึ้น โดยยกสิ่งของและทรัพย์สินไว้บนที่สูง พร้อมกับขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิดด้วย ทั้งนี้ ทางผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ จัดทำทำนบกั้นน้ำตามจุดเสี่ยงต่างๆแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเอ่อท่วมพื้นที่ชั้นในตัวเมืองแพร่

อนึ่ง ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมจากจ.แพร่ จะไหลลงสู่พื้นที่จ.สุโขทัยเป็นลำดับต่อไป คาดว่าปริมาณน้ำก้อนใหญ่จะเดินทางถึงบริเวณสถานี Y.14 อฺ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ในวันที่ 18 ส.ค. 59 ในเกณฑ์ประมาณ 1,200 - 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน จะใช้ประตูระบายน้ำแม่น้ำยม(บ้านหาดสะพานจันทร์) อ.สวรรคโลก ในการบริหารจัดการน้ำ ด้วยการพร่องน้ำหน้าปตร.แม่น้ำยมให้ลดต่ำลง เพื่อให้มีพื้นที่รับน้ำหลาก รวมทั้ง ผันน้ำส่วนหนึ่งด้านเหนือปตร.แม่น้ำยม เข้าสู่คลองหกบาทในอัตรา 180 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ไปลงคลองยม – น่านและแม่น้ำยมสายเก่า ในอัตรา 80 และ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีตามลำดับ ก่อนจะระบายน้ำลงสู่แม่น้ำน่านด้านเหนือเขื่อนนเรศวร ซึ่งได้เพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนให้มากขึ้น เพื่อให้น้ำที่ระบายผ่านคลองยม-น่าน ไหลลงสู่แม่น้ำน่านได้สะดวกเร็วขึ้น

พร้อมกันนี้ จะควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านปตร.แม่น้ำยม ในเกณฑ์ประมาณ 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่ตัวเมืองสุโขทัย จากนั้นจะรับน้ำบางส่วนเข้าคลองสาขาเหนือตัวเมืองสุโขทัย ในเกณฑ์ 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คงเหลือปริมาณน้ำผ่านตัวเมืองสุโขทัยประมาณ 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตามความจุของลำน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัย รวมปริมาณน้ำที่กรมชลประทาน ใช้ปตร.แม่น้ำยมในการบริหารจัดการทั้งสิ้น 780 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปริมาณน้ำส่วนที่เหลืออีกประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร จะใช้พื้นที่ด้านเหนือปตร.แม่น้ำยม เก็บกักและชะลอน้ำไว้ รอจนกว่าปริมาณน้ำในระบบชลประทานลดลงแล้ว จึงค่อยระบายน้ำส่วนที่เหลือนี้โดยไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมต่อไป