เชื่อมั่นมา กล้าลงทุน สถาบันเอกชนประสานเสียงสัญญาณบวก

11 ส.ค. 2559 | 03:30 น.
เสียงเอกชนเอกฉันท์ รับร่างรธน.ปัจจัยบวกเศรษฐกิจไทย ความเชื่อมั่นฟื้นทั้งใน-นอกประเทศ จากโรดแมปสู่การเลือกตั้งใหม่ที่กลับมาชัดเจน ประธานส.อ.ท.โล่งความเสี่ยงครึ่งหลังลด หอฯเชื่อเอกชนควักลงทุนตาม แต่ดอกผลเห็นชัดปีหน้าลุ้นเลือกตั้งเงินสะพัด 5 หมื่นล้าน นายแบงก์เตือนยังต้องระวังเศรษฐกิจโลก เจ้าสัวค่ายไทยเบฟชี้ช่วยคนไทยกลับมาสามัคคี “ชนินทร์” จี้รัฐสร้างรูปธรรมแผนลงทุนนำร่อง ด้านเอ็กซิมฯจับตาธุรกิจเริ่มไปไม่ไหวสัญญาณเบี้ยวหนี้คู่ค้าโผล่ ส่วน “เอส แอนด์ พี” ยังกังวลรัฐบาลจากรธน.ใหม่ไม่แก้ความขัดแย้ง

ผลการออกเสียงประชามติ คนไทยรับร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) และคำถามพ่วง ทำให้โรดแมปสู่การเลือกตั้งของคสช.เดินหน้าต่อแน่ชัดขึ้น โดยผู้เกี่ยวข้องประสานเสียงยืนยันมีแน่ปลายปี 2560 หรือไม่เกินต้นปี 2561 แต่ผลบวกที่เกิดทันทีใน 4 ปัจจัยคือ ความเชื่อมั่นผู้บริโภค-นักลงทุนเพิ่ม ความเสี่ยงในประเทศลด เงินใช้จ่ายภาครัฐหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจเดินต่อเนื่อง สะท้อนผ่านดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับขึ้นต่อเนื่องทันทีตั้งแต่ต้นสัปดาห์ นั้น

[caption id="attachment_84050" align="aligncenter" width="386"] นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)[/caption]

ส.อ.ท.ชี้นักลงทุนรอโรดแมปชัด

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า การที่ประชาชนมาลงประชามติจบลงด้วยความสงบเรียบร้อย ทำให้ความเชื่อมั่นต่อภาพรวมของประเทศไทยดีขึ้นอย่างแน่นอน ส่วนในแง่เศรษฐกิจยังคงเป้าจีดีพีไว้ที่ 3-3.5% และมองว่าจะมีความเสี่ยงที่จะทำได้ไม่ถึงเป้าน้อยลง จากที่ก่อนหน้านี้ยังมีความกังวลว่าจะทำได้ไม่ถึงเป้า

สำหรับความเชื่อมั่นในสายตาต่างชาตินั้นยอมรับว่าดีขึ้น และเชื่อว่านักลงทุนที่เตรียมแผนจะลงทุนใหม่หรือขยายการลงทุนอยู่แล้ว จะตัดสินใจได้เร็วขึ้น ในมุมของทุนต่างชาติส่วนใหญ่ขอให้นโยบายชัดเจน กฎหมายการลงทุนชัดเจนไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย เขาก็สนใจเข้ามาลงทุนในไทย และมองว่าการลงทุนเป็นผลระยะยาว

[caption id="attachment_84053" align="aligncenter" width="386"] นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย[/caption]

 หอฯเชื่อเอกชนเทตามรัฐ

ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประชามติเห็นชอบร่างรธน. จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่จะทำให้โรดแมปการปฏิรูปประเทศ เพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง รวมถึงนโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลจะมีความต่อเนื่อง ซึ่งจากที่รัฐบาลระบุจะมีเม็ดเงินจากงบลงทุนของภาครัฐ ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ มากขึ้นในไตรมาส 3-4 ของปีนี้ เชื่อว่าจะทำให้เอกชนขยายการลงทุนตามมา ขณะที่จากการพูดคุยกับผู้บริหารของหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย ระบุผลประชามติทำให้ต่างชาติเชื่อมั่นประเทศไทยมากขึ้น

ด้าน ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการสำรวจความเห็นภาคธุรกิจ384 ตัวอย่าง มุมมองต่อการดำเนินธุรกิจหลังจากลงประชามติ ส่วนใหญ่ระบุจะมีการขยายธุรกิจเพิ่มเติมในอีก 2 ปีข้างหน้า

"หากรัฐบาลสามารถเดินหน้าตามโรดแมป และออกกฎหมายลูกได้ตามกรอบระยะเวลา 6-8 เดือนรวมถึงเข้าสู่ระบบการเลือกตั้ง จะทำให้นักการเมืองเริ่มมีการประชาสัมพันธ์ และหากมีการเลือกตั้งน่าจะทำให้มีเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีก 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นโอกาสที่จะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี2560 เพิ่มขึ้น ส่วนในระยะสั้นยังคงพึ่งการลงทุนจากภาครัฐ และการใช้จ่ายภายในช่วงครึ่งปีหลังก็น่าจะทำให้ภาพเศรษฐกิจดีขึ้นขยายตัวไปถึงปีหน้าได้"

[caption id="attachment_84051" align="aligncenter" width="386"]  ประธานสมาคมธนาคารไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย[/caption]

 เตือนเศรษฐกิจโลกยังถ่วง

เช่นกันนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ผลประชามติสะท้อนการยอมรับของประชาชนในประเทศ ทำให้มีความชัดเจนขึ้นในแง่ของการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยเฉพาะคนกล้าจะตัดสินใจลงทุน ประกอบกับโครงการภาครัฐที่จะเกิดขึ้นในครึ่งปีหลัง น่าจะมีโครงการต่อเนื่อง และควรจะสนับสนุนความต้องการสินเชื่อได้มากขึ้น โดยรวมทั้งระบบคาดการณ์ความต้องการสินเชื่อทั้งปีนี้ไว้ที่ 4-5 % เฉพาะธนาคารกสิกรไทยที่ผ่านมาสินเชื่อขยายตัวครึ่งปีที่ 3% และคาดว่าทั้งปีน่าจะเห็นตัวเลข 6-7%

อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ยังต้องระมัดระวังความผันผวนของตลาด ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน หรือภาวะเศรษฐกิจของโลกที่เติบโตช้า ทำให้ภาคการส่งออกของไทยยังคงติดลบ แต่เป็นการติดลบที่อยู่ในระดับน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และที่ผ่านมาจะเห็นว่าการส่งออกไทยกลับมาติดลบน้อยลงจากก่อนหน้า

 เสี่ยไทยเบฟหวังคนไทยสามัคคี

ขณะที่นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหารบริษัท ทีซีซี กรุ๊ป กล่าวสั้น ๆ ว่า การลงประชามติรับร่างรธน.เป็นเรื่องดี เชื่อว่าทำให้คนไทยกลับมาสามัคคีกันมากขี้น และช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น

ด้านนายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) กล่าวว่า ผลประชามติแสดงว่าคนไทยเชื่อมั่นและเชื่อถือต่อผลงานของรัฐบาล ถือเป็นสัญญาณบวก และเชื่อว่าจะส่งผลให้โมเมนตัมในประเทศดีขึ้น ทำให้ความรู้สึกของคนไทยดีขึ้น ในส่วนของภาคเอกชนเองจะสร้างความเชื่อมั่นในภาคของการลงทุน ซึ่งคุณพ่อ(นายเจริญ สิริวัฒนภักดี) ก็มีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยและพร้อมจะเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง โดยมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพไม่แพ้ชาติใดในโลก ทั้งในแง่ของภูมิศาสตร์ และการเป็นศูนย์กลางของอาเซียน

หุ้นเด้งรับทันที

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ทิสโก้ จำกัด และในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวว่า ประชามติรับร่างรธน. ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเชื่อมั่นในการลงทุนมากขึ้น

หากเทียบกับในอดีตที่ต่างชาติมีการลงทุนในตลาดหุ้นไทยถึง 4 แสนแสนล้านบาท แต่ปัจจุบันไหลเข้ามาลงทุน 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่ายังน้อย หรือคิดเป็นเพียง 20 % ของที่ไหลออกไปช่วงหลังวิกฤติซับไพร์ม ดังนั้นคาดว่าเงินต่างชาติจะไหลเข้ามาลงทุนอีกมาก (อ่านเรื่องประกอบหน้า 16 ) อนึ่ง วันที่ 8-9 สิงหาคม นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยรวม 1.2 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะวันที่ 8 สิงหาคม ที่ซื้อสุทธิมากถึง 6.8 พันล้านบาท ถือเป็นการซื้อมากที่สุดในรอบหลายปี

คลังยันจีดีพีครึ่งหลังใส

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผย ฐานเศรษฐกิจ แนวโน้มการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะไตรมาสที่ 3-4 จะเห็นความชัดเจนกว่าครึ่งปีแรก โดยเฉพาะไตรมาสที่ 4 ที่จะต้องเร่งผลักดันให้เกิดการลงทุนของภาครัฐมากขึ้น พร้อมยืนยันการลงทุนภาคเอกชนจะไม่ช้าเหมือนครึ่งปีแรกอีก เมื่อผ่านการลงประชามติแล้ว เอกชนจะลงทุนอย่างจริงจังหลังจากที่อั้นมานาน

"ตอนนี้ยังไม่มีใครหรือเอกชนแม้แต่รายเดียวที่ออกมาบอกว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะขยายตัวต่ำกว่าครึ่งปีแรก โดยเฉพาะตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่ไตรมาสที่ 2 จะเป็นไตรมาสที่ขยายตัวได้สูงสุดของปีนี้ ส่งผลต่อเนื่องทำให้ไตรมาสที่ 3-4 เศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสขยายตัวได้ต่อเนื่อง"

 กรุงศรีฯเชื่อเอกชนพร้อมใส่เงิน

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)(บมจ.)กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาส2/59ยังคงประมาณการเติบโตไว้ที่v3.3% โดยทั้งปีอยู่ที่ 3.2% ซึ่งครึ่งหลังอุปสงค์ภายในประเทศจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงรายได้เกษตรกรที่เริ่มปรับตัวในฤดูเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ เทียบกับระยะเวลารัฐบาลที่คงอยู่ ทั้งโครงการขนาดเล็กและขนาดกลางมีมูลค่าการลงทุน 7.2 แสนล้านบาท ซึ่งมีทั้งโครงการที่ผ่านการศึกษาใกล้อนุมัติ คาดว่าจะเริ่มดำเนินงานก่อสร้างก่อนรัฐบาลใหม่ เหล่านี้จะเป็นความต่อเนื่องในการลงทุนที่มีเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าหลังการเลือกตั้งปีหน้าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักของเมืองไทยคือ ความสามารถในการแข่งขันนั้นสำคัญมากกว่าการแข็งหรืออ่อนของค่าเงิน โดยนโยบายการเงินนั้นช่วยดูแลป้องกันความเสี่ยงเพียงระยะสั้นเท่านั้น แต่หากมองในระยะยาวภาครัฐต้องทำให้คนหรือผู้ประกอบการเก่งขึ้น ด้วยการสนับสนุนให้ออกไปลงทุนต่างประเทศ เหล่านี้เป็นโจทย์ที่ต้องพัฒนากลไกรองรับ หรือสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันได้มากขึ้นโดยเฉพาะการแข่งขันเชิงคุณภาพ

ท่องเที่ยวหนุนรัฐเร่งแผนลงทุน

ขณะที่นายชนินทธ์ โทณวณิก ประธานคณะกรรมการบริหารบริษัทดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) และหัวหน้าทีมฝ่ายเอกชน ในคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและไมซ์ เปิดเผยว่า ประชาชนออกมารับร่างจำนวนมากดีกว่าคิดไว้ ส่งผลให้ภาคธุรกิจมีความชื่อมั่นมากขึ้น และรู้อนาคตของประเทศว่าจะเดินไปทางไหน ทำให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ มีความเชื่อมั่นในการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น แต่การลงทุนคงต้องใช้เวลาสักพัก ราว 3-9 เดือน ส่วนการท่องเที่ยวของไทยมีอัตราการเติบโตที่ดี คงไม่ได้รับผลกระทบอะไร โดยจากนี้ไปจนถึงก่อนเลือกตั้ง รัฐบาลควรเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจ ผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งที่ผ่านมาเดินทางถูก และต้องเร่งให้เห็นผลในทางปฏิบัติ

ค่ายรถชี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายโทชิอากิ มาเอคาวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์อีซูซุในประเทศไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ก่อนหน้าจะมีการลงประชามติก็ไม่ได้มีความกังวลใจอะไร เพราะรู้จักประเทศไทยดี แม้คนตะวันตกจะมองว่า ปัจจุบันไทยอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลทหาร แต่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็รู้ว่า นี่เป็นประชาธิปไตยแบบไทย ๆ และผลการลงประชามติ ออกมาแบบนี้นับว่า เป็นผลตอบรับที่ดีมาก มีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวมากขึ้น สำหรับอีซูซุก็ยังลงทุนผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศและเพื่อการส่งออก รวมทั้งยังลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาต่อเนื่อง

ครึ่งหลังอสังหาฯแห่เปิดโครงการ

วงการอสังหาฯก็มั่นใจ นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนอย่างมาก โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ ในส่วนของภาคอสังหาฯคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี ผู้ประกอบการเดินหน้าเปิดตัวโครงการใหม่ต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดมีความคึกคักเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนที่ซื้ออสังหาฯเพื่อการลงทุน แต่สำหรับผู้บริโภคระดับล่าง อาจต้องใช้เวลา เนื่องจากปัญหาหนี้สินภาครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

[caption id="attachment_84052" align="aligncenter" width="386"] นายสแตนลีย์ คังประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) และผู้จัดการอาวุโสบริษทั ทุนเทก็ ซ์ เทก็ ซ์ไทล์ (ประเทศไทย)จำกัด นายสแตนลีย์ คังประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) และผู้จัดการอาวุโสบริษทั ทุนเทก็ ซ์ เทก็ ซ์ไทล์ (ประเทศไทย)จำกัด[/caption]

หอการค้าต่างชาติเห็นแนวโน้มที่ดี

เช่นเดียวกัน นายสแตนลีย์ คังประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) และผู้จัดการอาวุโสบริษทั ทุนเทก็ ซ์ เทก็ ซ์ไทล์ (ประเทศไทย)จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าเสียงส่วนใหญ่รับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจกับสิ่งที่รัฐบาลได้ทำมา และนี่เป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับไทย

อย่างไรก็ตาม ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศ หกล่าวต่อไปว่า ถึงแม้การลงประชามติจะผ่านพ้นไปแล้วด้วยดีแต่ในขณะนี้เศรษฐกิจโลกในภาพรวมไม่ดีเท่าที่ควร สิ่งที่รัฐบาลจะต้องสร้างความมั่นใจต่อจากนี้ไป คือ ต้องมีนโยบายที่ชัดเจน มีความโปร่งใส และมีสมรรถภาพต้องสร้างความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นถนน ท่าเรือ สนามบินโดยรัฐบาลต้องเป็นผู้นำในการลงทุน จึงจะขับเคลื่อนโครงการได้เร็ว

เอ็กซิมฯเตือนคู่ค้าเบี้ยวหนี้เพิ่ม

ด้านนายจารุพัฒน์ พานิชยิ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายรับประกันความเสี่ยงการส่งออก ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.หรือเอ็กซิมแบงก์) กล่าวว่า สถานการณ์ประกันความเสี่ยงทางการค้าปีนี้มีมูลค่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนแตกต่างเพียงหลัก 10 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนความเสียหายถือว่าอยู่ในระดับต่ำเพียง 2 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มากกว่า 8 ล้านบาท ซึ่งเป็นคู่ค้าในยุโรปและออสเตรเลีย อย่างไรก็ตามกรณีอังกฤษนั้น ปัจจุบันยังคงใช้สิทธิทางการค้าหรือการลงทุนอียู จึงต้องรอดูผลหลังจบกระบวนการออกจากสมาชิกภาพอียู ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งช่วงนั้นคงจะเห็นผลกระทบที่ชัดเจนขึ้น แต่ในแง่ของความเสี่ยงนั้น ไม่เพียงด้านกาส่งออกเท่านั้น กระทั่งการซื้อขายภายในประเทศก็ต้องระวัง เพราะตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาพบว่า ผู้ซื้อในประเทศมีการเบี้ยวหนี้มากขึ้น ทำให้เอ็กซิมแบงก์ต้องรับความเสี่ยง หรือต้องจ่ายค่าพรีเมียมสูงขึ้น 2-3 เท่า

S&P ยังกังวลคงเรตติ้งไทย BBB+

นอกจากนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา รายงานของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สแตนดาร์ด แอนด์พัวร์ส (S&P)โกลบอล เรตติ้งส์ ระบุว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยยังอยู่ในระดับสูงอย่างมีนัยสำคัญ และผลการลงมติก็ทำให้ความไม่แน่นอนดังกล่าวลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น รายงานระบุว่าอนาคตยังคงไม่แน่ชัดว่า สุดท้ายแล้วการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นนั้น จะทำให้ไทยมีรัฐบาลใหม่ที่สามารถเชื่อมประสานความขัดแย้งทางการเมืองที่มีอยู่ และจะสามารถขับเคลื่อนนโยบาย ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยพัฒนาไปอย่างแข็งแรงอีกครั้ง

ทั้งนี้ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์สคงอัตราความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลไทยไว้ที่ BBB+ และสถานะคงที่ซึ่งอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ BBB

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,182 วันที่ 11 - 13 สิงหาคม พ.ศ. 2559