สศช.ฟันธงจีดีพีโตตามเป้า โครงสร้างพื้นฐานเงินสะพัด

11 ส.ค. 2559 | 03:00 น.
สศช.มั่นใจจีดีพีทั้งปีเป็นไปตามเป้าที่ 3-3.5 % ช่วงครึ่งปีหลังได้แรงหนุนจากโครงสร้างพื้นฐาน ที่เริ่มก่อสร้างมีเม็ดเงินเข้าระบบ การเบิกจ่ายภาครัฐได้ตามเป้า ขณะที่บีโอไอมั่นใจการลงทุนคึกคักมีกฎหมาย 4 ฉบับ ให้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นช่วยกระตุ้น ส่วนส.อ.ท.ยังห่วงภาวะการส่งออกยังไม่ดีจากภาวะเศรษฐกิจโลก

ดร.วิชญายุทธ บุญชิต รักษาการที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยภายในงานสัมมนา"ถอดรหัสเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 2559" จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ที่ผ่านมาว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ทางสศช.จึงยังมีความมั่นใจว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ(จีดีพี) ในช่วงครึ่งปีหลัง 2559 น่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องและทำให้มั่นใจว่าทั้งปีจีดีพีน่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 3-3.5 %

ทั้งนี้ เป็นผลจากการลงทุนของภาครัฐในปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12 % หรือคิดเป็นสัดส่วนที่ทำให้จีดีพีขยายตัวได้ 0.67 % โดยเป็นงบที่ใช้ลงทุนในโครงการสำคัญ ได้แก่ การลงทุนขนาดใหญ่ด้านคมนาคม ที่จะมีการเบิกจ่ายงบทั้งปีราว 3.5 หมื่นล้านบาท การบริหารจัดการน้ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท บวกกับงบลงทุนเร่งด่วนอีกกว่า 5 พันล้านบาท การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 4 โครงการ เช่น รถไฟรางคู่ มอเตอร์เวย์ ที่เริ่มก่อสร้างแล้ว 10 % ราว 5 หมื่นล้านบาท และอยู่ระหว่างการประกวดราคาอีก 7 โครงการ ที่จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการก่อสร้างในครึ่งปีหลัง เช่น มอเตอร์ 2 สาย รถไฟฟ้าสายสีเหลือง สีชมพู รถไฟรางคู่ เป็นต้น มูลค่ากว่า 4.5 แสนล้านบาท และอยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)อีก 5 โครงการมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท

ขณะที่การเบิกจ่ายงบการลงทุนของภาครัฐเป็นไปตามเป้าหมาย ประกอบกับมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลใน 10 มาตรการ น่าจะทำให้เกิดการเบิกจ่ายงบอีกไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท จากช่วงครึ่งปีแรกใช้ไปแล้วราว 9 หมื่นล้านบาท อีกทั้ง ราคาน้ำมันที่ปรับตัวอยู่ในระดับ 40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และรายได้ภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้น จะช่วยให้เกิดกำลังซื้อในประเทศมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาภาวะเศรษฐกิจโลกที่เป็นผลกระทบจากการที่อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป(Brexit) เพราะขณะนี้เริ่มที่จะส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกแล้ว รวมถึงค่าเงินที่ผันผวนแข็งค่ามากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกได้

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนโยบายการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) กล่าวว่า ภาวการณ์ลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะมีความคึกคักมากขึ้น จากการที่รัฐบาลมีมาตรการเร่งรัดการลงทุนต่างๆ ออกมา และยังจะมีกฎหมายใหม่อีก 4 ฉบับที่กำลังจะออกมารองรับการลงทุน ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายที่อยู่ภายใต้การดูแลของบีโอไอ อย่างพ.ร.บ.บีโอไอ ที่จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 8 ปี เป็น 13 ปี และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่จะให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 15 ปี ซึ่งทั้ง 2 ฉบับได้ผ่านการพิจารณาของกฤษฎีกาแล้ว เพื่อเสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ซึ่งคาดว่าน่าจะมีผลใช้บังคับได้ก่อนสิ้นปีนี้ รวมถึงพ.ร.บ.จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านการลงทุนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก และพ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ที่รอการเข้าสู่การพิจารณาของครม.ในเร็วๆนี้ ดังนั้น ทางบีโอไอจึงมีความมั่นใจว่าการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในปีนี้จะเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 4.5 แสนล้านบาท จากครึ่งปีแรกมีเข้ามาแล้ว 3.03 แสนล้านบาท

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ชี้ให้เห็นว่า ภาวะการส่งออกของประเทศในช่วงครึ่งปีหลัง ยังเป็นสิ่งที่ท้าทาย เพราะหลายสาขาอุตสาหกรรมยังปรับตัวไม่ดีขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ค่อนข้างผันผวน การส่งสินค้าไปประเทศคู่ค้าหลักๆ ไม่ค่อยดีนัก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา จีน ยุโรป และญี่ปุ่น อีกทั้ง Brexit ที่จะต้องรอการเจรจาของอังกฤษกับสหภาพยุโรปไปจนถึงสิ้นปีนี้ว่าจะออกมาอย่างไร แต่ขณะนี้ผลกระทบดังกล่าวส่งผลต่อเงินบาทที่แข็งค่ามาอยู่ระดับ 34.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จะทำให้ผู้ส่งออกมีปัญหา การแข่งขันสูงขึ้น และส่งสินค้าได้น้อยลง ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยการหันมาลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,181 วันที่ 7 - 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559