‘สมคิด’ ชวนครม.ตั้งโต๊ะ ลงทะเบียน ‘พร้อมเพย์’

09 ส.ค. 2559 | 02:00 น.
รองนายก “สมคิด”เข็นนโยบายเทคโนโลยีดูแลประชาชน ประสานเสียงครม.ตั้งโต๊ะลงทะเบียน “พร้อมเพย์”เรียกเชื่อมั่น พร้อมสั่งคลังแบ่ง 4 กลุ่มงานสานนโยบายครึ่งปีหลัง “ลดเหลื่อมล้ำ-เพิ่มความสามารถแข่งขัน-โปร่งใส-สังคม”รองรับปฏิรูปประเทศ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมอี-เพย์เมนต์(วันที่ 4 สิงหาคม2559) ว่า ทราบว่ามีผู้ลงทะเบียนแล้วประมาณเกือบ 2 ล้านราย ภายหลังจากที่เปิดให้ลงทะเบียน “พร้อมเพย์” อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 ส่วนตัวต้องการให้ประชาชนเห็นความสำคัญและเข้ามาลงทะเบียนก่อนที่จะครบกำหนดวันที่ 15 สิงหาคมนี้ เพื่อให้ระบบมีความพร้อมและสามารถใช้งานตามกำหนด(ระบบจะเริ่มบริการโอนเงินตั้งแต่วันที่ 31ตุลาคม 2559) จึงเตรียมที่จะประสานคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ในระยะต่อไป โดยในที่ประชุมได้สั่งการให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ดร.วิรไท สันติประภพ) หารือเลขาธิการครม. ตั้งโต๊ะลงทะเบียนเพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในการใช้งานต่อไป

นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ผู้บริหารกระทรวงการคลังหาแนวทางดำเนินงานครึ่งปีหลัง โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 กลุ่มงานประกอบด้วย กลุ่มงานลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเข้มแข็ง , กลุ่มงานเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน, กลุ่มงานสร้างความโปร่งใส เพิ่มธรรมาภิบาล และกลุ่มงานเพื่อสังคม โดยเฉพาะเรื่องการให้ความช่วยเหลือคนยากจน เหล่านี้เพื่อรองรับในการปฏิรูปประเทศ ขณะเดียวกันได้มอบหมายสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้เร่งผลักดันโครงการต่าง ๆเข้าสู่กระบวนการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) ทั้งนี้เพื่อนำเข้าสู่กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ภายในไตรมาส 4 ของปีนี้

“รัฐบาลมุ่งต่อยอดอุตสาหกรรมรถยนต์และอยากเร่งอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า และไฮบริดก็เร่งให้เข้ามาลงทุน โดยได้หารือเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีสรรพสามิตเป็นการจูงใจเพื่อปูพื้นฐานอนาคต”

ต่อประเด็นดังกล่าวนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า รถยนต์ไฮบริดเป็นอุตสาหกรรมแรกที่จะเข้ามาต่อยอดใน 5 อุตสาหกรรมเก่า สิ่งสำคัญคือ การลงทุนในส่วนของแบตเตอรี่ ต้องอยู่ในแพ็กเกจที่จะส่งเสริมการลงทุนโดยทางกรมสรรพสามิตจะประเมินมาตรการจูงใจด้านภาษี โดยต้องหารือร่วมกับบีโอไอ ทั้งนี้เพื่อแยกความชัดเจนไม่ให้มาตรการภาษีที่กระทรวงการคลังจะออกมาซ้ำซ้อนกัน ขณะที่การทำให้เป้าหมายไทยก้าวขึ้นเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนและฐานการผลิตรถยนต์ไฮบริดนั้น ทางค่ายรถที่สนใจจะต้องมีผลศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเกี่ยวกับแบตเตอรี่ ตลอดจนจำนวนความต้องการรถยนต์ที่ชัดเจน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,181 วันที่ 7 - 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559