อะไรที่ควรเก็บหรือควรทิ้ง

08 ส.ค. 2559 | 14:00 น.
อย่างที่ได้พูดในครั้งก่อนครับว่าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ระดับ SMEs ที่เดินตามทางเหมือนรายใหญ่จะยากและเหนื่อยมาก สู้หันมาบุกเบิกเส้นทางที่กำหนดเอง แล้วแข็งแรงอย่างสตรองในจุดที่ยืน คือกลยุทธ์ที่น่าสนใจและเหมาะสมกว่า ครั้งนี้เรามาดูกันว่าอะไรที่ SMEs อย่างเราควรทิ้งและควรเก็บ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้แข่งขันได้

ที่ดินคือหัวใจ

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ดินสำคัญมาก การได้ที่ดินดีๆ มาครอบครองถือว่าสำคัญมาก เปรียบได้ว่าประสบความสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง ที่ดินแปลงสวย คิดโครงการแบบไหนก็ดูเหมาะเจาะ โดยรายใหญ่เหมือว่าจะโชคดีกว่า SMEs ตรงที่มีกำลังซื้อ นายหน้าจึงวิ่งเข้าหาเสนอขายที่ดิน ทำให้ยิ่งมีอำนาจต่อรองสูงขึ้น แต่ SMEs สตรองกว่าตรงจุดโฟกัส อาทิ เลือกอยู่ในพื้นที่ที่มีความชำนาญ รู้ลึก รู้จริง แปลงไหนสวยธรรมชาติ แปลงไหนดัดแปลงอีกนิดหน่อยก็เพิ่มมูลค่าได้ หากใช้จุดแข็งตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ เชื่อว่าสามารถแข่งขันกับรายใหญ่ได้แน่นอน โดยเฉพาะต่างจังหวัด เราจะเห็นภาพรายใหญ่ที่ไม่ใช่เจ้าถิ่น พลาดท่ามาแล้วหลายต่อหลายราย

เครือข่าย คือสมอง

ที่ดิน คือ หัวใจ เครือข่าย (Connection) คือ สมอง ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ถ้าสังเกตจากรายใหญ่ จะเห็นว่า รายใหญ่เป็นเพื่อนกันหมด รายใหญ่มีสมาคม มีกลุ่มก้อนที่กลมเกลียว ต่างกับ SMEs ที่ทำคนเดียว รวยคนเดียว เพื่อนน้อย ซึ่งจริงๆ ต้องออกมาหาเพื่อน เข้าสมาคม หาพันธมิตรที่ทำธุรกิจเดียวกัน แชร์ประสบการณ์และองค์ความรู้ร่วมกัน เพิ่มอำนาจต่อรองทางธุรกิจ เช่น หากอยู่ต่างจังหวัด ก็เข้าสมาคมของแต่ละจังหวัด ไปหาข้อมูล หาความเคลื่อนไหวของตลาด หรือ รวมตัวกันสั่งวัสดุก่อสร้างเพื่อให้เกิด Economy of scale เป็นต้น

นอกจากนี้การเลือกพันธมิตรทางด้านแหล่งเงินทุน ก็ถือว่าสำคัญไม่แพ้กัน แหล่งเงินทุนหรือธนาคารที่มีความเชี่ยวชาญ เข้าใจ และทำธุรกิจนี้อย่างจริงจัง จะได้เป็นตัวเสริมให้ท่าน ทั้งในด้านความคิด เพราะสถาบันเหล่านี้มักต้องมีข้อมูล มีทีมวิจัย เครือข่ายประเภทนี้ก็จะสามารถเติมเต็มประสิทธิภาพ พร้อมทั้งร่วมขับเคลื่อนธุรกิจ SMEs ให้แข่งขันได้

ตัด ต้องขาด

ด้วยหัวใจที่เป็นยอดนักสู้ของ SMEs บางครั้ง บางการตัดสินใจ กลายเป็นจุดหักเหของการดำเนินธุรกิจ ทันทีที่สัญญาณไม่ดีก่อตัวขึ้น หัวใจของผู้ประกอบการไม่เคยสั่งให้ถอย ซึ่งหากไม่ยึดติดเรื่องการเสียหน้า แล้วพินิจพิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนว่าปัญหาเกิดจากอะไร เช่น ออกแบบผิด (แก้เลยได้ไหม) สินค้าไม่ตอบโจทย์ (ปรับทันไหม) ซึ่งต้องถอยออกมาหาให้เจอ เจอแล้วต้องแก้ไข หรือแม้กระทั่งอาจต้องเลิกให้เป็น สำหรับธนาคารมองว่า SMEs มีความเป็นมืออาชีพ มีความรับผิดชอบอยู่แล้ว การสู้จนถลำลึกไปอาจไม่ใช่ทางออกที่ดี และอาจนำมาซึ่งปัญหาอีกมากมาย แตกต่างกับรายใหญ่ เมื่อถึงจุดที่ต้องถอย เค้าจะถอยทันที ทั้งลดราคา คืนเงิน หรือแม้กระทั่งออกข่าวว่าชะลอ หรือ ยกเลิกโครงการเลยก็มี กลับทำให้ผู้ถือหุ้นของรายใหญ่ คนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งธนาคารผู้สนับสนุนทางการเงิน มองว่าทีมผู้บริหารมีความระมัดระวังในการทำธุรกิจ

สเต็ป สตรอง

สำหรับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ SMEs ผมขออนุญาตนำวิธีวิเคราะห์ของ คุณบรรยง พงษ์พานิช มาวิเคราะห์ ซึ่งท่านมองว่า SMEs สามารถจะแบ่งกลุ่มการเติบโตได้ประมาณ 4 ประเภท คือ

1. โตเข้าตลาด ผู้ประกอบการกลุ่มนี้เป้าหมายชัดเจน คือตั้งใจที่จะโตเพื่อเป็นมหาชน นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหลายรายที่ไปไกล ไปถึงและทำได้ดี บางรายก็เหนื่อยเพราะเป็นรายเล็กมาก (ด้วยประสบการณ์ในตลาดทุนที่ท่านมี ท่านคิดว่าการจะเป็น บมจ. ที่หุ้นจะมีสภาพคล่องในการซื้อขาย และเป็นที่สนใจของนักลงทุนรายใหญ่ ควรมี Market Cap 5,000 ล้านบาทขึ้นไป) ทำให้เหนื่อยมาก ระดมทุนอยาก ต้องสร้างสมรรถนะทางการแข่งขันที่ดี สร้างความเชื่อมั่น น่าเชื่อถือ ให้นักลงทุนให้ได้

2. สตรองในจุดที่ยืน ขอโตในจุดที่ยืน เน้นสร้างจุดแข็งทางธุรกิจ ทำโครงการไม่เกินตัว มีทีมงานที่เข้มแข็ง พร้อมแข่งกับรายใหญ่ หากเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาดในพื้นที่ ข้อนี้เสริมข้อคิดเดิมที่ผมเคยย้ำในครั้งนี้แล้วอีกครั้ง

3. Diversify กลุ่มนี้ ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประสบความสำเร็จพอสมควร แต่ไม่เน้นโตทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างเดียว มีการกระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน ส่วนมากเลือกธุรกิจที่มีรายได้ค่อนข้างแน่นอน ไม่ผันผวนตามเศรษฐกิจ

4. รอโอกาส กลุ่มนี้เน้นชัวร์ ลงทุนพัฒนาโครงการก็ต่อเมื่อเจอที่ดินหรือทำเลที่ดีจริงๆ หรือรอโอกาสให้มีคนเห็นความสามารถ หรือความโดดเด่นในการทำตลาด แล้วมีคนมาขอซื้อกิจการ หรือควบรวมกิจการ

มาถึงตรงนี้ ผู้ประกอบการ SMEs คงพอจะได้แนวทางนะครับว่าอะไรที่ SMEs ควรเก็บ และอะไรที่ควรทิ้ง ตั้งเป้าหมายที่จะไปให้ชัด แล้วจับกลุ่มเดินไปอย่างแข็งแกร่งพร้อมๆ กันครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,181 วันที่ 7 - 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559