กัมพูชารับเงิน ‘หยวน’ นโยบายดูดนักท่องเที่ยวจีน 2 ล้านคน/ปี

04 ส.ค. 2559 | 04:00 น.
กระทรวงท่องเที่ยวกัมพูชาวางยุทธศาสตร์ดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศรับเงินหยวนของจีน ตั้งเป้าเพิ่มนักท่องเที่ยวจากจีนให้ถึง 2 ล้านคนต่อปีภายในปี 2563

หนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ อ้างรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์ขะแมร์เดลี่ว่า กระทรวงท่องเที่ยวกัมพูชา ได้จัดทำเอกสารปกขาวเพื่อเตรียมพร้อมประเทศรับนักท่องเที่ยวจากจีน โดยหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญคือการผลักดันให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศรับเงินหยวน สำหรับการใช้จ่ายต่าง ๆ ของนักท่องเที่ยวแบบเดียวกับที่เคยรับเงินดอลลาร์ของสหรัฐอเมริกา

นายติด จันทา (TithChantha) เลขานุการกระทรวงท่องเที่ยวกัมพูชา กล่าวว่า “การรับเงินหยวนเหมือนกับการรับเงินดอลลาร์ ไม่ต่างกัน แต่รับเงินหยวนช่วยดึงนักท่องเที่ยวจีน และยังช่วยนักธุรกิจท้องถิ่นไม่ต้องเสียเวลามาคอยแลกเปลี่ยนเงินด้วย”

ไชน่าเดลี่ ระบุว่า เอกสารปกขาวในชื่อ “China Ready for Cambodia Tourism” เป็นรายละเอียดแผนงาน 5 ปีของกระทรวงท่องเที่ยวกัมพูชา ในการเพิ่มนักท่องเที่ยวจีนโดยตั้งเป้าที่ 2 ล้านคนต่อปีภายในปี 2560

ขณะนี้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวกัมพูชามากที่สุดคือเวียดนาม ตามมาด้วยนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มีนักชาวจีนเยือนกัมพูชา 275,000 คนเพิ่มขึ้น 13.6 % เทียบกับ 4 เดือนปีที่แล้ว

ในปี 2558 มีนักท่องเที่ยวจีนเยือนกัมพูชา 694,712 คนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 24 % โดยองค์การท่องเที่ยวโลกของสหประชาชาติทำนายว่า ชาวจีนจะเป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของโลกภายในปี 2563 ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยว 200 ล้านคน

ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์ขะแมร์ไทม์ส รายงานว่านอกจากจะให้นักท่องเที่ยวชาวจีนใช้เงินหยวนได้แล้ว กระทรวงท่องเที่ยวยังได้ทำสัญญาเอ็มโอยูกับสถาบันขงจื้อแห่งโรยัลอะคาเดมีออฟกัมพูชา เปิดหลักสูตรสอนภาษาจีนและให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค แก่กระทรวงท่องเที่ยวของกัมพูชา

นายทอง คูณ รัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยวให้สัมภาษณ์ว่า สัญญาเอ็มโอยู จะช่วยให้เจ้าหน้าที่และนักศึกษาทางด้านท่องเที่ยวและไกด์ทัวร์ มีโอกาสได้เรียนภาษาจีน“ประเทศของเราต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับนักท่องเที่ยว คนทำงานบนเครื่องบิน เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ไกด์ทัวร์ พนักงานภัตตาคารโรงแรมและคนทำงานกับนักท่องเที่ยวเช่นคนขายตั๋วเข้าชมนครวัด จะต้องพูดภาษาจีนได้”

นายทอง คูณ กล่าวว่า ขณะนี้มีเที่ยวบินโดยตรงจากภาคใต้และตอนกลางของจีน 15 เที่ยวบิน มาที่พนมเปญ และ 20เที่ยวบินไปที่เสียมราฐทุกวัน และควรจะมีเพิ่มขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,180 วันที่ 4 - 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559