‘คิงฟูดกรุ๊ป’ตั้งธงโต40% เพิ่มพอร์ตสินค้ายกระดับแบรนด์อาหาร-เครื่องดื่ม

24 ก.ค. 2559 | 06:00 น.
เปิดยุทธศาสตร์ “คิง ฟูด กรุ๊ป” เร่งสปีดยกระดับสู่แบรนด์ชั้นนำด้านอาหาร-เครื่องดื่ม เดินหน้าโกยรายได้5,000 ล้านบาท ในปี 2562 พร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หวังต่อยอดสร้างแบรนด์ร้านอาหารไทยโกอินเตอร์ เล็งอัดงบ 200- 300 ล้านบาท สยายปีกแบรนด์ดัง “คริสปี้ ครีม-ซินนามอน” ตะลุยต่างจังหวัด ล่าสุดคว้า2 แบรนด์ใหม่ “แจมบ้าจุ้ยส์-IHOP” เสริมพอร์ตธุรกิจมั่นใจดันยอดขายสิ้นปีโต 40%

[caption id="attachment_74036" align="aligncenter" width="700"] บริษัทในเครือ คิง ฟูด กรุ๊ป จำกัด บริษัทในเครือ คิง ฟูด กรุ๊ป จำกัด[/caption]

ดร.อุษณีย์ มหากิจศิริ ลีโอณีโอ ประธานกรรมการ บริษัท คิง ฟูด กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารร้านขนมและอาหารชื่อดัง อาทิ โดนัทคริสปี้ ครีม,ซินนามอนเบเกอรี่,บลูโกกิ บราเธอร์ส, พาย เฟซ ฯลฯ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า บริษัทวางเป้าหมายที่จะมีรายได้ 5,000 ล้านบาท ภายในปี 2562 รวมทั้งการเป็นองค์กรที่มีความพร้อมในด้านพนักงานและการบริการที่มีคุณภาพ และผลักดันให้เป็นองค์กรชั้นนำในด้านอาหารและเครื่องดื่มของเมืองไทย โดยมีพอร์ตสินค้าหลากหลายครอบคลุมเป็นที่รู้จักและจดจำของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี และ เพื่อรองรับการเติบโตในธุรกิจ บริษัทมีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วย

"หลังจากที่บริษัทอยู่ในตลาดมาเป็นระยะเวลา 6 ปี และสามารถสร้างการเติบโตจนมีแบรนด์ที่หลากหลายครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่แบรนด์ขนม เบเกอรี่ ไปจนถึงเครื่องดื่ม และอาหารมื้อหลักเป้าหมายต่อไปของบริษัทคือการพัฒนาแบรนด์ขึ้นมาเอง เบื้องต้นมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาแบรนด์ร้านอาหารไทยเพื่อต่อยอดทางธุรกิจและสร้างความหลากหลายให้กับพอร์ตสินค้าภายในเครือ โดยเบื้องต้นบริษัทมุ่งโฟกัสแบรนด์ใหม่ที่มีให้แข็งแกร่งเสียก่อน ส่วนแบรนด์ร้านอาหารไทยหากมีการพัฒนาขึ้นมาจะเป็นการใช้เป็นแบรนด์เพื่อทำตลาดในต่างประเทศ เนื่องจากธุรกิจอาหารไทยในต่างประเทศกำลังเติบโตและได้รับความสนใจ "

ขณะที่แผนการลงทุนต่อจากนี้จะใช้งบประมาณทั้งสิ้นราว 200-300 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมาที่ใช้ 100 ล้านบาท ในการทำกิจกรรมทางการตลาดและขยายสาขาแบรนด์ต่างๆ ประกอบไปด้วย คริสปี้ ครีม แบรนด์โดนัทชื่อดังจากสหรัฐอมเริกาที่สร้างประวัติศาสตร์กับการต่อแถวยาวเหยียดเพื่อซื้อโดนัทเมื่อ 6 ปีก่อน โดยปีนี้จะขยายสาขาเพิ่ม 3-5 แห่ง จากปัจจุบันที่มี 24 แห่ง,ซินนามอน ร้านเบเกอรี่ชื่อดังจากสหรัฐอมเริกาที่เริ่มเข้ามาขยายสาขาแรกในเมืองไทยเมื่อปี 2557 ซึ่งปัจจุบันมี 10 แห่ง และจะขยายเพิ่มอีก 3 แห่ง ,พายเฟซ ร้านเบเกอรี่ประเภทพาย ทาร์ต จากออสเตรเลีย โดยปัจจุบันที่มีอยู่ 4 แห่ง และจะขยายเพิ่มอีก 3 แห่ง และมีแผนเปิดตัว 2 แบรนด์ใหม่ คือ แจมบ้าจุ้ยส์ เชนร้านเครื่องดื่มประเภทน้ำผัก ผลไม้ปั่นจากสหรัฐอเมริกา และ IHOP (International House of Pancakes) ร้านเบเกอรี่ และแพนเค้กดังจากสหรัฐอเมริกาเช่นกัน โดยทั้งสองแบรนด์จะเปิดให้บริการสาขาแรกในปลายเดือนกรกฏาคมนี้ ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน

นอกจากนี้ยังมีแบรนด์บลูโกกิ บราเธอร์ส ร้านอาหารเกาหลี ซึ่งได้สิทธิ์แฟรนไชส์จากประเทศเกาหลี ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 2 แห่ง ในศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ และ Zpell โดยเบื้องต้นบริษัทจะเน้นการสร้างแบรนด์ ให้เป็นที่รู้จัก และแข็งแรงก่อนที่จะขยายสาขาเพิ่ม โดยที่ผ่านมาถือว่ามีการเติบโตอย่างรวดเร็วและเป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ดี บริษัทยังเตรียมเปิดให้บริการในรูปแบบเดลิเวอรี่ โดยนำผลิตภัณฑ์ในเครือทั้งแบรนด์พายเฟซ , ซินนามอน มาให้บริการส่งตรงถึงจุดหมาย รวมทั้งบริการจัดเลี้ยงอาหารว่าง (Snack Box) สำหรับงานประชุม หรืองานสังสรรค์ เป็นต้น โดยคาดว่จะสามารถให้บริการได้ภายใน 2 เดือนข้างหน้า

"บริษัทให้ความสำคัญกับการขยายสาขาและสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ในเครือบริษัททุกแบรนด์อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งทั้ง 6 แบรนด์ก็เปรียบเสมือนลูกของเราที่มีหน้าที่ต้องดูแลเพื่อให้แข็งแกร่งและอยู่รอดให้ได้ ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันแต่ละแบรนด์มีสาขาอยู่ในกรุงเทพเป็นหลัก แต่บริษัทมีแผนจะขยายสาขาไปยังต่างจังหวัดที่มีกำลังซื้อสูงเพิ่มเติม โดยเบื้องต้นจะนำแบรนด์คริสปี้ ครีมไปเปิดให้บริการในหัวเมืองหลัก เช่น นครราชสีมา ฯลฯ และเมืองท่องเที่ยว เช่น หัวหิน ฯลฯ แต่ทั้งนี้ยังต้องศึกษาระบบการขนส่งเพื่อให้สินค้าคงคุณภาพให้ที่ดีสุด"ดร.อุษณีย์ กล่าวและว่า

สำหรับแผนการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักนั้น นอกจากกลยุทธ์การบอกต่อ แบบ"ปากต่อปาก" ที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ทำให้เกิดการซื้ออย่างต่อเนื่อง ถือเป็นกลยุทธ์ที่เห็นผลและสามารถสร้างความเชื่อถือในระยะยาว อีกกลยุทธ์ที่ถือว่ามีความสำคัญมากคือ โซเชี่ยลมีเดีย ซึ่งที่ผ่านมามีการนำมาใช้ในการสร้างแบรนด์ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นทาง facebook , Instragram และเว็ปไซต์ ต่างๆ เป็นต้น เพราะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย

ด้านผลประกอบการของบริษัทในปีนี้ ตั้งเป้าหมายที่จะมีการเติบโตรวม 40% เนื่องจากมองว่าผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายที่เป็นระดับกลาง-บนยังมีกำลังซื้อที่ดี แม้ช่วงต้นปีที่ผ่านมาภาพรวมตลาดร้านอาหารน่าจะมีการเติบโตได้มากกว่านี้ แต่ได้รับผลกระทบจากผู้บริโภคที่ชะลอการจับจ่าย ขณะที่ปัจจัยที่น่ากังวลยังคงเป็นเรื่องของค่าเงินบาทที่ผันผวนตั้งแต่ช่วงต้นปี ทำให้บริษัทต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากวัตถุดิบส่วนใหญ่ซึ่งเป็นวัตถุดิบนำเข้า ขณะที่การบริหารจัดการภายในที่ดีที่สุดในขณะนี้คือการประกันความเสี่ยงด้วยการสั่งซื้อล่วงหน้าตั้งแต่ 3-6 เดือน เป็นต้น ซึ่งหากค่าเงินบาทอ่อนตัวลงมาที่ 38 บาทต่อดอลล่าร์ จะส่งผลต่อต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นซึ่งบริษัทจะแบกรับราคาต้นทุนไม่ไหว และมีการปรับราคาอาหารในร้านเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5-10%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,176 วันที่ 21 - 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2559