'สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา' ถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนโดย SCG

05 ก.ค. 2559 | 11:00 น.
"เพราะน้ำคือต้นตอแห่งความสุข"สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา พลิกฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์แก่ผืนป่าและธารน้ำด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำแบบผสมผสานบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับเป้าหมายของภาครัฐในการปักหมุดระยองให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ อันนำมาสู่การสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน"

[caption id="attachment_67355" align="aligncenter" width="500"] รักษ์น้ำเพื่ออนาคต รักษ์น้ำเพื่ออนาคต[/caption]

"รักษ์น้ำเพื่ออนาคต" คุณอาสา สารสิน ประธานคณะกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี ฉายภาพถึงความเป็นมาของ "สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา" ว่า ในอดีตเขายายดาประสบปัญหาป่าไม้เสื่อมโทรม เกิดวิกฤติภัยแล้งขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค ชาวบ้านได้รับผลกระทบในทุกมิติ จนกระทั่งในปี 2550 ทางเอสซีจีได้ลงพื้นที่ศึกษาผสมผสานการบูรณาการทางความคิดร่วมกับกลุ่มชาวบ้าน ผนวกกับทางองค์กรได้มีนโยบายและแนวคิดในการความสำคัญต่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำในทุกท้องถิ่น เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ทางบริษัท จึงได้น้อมนำแนวพระราชดำริการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นต้นแบบทางความคิดต่อยอดด้านการศึกษาและนำมาปฏิบัติอย่างเต็มประสิทธิภาพ ตกผลึกสู่โครงการ "SCG รักษ์น้ำเพื่ออนาคต" ซึ่งมุ่งเน้นการสนับสนุนชุมชนในการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อคืนความชุ่มชื้นให้กับผืนป่าก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์มาจนถึงปัจจุบัน

ในวันนี้ทางเอสซีจีพร้อมด้วยภาคีเครือข่ายและชาวบ้านชุมชนในท้องถิ่น ร่วมกันจัดตั้ง "สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา"ขึ้นเพื่อเป็นการถอดบทเรียนการทำงาน และรวบรวมองค์ความรู้ที่ได้จากการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ดีขึ้นบนกรอบพื้นฐานความเข็มแข็งและยั่งยืนด้วยตนเอง และยิ่งไปกว่านั้นการเปิดสถานีรักษ์น้ำดังกล่าว จะเป็นการจุดประกายให้กับผู้มาเยือนได้เกิด "การเรียนรู้" เพื่อนำแนวทางการปฏิบัติดังกล่าวไปต่อยอดในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ

"น้ำคือหัวใจของการเกษตร" คุณสมศักดิ์ สุวรรณจิต ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เปิดเผยว่า จังหวัดระยองเป็นจังหวัดนำร่องที่ทางภาครัฐต้องการพัฒนาให้เป็น "เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ" ภายในปี 2561 สอดคล้องกับโครงการ "SCG รักษ์น้ำเพื่ออนาคต" ที่เข้ามาเป็นกลไกทางความคิดครั้งสำคัญในการพลิกฟื้นพื้นที่แห่งนี้ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ยกระดับเป็น "สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา" แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศแห่งใหม่ของจังหวัดระยอง เป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างองค์กรและชุมชนที่ช่วยส่งเสริมเป้าหมายดังกล่าวของจังหวัดได้เป็นอย่างดี

"SCG รักษ์น้ำเพื่ออนาคต จาก ลำปาง สระบุรี และกาญจนบุรี สู่ สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา ผลผลิตที่ต่อยอดจากโครงการสร้างฝายชะลอน้ำแบบผสมผสานซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของเราในวันนี้" คุณชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวว่า เราร่วมกันดำเนินงานสร้างฝายชะลอน้ำในชุมชนเขายายดามากกว่า 5,400 ฝาย ทำให้ในวันนี้ชุมชนมีวิถีชีวิตที่สมบูรณ์และอยู่ร่วมอาศัยกับวิถีธรรมชาติได้อย่างสมดุล

ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวทางเอสซีจีหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็น "ต้นแบบองค์ความรู้" ในการถ่ายทอดการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพขยายไปสู่ชุมชนอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้นเราได้บูรณาการทางความคิดพัฒนาเป็น"หลักสูตรเฉพาะถิ่น"เพื่อนำมาศึกษาและถ่ายทอดให้แก่เยาวชนท้องถิ่น คิดค้นทำงานวิจัยโดยชุมชนเพื่อชุมชน และก่อตั้งเป็นกองทุนเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อม

[caption id="attachment_67354" align="aligncenter" width="500"] รักษ์น้ำเพื่ออนาคต รักษ์น้ำเพื่ออนาคต[/caption]

"สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา ป่าในเมือง"คุณมนต์ชัย คำดี ผู้จัดการชุมชนสัมพันธ์ เอสซีจี เคมิคอลส์ เล่าว่า เราตั้งเป้าหมายในการต่อยอดสร้างฝายชะลอน้ำบริเวณพื้นที่เขายายดา 18,000 ฝาย นับได้ว่าสถานีรักษ์น้ำแห่งนี้เป็นสถานีแรกในจังหวัดระยอง รวมทั้งยังเป็นสถานีรักษ์น้ำแห่งที่ 3 ของประเทศไทย จากวันแรกของการลงมือปฏิบัติสร้างฝายชะลอน้ำสถานีแห่งนี้ จวบจนถึงปัจจุบัน ชุมชนเขายายดามีความเข็มแข็งภายในชุมชน สร้างรายได้จากการเพาะปลูกผลไม้ และที่สำคัญบริเวณแห่งนี้อยู่ใกล้กับชุมชนเมืองถือได้ว่าเป็นโอกาสที่ดีในการฟื้นฟูชุมชนเมืองให้มีบรรยากาศที่บริสุทธิ์เปรียบเสมือนดั่ง "ป่าในเมือง" ที่อยู่ด้วยกันและพึงพาอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก

ด้านคุณบุญชื่น โพธิ์แก้ว เจ้าของสวนยายดา กล่าวว่า ความร่วมมือจากกลุ่มชาวบ้านในชุมชนด้วยความสามัคคีผสมผสานกับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากทางเอสซีจี สามารถช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ตนได้น้อมนำแนวพระราชดำริและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงมาปฏิบัติ เกิดเป็นการพัฒนาความรู้ด้านการเกษตรชุมชนรวมทั้งเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่

สำหรับสถานีรักษ์น้ำ เขายายดา แห่งนี้เป็นห้องเรียนสีเขียวขนาดกว้างเปิดรับการเรียนรู้เชิงนิเวศให้แก่ภาคประชาชนทุกท่าน ผ่านการจัดแสดงสถานีย่อย 8 สถานี ประกอบด้วย 1.สถานีห้องเรียนต้นน้ำเป็นสถานีต้นน้ำชายฝั่งตะวันออก 2.สถานีฝายชะลอน้ำกู้วิกฤติคือแหล่งกักเก็บน้ำที่ช่วยสร้างความสมบูรณ์ของผืนป่า 3.สถานีสวนเกษตรผสมผสานสวนเกษตรของชาวบ้านทั้งพืชผักและผลไม้ 4.สถานีบ้านอบอุ่นที่เขายายดาเป็นศูนย์เรียนรู้วิถีชุมชนที่อบอุ่น 5.สถานีเส้นทางปั่น กินลมธรรมชาติ คือเส้นทางจักรยานปั่นชมธรรมชาติ 6.สถานีนักคิด นักวิจัยชุมชนเป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้วิจัยเพื่อท้องถิ่น 7.สถานีรู้คิด ร่วมทำเพื่อชุมชนสีเขียว ต้นแบบกองทุนเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อม และ 8.สถานีตำราจากธรรมชาติหลักสูตรท้องถิ่นสำหรับใช้ในภาคการศึกษาให้กับเยาวชนไทย

ตลอดระยะกว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา "ชุมชนเขายายดา" อุดมสมบูรณ์ไปด้วยความชุ่มชื้นจากการสร้างฝายชะลอน้ำ ชาวบ้านมีน้ำใช้ในการเพาะปลูกพันธุ์พืชและผลไม้ ยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ทั้งนี้นอกจากการสร้างฝายชะลอน้ำแล้วยังปลูกฝังวัฒนธรรมทางความคิดในการดูแลรักษาป่าและแหล่งน้ำอย่างรู้คุณค่า อันนำมาสู่การเรียนรู้ผลิดอกออกผลเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชน ภาคการศึกษา ต่อยอดเป็นการพัฒนาชุมชนและสังคมให้เกิดความยั่งยืน

“กว่า 68,000 ฝายชะลอน้ำ ครอบคลุม 12 จังหวัดในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ พลิกฟื้นพื้นป่าบนพื้นที่กว่า 210,000 ไร่ เป็นต้นแบบความรู้และจุดประกายทางความคิดในการริเริ่มดำเนินการสร้างฝายชะลอน้ำ อันนำมาสู่การพัฒนาชุมชนในท้องถิ่นให้มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ เติบโตด้านการเรียนรู้แล้วนำไปประยุกต์ในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้และยกคุณภาพชีวิต และนี่คือพลังที่สำคัญที่ทำให้เอสซีจีขับเคลื่อนการพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ในด้านบริหารจัดการน้ำต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,171 วันที่ 3 - 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559