วิกฤติภัยแล้งหนักสุดปี 2559 ผ่านพ้น: เริ่มมีสัญญาณบวกให้เห็น จับตาน้ำแล้งหน้า

27 มิ.ย. 2559 | 07:35 น.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เรื่อง“ วิกฤติภัยแล้งหนักสุดปี 2559 ผ่านพ้น:เริ่มมีสัญญาณบวกให้เห็น จับตาน้ำแล้งหน้า”

ประเด็นสำคัญ

•ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภัยแล้งหนักสุดในรอบ 20 ปี เมื่อวัดจากปริมาณน้ำ ได้ผ่านพ้นไปแล้ว โดยเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการเมื่อ 18 พ.ค.2559 ก็เริ่มมีสัญญาณบวกให้เห็น ทั้งปริมาณน้ำฝนสะสมที่ตกมากกว่าปีก่อน ส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน รวมถึงรายได้เกษตรกรที่พลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวก 2 เดือนติดต่อกันในเดือนเม.ย.-พ.ค.2559 นอกจากนี้ คาดว่า รายได้เกษตรกรในปี 2560 อาจให้ภาพที่ดีขึ้นกว่าในปี 2559 ที่ภัยแล้งสร้างความสูญเสียต่อรายได้เกษตรกรกว่า 64,161 ล้านบาท

•อย่างไรก็ดี แม้จะมีสัญญาณบวกของการฟื้นตัวบ้างแล้ว แต่เกษตรกรยังคงต้องระมัดระวังในการใช้น้ำ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ระดับน้ำต้นทุนในเขื่อนหลักของไทยสำหรับแล้งหน้า (พ.ย.2559) อาจอยู่ที่ราว 7,000-10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นระดับน้ำที่มากกว่าปีก่อน แต่ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

•ระยะต่อไป เพื่อลดความเสี่ยงด้านการบริหารจัดการน้ำ ภาครัฐและภาคเอกชนควรตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำที่จะกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ด้วยการเพิ่มการสร้างพื้นที่พักน้ำ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก กลาง เพื่อเก็บน้ำในฤดูฝน และใช้เป็นแหล่งสำรองน้ำในฤดูแล้งอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ เกษตรกรอาจต้องวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่จัดสรรได้ หรือเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยอื่นทดแทนเพื่อเป็นรายได้เสริม

ขณะนี้ประเทศไทยถือว่าได้ก้าวข้ามผ่านพ้นช่วงวิกฤติภัยแล้งในปี 2559 ไปแล้ว เนื่องจากฝนที่ได้ตกลงมาในหลายพื้นที่ให้พื้นดินชุ่มฉ่ำขึ้นมาได้บ้าง โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศให้วันที่ 18 พฤษภาคม 2559 เป็นวันเริ่มต้นฤดูฝนปี 2559 อย่างเป็นทางการ ซึ่งนับว่าฝนมาเร็วกว่าปีก่อนที่กว่าจะมาก็เข้าสู่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2558 ทั้งนี้ ภัยแล้งในปี 2559 ที่ได้ผ่านพ้นไป อันเกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ นับเป็นปีที่แล้งหนักที่สุดในรอบ 20 ปี พิจารณาจากสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่อยู่ในระดับต่ำ สำหรับระยะถัดไป คาดว่า สถานการณ์น้ำน่าจะให้ภาพที่ทยอยดีขึ้น อันส่งผลต่อปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนสำหรับแล้งหน้า ทำให้ในปี 2560 ภาพของการเพาะปลูกพืชเกษตร ความเป็นอยู่ของเกษตรกร ตลอดจนธุรกิจที่อาศัยกำลังซื้อของเกษตรกรน่าจะให้ภาพที่ฟื้นตัวขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2559 บนพื้นฐานของปัจจัยที่ยังคงต้องระมัดระวัง

ภัยแล้งหนักสุดปี 2559 ผ่านพ้น...เริ่มส่งสัญญาณบวกให้เห็น

ประเทศไทยเผชิญภัยแล้งต่อเนื่องมาราว 3 ปีติดต่อกัน โดยในปี 2559 นับเป็นวิกฤติภัยแล้งครั้งรุนแรงและหนักที่สุดในรอบ 20 ปี จะเห็นได้ว่า ปริมาณน้ำต้นทุนที่ใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลักของไทยในช่วงฤดูแล้งในปี 2559 (พ.ย.2558-เม.ย.2559) อยู่ที่ 4,247 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นระดับน้ำที่ไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร ส่งผลต่อพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังลดลงกว่า 2.4 ล้านไร่เมื่อเทียบกับปีก่อน ตลอดจนพืชอื่นอย่างมันสำปะหลัง และอ้อย ก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน อย่างไรก็ดี คาดว่า ไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดที่เกิดภัยแล้งหนักที่สุดในปี 2559 ไปแล้ว และในระยะต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เริ่มมีสัญญาณบวกของการฟื้นตัวในด้านสถานการณ์น้ำ ที่อาจช่วยหนุนปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนหลัก ตลอดจนอิทธิพลของปรากฏการณ์ลานีญ่าในช่วงครึ่งปีหลัง อาจช่วยเติมระดับน้ำต้นทุนในเขื่อนสำหรับแล้งหน้า (เริ่มพ.ย.2559) ที่คาดว่า ระดับน้ำในเขื่อนอาจเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2559 ส่งผลให้เกษตรกรอาจมีรายได้ดีขึ้นในปี 2560 อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาสถานการณ์น้ำในแล้งหน้า ที่ทุกภาคส่วนยังต้องระมัดระวังในการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร เนื่องจากสถานการณ์น้ำยังคงขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนว่าจะตกเหนือเขื่อนในปริมาณที่เพียงพอต่อการเก็บสะสมเพียงใด ตลอดจนอิทธิพลของพายุจร

เริ่มส่งสัญญาณบวกให้เห็น หลังวิกฤติภัยแล้งสิ้นสุดในเดือนเม.ย.2559

แนวโน้มปริมาณน้ำฝนที่ตกสะสมทั้งประเทศดีกว่าปีก่อน โดยสถานการณ์น้ำฝนรวมทั้งประเทศที่ตกสะสมในวันที่ 1 ม.ค.-12 มิ.ย.2559 มีปริมาณ 345.6 มิลลิเมตร นับว่ามีปริมาณน้ำฝนสะสมมากกว่าปี 2558 อยู่ที่ 37.9 มิลลิเมตร หรือมากกว่าร้อยละ 12.3 อย่างไรก็ดี ยังคงน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี อยู่ที่ 103.7 มิลลิเมตร หรือน้อยกว่าร้อยละ 23.1 แสดงให้เห็นว่า แนวโน้มปริมาณน้ำฝนปี 2559 น่าจะให้ภาพที่ดีขึ้นกว่าปี 2558 แต่ยังคงน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงยังคงต้องระมัดระวังในการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร

ปริมาณน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลักเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน พบว่า ภาพรวมปริมาณน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลัก ณ วันที่ 22 มิ.ย.2559 อยู่ที่ 1,322 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 (YoY) (แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ เขื่อนภูมิพล ซึ่งเป็นเขื่อนหลักในภาคเหนือที่เป็นต้นน้ำเพื่อระบายน้ำหล่อเลี้ยงลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ยังมีปริมาณน้ำอยู่ในระดับต่ำ หรือลดลงร้อยละ 31.3 (YoY)) อย่างไรก็ดี ยังนับว่าเป็นปริมาณน้ำที่อยู่ในระดับต่ำ เพราะฝนยังตกไม่ทั่วถึง อาจส่งผลต่อการเพาะปลูกพืชฤดูฝน เกษตรกรจึงต้องมีการวางแผนขุดบ่อหรือเตรียมพื้นที่รองรับน้ำให้เพียงพอกับที่ดินของตนเอง และวางแผนการเพาะปลูก หรือหันไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยทดแทนสักระยะ อีกทั้งต้องจับตาว่าฝนจะตกในเขตเหนือเขื่อนหรือใต้เขื่อน รวมถึงอิทธิพลของพายุในช่วงเดือนก.ย.-พ.ย.นี้ ก็น่าจะสามารถช่วยเติมระดับน้ำในเขื่อนได้ระดับหนึ่ง

 รายได้เกษตรกรที่ปรับขึ้นมาขยายตัวเป็นบวก 2 เดือนติดต่อกัน (เม.ย.-พ.ค.2559) นับเป็นสัญญาณบวก โดยอัตราการขยายตัวของรายได้เกษตรกรในเดือนเม.ย.2559 และพ.ค.2559 ปรับขึ้นมาเป็นบวกอยู่ที่ร้อยละ 2.2 และ 6.7 (YoY) แต่ยังต้องจับตา เพราะเมื่อเข้าสู่ 2 สัปดาห์แรกของเดือนมิ.ย.2559 ราคาสินค้าเกษตรบางรายการปรับลดลงจากเดือนพ.ค.2559 สะท้อนว่า รายได้เกษตรกรในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังมีความไม่แน่นอน

มูลค่าความเสียหายต่อภาคเกษตรที่มีแนวโน้มลดลงในปี 2560 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลจากภัยแล้งทำให้มูลค่าความเสียหายต่อภาคเกษตรวัดจากรายได้เกษตรกรในปี 2559 หายไปราว 64,161 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปี 2558 จากผลของภัยแล้งในปี 2559 ที่มีความรุนแรงมากกว่าปี 2558 โดยเป็นความเสียหายต่อพืชเศรษฐกิจหลัก 3 รายการคือ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง และอ้อย

ทั้งนี้ รายได้เกษตรกรในปี 2560 น่าจะให้ภาพที่ปรับตัวดีขึ้นกว่าปี 2559 โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย ที่อาจได้รับผลกระทบจากภัยแล้งน้อยลง เนื่องจากเกษตรกรมีการเตรียมพร้อมรับมือในการบริหารจัดการน้ำระดับหนึ่ง ตลอดจนมีการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยอื่นทดแทน รวมถึงแรงสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐในปีเพาะปลูก 2559/60 อาทิ มาตรการช่วยเหลือชาวนาในด้านต้นทุนการผลิต อัตราไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 10 ไร่ วงเงินรวม 3.78 หมื่นล้านบาท และเรื่องการจัดการระบบน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามปรากฏการณ์ลานีญ่าที่อาจมาในราวครึ่งหลังของปี 2559 ทำให้ฝนอาจมามากกว่าปกติ ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร และกระทบต่อรายได้เกษตรกรได้เช่นกัน

จากหลายสัญญาณบวกที่เริ่มส่งมาให้เห็นหลังภัยแล้งปี 2559 สิ้นสุด โดยเฉพาะแนวโน้มสถานการณ์น้ำที่น่าจะให้ภาพทยอยดีขึ้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปริมาณน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลักเมื่อสิ้นฤดูฝน ซึ่งจะเป็นน้ำต้นทุนในเขื่อนสำหรับฤดูแล้งในปีหน้า (เริ่มพ.ย.2559) น่าจะอยู่ที่ราว 7,000-10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายใต้สมมติฐานของฝนที่ตกเหนือเขื่อน และได้รับอิทธิพลจากพายุ 2 ลูกในเดือนส.ค.และต.ค.2559 นี้ ตามลำดับ ซึ่งระดับน้ำต้นทุนดังกล่าวเป็นระดับที่มากกว่าปีก่อน แต่ก็ยังคงต้องระมัดระวังในการใช้น้ำ ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงอาจต้องมีการเตรียมพร้อม/วางแผน เพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำดังกล่าวได้อย่างเป็นระบบ ก็อาจช่วยลดผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร ซึ่งอาจส่งผลต่อธุรกิจที่ต้องอาศัยกำลังซื้อของกลุ่มเกษตรกรเป็นหลัก ท่ามกลางภาวะที่ราคาสินค้าเกษตรยังคงมีความผันผวน