คกก.ฯ ต่างด้าวปลดล็อคคนพื้นที่สูงทำงานได้ทุกประเภท

24 มิ.ย. 2559 | 12:18 น.
คณะกรรมการพิจารณาการทำงานของคนต่างด้าว มีมติเห็นชอบในหลักการกำหนดเงื่อนไขให้ อัตราส่วนภาครัฐ รัฐวิสาหกิจจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นผู้ประสานงานด้านภาษา เมียนมา ลาว กัมพูชาตามความจำเป็นเหมาะสม ให้เอกชนที่มีลูกจ้าง 100 คน จ้างได้ไม่เกิน 1 คน พร้อมปลดล็อคบุคคลไร้สัญชาติไทย พื้นที่สูงได้ทำงานทุกประเภท เตรียมออกร่างประกาศสำนักนายกฯ เข้า ครม.พิจารณา

หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการทำงานของคนต่างด้าว โดยมีกรมการจัดหางาน ในฐานะฝ่ายเลขาฯ ได้เสนอเรื่องการกำหนดงานตำแหน่งผู้ประสานงานด้านภาษาเมียนมา ลาว และกัมพูชา ให้คนต่างด้าวตามมาตรา 13 (2) แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 สามารถทำได้ ซึ่งลักษณะงานจะให้ฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับงานได้เข้าใจตรงกันในการร่วมมือปฏิบัติงานและเพื่อให้การดำเนินงานมีความสะดวกราบรื่น บรรลุวัตถุประสงค์และมีประสิทธิภาพไม่เกิดความขัดแย้ง ทั้งนี้ได้กำหนดให้มีเงื่อนไขอัตราส่วนการจ้างคนต่างด้าวสามารถทำงานกับนายจ้างสำหรับภาคเอกชน 100 คน ต่อการจ้างแรงงานต่างด้าวไม่เกิน 1 คน ส่วนภาคราชการและรัฐวิสาหกิจให้พิจารณาจ้างตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยกรมการจัดหางานจะจัดหลักสูตรอบรมเรื่องการทำหน้าที่ในการเป็นผู้ประสานงานด้านภาษา โดยจะรับสมัครผู้ประสานงานด้านภาษาที่เป็นคนไทยก่อนหากไม่มีคนไทยทำจะให้แรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันตามมติ ครม. (กลุ่มบัตรชมพู) และแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยตามระบบ MOU ได้ทำงานตำแหน่งดังกล่าว ส่วนอัตราค่าจ้างนั้นเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาการกำหนดงานให้บุคคลพื้นที่สูงที่ยังไม่มีสัญชาติไทยสามารถทำงานได้ทุกประเภทงาน ซึ่งแต่เดิมทำได้เพียง 27 อาชีพ ตามประกาศเรื่องการกำหนดงานที่ให้คนต่างด้าวตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 เนื่องจากปัจจุบันบุตรหลานของบุคคลพื้นที่สูงหรือบุคคลไร้สัญชาติในไทยได้สำเร็จการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันบุคคลเหล่านี้มีข้อจำกัดในด้านเงื่อนไขของกฎหมายดังกล่าว โดยในเบื้องต้นคนกลุ่มดังกล่าวได้รับเพียงสิทธิในด้านการศึกษาและการรักษาพยาบาลเท่านั้น และยังไม่สามารถเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ได้ ทั้งนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการเพื่อให้บุคคลกลุ่มนี้ซึ่งมีในประเทศไทยกว่า 5.6 แสนคนได้ทำงานตามความรู้ความสามารถ นอกจากนี้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม 2,000 บาท แต่ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการยื่นคำร้อง 100 บาท

ทั้งนี้หลังจากที่ประชุมเห็นชอบแล้วขั้นตอนต่อไปกรมการจัดหางาน จะนำร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ส่งให้คณะกรรมการฯ พิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบและเสนอกฤษฎีกาพิจารณาในขั้นตอนต่อไป