ตลท.เกาะติด BREXIT พร้อมรับมือผลกระทบ

23 มิ.ย. 2559 | 06:00 น.
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึง BREXIT ว่า มีผู้สนับสนุนให้อังกฤษยังอยู่ในอียูมากกว่าสนับสนุนให้ออกเล็กน้อย แม้ว่าผลสำรวจจะสลับไปสลับมา และยังตัดสินไม่ได้ ดังนั้นคงต้องจับตาดู อย่างที่อังกฤษเองก็มีการหยุด แม้กระทั่งฟุตบอล เพื่อไปลงประชามติ คิดว่าภายในพรุ่งนี้เช้า ซึ่งถือเป็นช่วงก่อนตลาดเราเปิด และก่อนที่ตลาดออสเตรเลียเปิด จะเห็นความชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงคงดูจากตลาดดาวน์โจนฟิวเจอร์เป็นหลักตั้งแต่คืนนี้เป็นต้นไป ว่าผลของ BREXIT จะออกมาเป็นเช่นไร แผนการรับมือ จากที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะเกิด Black Friday สูงนั้น ในความเป็นจริงมีการติดตามข้อมูลตลอด แต่หากการตัดสินใจเหล่านั้นสร้างผลเสียต่อตลาดทุน ก็คงจะมีเรื่องของเซนติเม้นท์ที่อาจจะตกใจในช่วงแรก แต่เชื่อว่ามาถึงวันนี้ทุกคนได้มีการเตรียมตัวกันยหมดแล้ว

ขณะที่ ธปท. เองมีการประกาศเตรียมตัวพอสมควร เพราะเป็นเหตุการณ์ล่วงหน้า ไม่มีผู้ใดรู้แน่ชัด เพราะฉะนั้น ทุกคนได้มีการเตรียมการเอาไว้หมดแล้ว คาดว่าหากเกิดอะไรขึ้นจริง ก็คงจะสามารถรับมือได้ ส่วนของ SET มีมาตรการในการบริหารจัดการของตลาดหลักทรัพย์ ที่เวลาเกิดวิกฤติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเซอร์กิตเบรกเกอร์ หรือการประกาศให้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ค่อนข้างรวดเร็ว ฉะนั้น จึงเชื่อว่าจากกการที่ผ่านวิกฤติการณ์มาแล้วหลายรอบ จึงทำให้ตลาดไทยมีการเตรียมตัวอยู่แล้ว

“ในความคิดเห็นส่วนตัว คงต้องบอกว่า ได้มีการวิเคราะห์กันในรายละเอียด ถ้าภาคตลาดทุนหรือภาครวมใหญ่ก็มีการสนับสนุนเรื่องนี้ เพราะว่ามีผลดีต่อการรวมตัว แต่อาจจะเป็นภาคสังคม ที่อาจจะมีข้อคิดที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะอยู่ก็อาจจะมีเรื่องนี้กลับเข้ามาอีกในอนาคตข้างหน้า แต่หากไม่อยู่ก็จะต้องมีมาตรการอะไรต่างๆที่เป็นเรื่องใหม่ที่เราคงต้องติดตาม” นางเกศรากล่าว

นายสันติ กีระนันท์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลท. ไม่ต้องมีมาตรการอะไรเพิ่มเติม เพื่อรองรับผลกระทบจากการทำประชามติของประเทศอังกฤษ (BREXIT) เนื่องจากมาตรการต่างๆ ที่ ตลท. มีอยู่เป็นมาตรการมาตรฐาน ขณะนี้ตลาดฯ ได้เตรียมเรื่องต่างๆไว้พร้อมแล้ว หากมีเหตุการณ์ที่ 1 ควรต้องมีการดำเนินการอย่างไร หรือหากมีเหตุการณ์ที่ 2 ควรจะต้องมีการให้ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเท่านั้น เรียกว่าเป็นการใช้มาตรการปกติในการดูแล

“หลักๆ เลย คือเรื่องของการให้ข้อมูล หากตลาดเกิดความหวาดกลัว หรือวิตก ก็คงมีเรื่องเซอร์กิตเบรคเกอร์ที่จะต้องปฏิบัติไปตามนั้น ซึ่งในความเป็นจริงหลักการของการมีเซอร์กิจเบรกเกอร์ก็เพื่อให้นักลงทุนหยุดคิด เพราะในช่วงที่เป็นการเทขายออกมาจำนวนมาก นักลงทุนก็จะไหลตามกันไปหมด ดังนั้น เมื่อตกลงไปจนถึงระดับหนึ่งแล้วที่ลึกเกินกว่าที่ควรจะเป็น นักลงทุนจะต้องหยุดพัก เพื่อคิดสักระยะหนึ่ง” นายสันติกล่าว

อย่างไรก็ตาม คงต้องเรียนว่าความจริงแล้วพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย รวมถึงพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ยังไม่ได้เปลี่ยน และอีกประการหนึ่งที่พูดมาตลอดคือ บจ. ไทยไม่ได้พึ่งพิงรายได้จากภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งเท่านั้น แต่พึ่งพิงในทุกภูมิภาค เพราะฉะนั้นหากจะเกิดอะไรขึ้นจากการลงประชามติ ก็คงไม่ใช่ผลระยะสั้น แต่จะเป็นในระยะยาว

หลังจากลงประชามติแล้วหากมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก็ตาม ก็อยากจะเรียนนักลงทุนว่าต้องใช้สติกับเหตุการณ์ที่มีการเทขายออกมา ซึ่งน่าจะต้องเกิดขึ้นหากมีการออกจากอียูจริง เพราะจะมีผลต่อเศรษฐกิจทั้งโลก แต่ในที่สุดแล้วก็เชื่อว่าในระยะเวลาไม่นานนักก็น่าจะกลับมาในเส้นทางที่ประเทศไทยเป็น ที่ บจ. ไทยต้องดำเนินการ

“หากถามว่าถ้าตลาดสิงคโปร์มีมาตรการอะไรเพิ่มเติมออกมา เราจะต้องดำเนินการอะไรตามหรือไม่ คงต้องเรียนว่าเราก็ต้องดูสิงคโปร์เป็นแบบอย่าง แต่เราเชื่อว่ามาตรการที่เรามีอยู่ในปัจจุบันเพียงพอที่จะรองรับ” นายสันติกล่าวเพิ่มเติม