ธนาคารกรุงไทย ให้บริการผูกบัญชีล่วงหน้า

21 มิ.ย. 2559 | 04:30 น.
ธนาคารกรุงไทย ให้บริการผูกบัญชีล่วงหน้า เพื่อใช้บริการกรุงไทยพร้อมเพย์ ผ่านเอทีเอ็ม KTB netbank และสาขา ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ เพียงนำสมุดบัญชี บัตรประจำตัวประชาชน และ/หรือโทรศัพท์มือถือ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เผยเตรียมจัดกิจกรรมส่งเสริมการใช้บริการ เพื่อสนับสนุนระบบการชำระเงินแบบใหม่ของประเทศ

นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า จากการที่ภาคการธนาคารได้ร่วมกันพัฒนาบริการโอนเงิน และรับโอนเงินแบบใหม่ เพื่อสนับสนุนการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมประเทศไทย ลดการพกพาเงินสดของประชาชนนั้น ธนาคารกรุงไทยได้เตรียมความพร้อมในทุกด้าน เพื่อให้บริการกรุงไทยพร้อมเพย์ เป็นไปด้วยความง่าย และสบายใจ ด้วยมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล โดยจะเปิดให้ลูกค้าผูกบัญชีเงินฝากล่วงหน้ากับหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน และ/หรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือ ผ่าน 3 ช่องทางของธนาคาร ได้แก่ ตู้ ATM บริการ KTB netbank และสาขา ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ โดยลูกค้าเพียงเตรียมสมุดบัญชี บัตรประจำตัวประชาชน และ/หรือโทรศัพท์มือถือ ที่ต้องการผูกบัญชี

“ลูกค้าสามารถผูกบัญชีได้โดยสมัครใจ และไม่มีกำหนดปิดการผูกบัญชี โดย 1 บัญชี สามารถผูกได้ 4 หมายเลข ขณะที่หมายเลขประจำตัวประชาชน หรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือ 1 หมายเลข จะผูกได้เพียง 1 บัญชีเท่านั้น ซึ่งในการใช้บริการกรุงไทยพร้อมเพย์ ลูกค้าจะได้รับข้อมูลการใช้บริการอย่างครบถ้วน เลือกใช้บริการได้อย่างอิสระ รวมทั้งสามารถเปลี่ยนแปลงและยกเลิกการผูกบัญชีได้ง่าย และตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคมเป็นต้นไป ซึ่งระบบกลางเปิดให้ทุกธนาคารผูกบัญชีพร้อมกัน ลูกค้าจะทราบผลการผูกบัญชีได้ทันที โดยธนาคารเตรียมจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้ลูกค้าใช้บริการอย่างต่อเนื่อง”

นายทรงพล  กล่าวในตอนท้ายว่า ธนาคารขอเชิญชวนลูกค้ามาผูกบัญชีกับธนาคารเพื่อเตรียมพร้อมในการใช้บริการโอนเงินและรับโอนเงินแบบใหม่ ที่คาดว่าจะเริ่มให้บริการในปลายไตรมาสที่ 3  ซึ่งนอกจากความสะดวกสบาย และค่าธรรมเนียมที่ถูกลงอย่างมาก เนื่องจากไม่ต้องห่วงเรื่องการโอนเงินข้ามธนาคาร หรือข้ามเขตอีกต่อไป ซึ่งหากโอนเงินต่ำกว่า 5,000 บาท ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ จะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอนเลย นอกจากนี้ ยังสามารถรับเงินสวัสดิการต่างๆ จากภาครัฐได้โดยตรง รวมทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเงินสด และการพิมพ์เอกสารต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในระยะยาว