EU Referendum ทำตลาดเงินผันผวน ...หากเกิด Brexit ตัวตัดสินอยู่ที่นโยบายของ UK หลังจากนี้

16 มิ.ย. 2559 | 05:44 น.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เรื่อง “EU Referendum ทำตลาดเงินผันผวน ...หากเกิด Brexit ตัวตัดสินอยู่ที่นโยบายของ UK หลังจากนี้”

ประเด็นสำคัญ

•หากเกิด Brexit จุดเปลี่ยนสำคัญจะอยู่ที่ กรอบเวลาที่ชัดเจนของนโยบายเศรษฐกิจและจุดยืนของสหราชอาณาจักร (UK) หลังจากนี้ ที่จะช่วยคลายความวิตกกังวลของนักลงทุนทำให้ค่าเงินปอนด์ไม่อ่อนค่าไปกว่าปัจจุบันมากนัก กรณีดังกล่าว กระทบเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ค่อนข้างจำกัด เพียงร้อยละ 0.02-0.04 ของ GDP ไทย หรือคิดเป็นมูลค่าราว 3,000-5,500 ล้านบาท

•ในกรณีเลวร้าย หากทางการ UK ไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมาได้ ไม่เพียงส่งผลลบต่อเศรษฐกิจของ UK แต่ยังลุกลามต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนใน EU ฉุดทั้งค่าเงินปอนด์และค่าเงินยูโรอ่อนค่ารุนแรง ผลดังกล่าวอาจกระทบเศรษฐกิจไทยในปี 2559 คิดเป็นร้อยละ 0.1-0.2 ของ GDP ไทยหรือคิดเป็นมูลค่าราว 8,900-20,000 ล้านบาท

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร (UK) เมื่อมองภาพรวมทางด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว มีไม่มากนักคิดสัดส่วนเป็นร้อยละ 1.7 ของ GDP ไทย ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การทำประชามติเรื่องการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ของ UK หรือ EU Referendum ในวันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน 2559 ถ้า UK ตัดสินใจยังอยู่ร่วมกับ EU เหมือนเดิมหรือ “Remain” ผลที่กระทบต่อไทยจะมีเพียงความไม่แน่นอนของตลาดเงินระยะสั้นในเดือนมิถุนายน หลังจากนั้นจุดสนใจจะถูกดึงกลับไปยังจังหวะการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมทั้งทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนที่มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2559

นับตั้งแต่กำหนดวันทำประชามติในเดือนกันยายน 2558 เสียงโหวตในฝั่งที่ต้องการให้ UK ถอนตัวออกมา หรือโหวต “Leave” เพิ่มขึ้นเรื่อยมา จนกระทั่งผลโพลล์ล่าสุด ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2559 ของ ORB สถาบันวิจัยอิสระในอังกฤษ พบว่า คะแนนโหวต “Leave” เร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 55 ทิ้งห่างเสียงโหวต “Remain” ที่อยู่ที่ร้อยละ 45 รวมทั้งผลโพลล์ของสำนักข่าว BBC และ Bloomberg ก็มีทิศทางเดียวกัน และมีคะแนนเสียงที่ใกล้เคียงกันมาก สถานการณ์ดังกล่าวเพิ่มความกังวลให้แก่ตลาด รวมถึงความไม่แน่นอนของเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคในภาพรวม

ถ้าหากผลโหวตในวันที่ 23 มิถุนายน ปรากฏว่า UK ตัดสินใจถอนตัวออกมาเป็นอิสระหรือเกิด “Brexit” ผลกระทบเฉพาะหน้าจะเกิดต่อตลาดเงินและตลาดทุนเป็นหลัก รวมทั้งส่งผลต่อเนื่องถึงระยะกลาง จนกว่ากระบวนการเจรจาเพื่อหารูปแบบการออกจาก EU จะสิ้นสุดลง ซึ่งอาจใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี หลังจากนั้นจึงจะออกจากการเป็นสมาชิกภาพ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สิ่งสำคัญที่จะชี้ว่าผลกระทบจาก Brexit จะรุนแรงแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับมาตรการสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของ UK ให้สามารถยืนอยู่ได้อย่างแข็งแกร่งแม้ไม่ได้เป็นสมาชิก EU ซึ่งจะช่วยหยุดการดิ่งลงของค่าเงินปอนด์ แต่ถ้าหากไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจกลับมาเพียงพอที่จะทำให้ค่าเงินปอนด์กลับมามีเสถียรภาพได้อย่างรวดเร็ว สถานการณ์จะพลิกกลับมาเกิดผลกระทบลุกลามเลวร้ายมากยิ่งขึ้น โดยค่าเงินปอนด์และค่าเงินยูโรในช่วงที่เหลือของปีอาจไถลลงอีกทำให้ทั้งปี 2559 อ่อนค่าร้อยละ 15-20 ซึ่งตั้งแต่เริ่มแคมเปญ Brexit ในเดือนกันยายน 2558 ค่าเงินปอนด์อ่อนตัวต่อเนื่องกว่าร้อยละ 7.3 จนถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2559 ร่วงลงมาแตะที่ 1.414 ปอนด์/ดอลลาร์ฯ

ในท้ายที่สุดแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ในกรณีดี ที่ทางการ UK มีกรอบเวลาชัดเจนสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมา สกัดผลกระทบด้านค่าเงินได้อย่างรวดเร็วหรือค่าเงินปอนด์ไม่ต่างจากปัจจุบันมากนัก จะกระทบเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ค่อนข้างน้อยเพียงร้อยละ 0.02-0.04 ของ GDP ไทย หรือคิดเป็นมูลค่าราว 3,000-5,500 ล้านบาท

ในกรณีเลวร้าย หากทางการ UK ไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมาได้ และส่งผลลุกลามสู่ EU ฉุดทั้งค่าเงินปอนด์และค่าเงินยูโรอ่อนค่ารุนแรงตลอดช่วงครึ่งหลังของปี 2559 โดยทั้งค่าเงินปอนด์และค่าเงินยูโรอาจร่วงลงเหมือนในช่วงเกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551-2552 ส่งผ่านผลกระทบมาถึงความสัมพันธ์ทางการค้า การท่องเที่ยวและการลงทุนกับไทย โดยถ้าหากมองความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแค่เพียงไทยกับ UK อาจมีไม่มากนัก แต่เมื่อรวมทั้ง EU คิดเป็นร้อยละ 9.8 ของ GDP ไทย ทั้งนี้ กำลังซื้อที่อ่อนแรงลงของ UK และ EU จะสะท้อนผลลบกลับมายังไทยในมิติต่างๆ ดังนี้

•การส่งออกของไทยไป EU จะได้รับความอ่อนไหวรวดเร็วและปรากฏผลชัดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 ในส่วนของการส่งออกของไทยไป UK อาจได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากกรณี  Brexit ทำให้เศรษฐกิจ UK มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยและถูกซ้ำเติมจากค่าเงิน แต่ก็มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.6 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ในขณะที่การส่งออกไป EU โดยภาพรวมนั้นถูกกระทบจากค่าเงินอ่อนค่าเป็นหลัก และเศรษฐกิจ EU ก็ยังแข็งแกร่งกว่าในช่วงวิกฤตการเงินครั้งก่อน ทั้งนี้ EU (รวม UK) เป็นตลาดอันดับ 2 มีสัดส่วนถึงร้อยละ 10.2 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย เติบโตสูงร้อยละ 9.2 (YoY) ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2559 ซึ่งกลุ่มสินค้าที่อาจเติบโตช้าลงในช่วงครึ่งปีหลัง ได้แก่ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์ เครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ยาง ไก่แปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เป็นต้น

•การท่องเที่ยวในไทยมีข้อได้เปรียบที่ค่าใช้จ่ายไม่สูง แม้ว่าค่าเงินของยุโรปจะอ่อนค่าก็ยังดึงดูดให้นักท่องเที่ยว EU เดินทางมาไทย จึงขึ้นอยู่กับว่าการผันผวนของค่าเงินจะมีผลต่อเนื่องรุนแรงเพียงใด อันจะยิ่งกดดันให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งนักท่องเที่ยว EU (รวม UK) ในช่วง 4 เดือนแรกของปีเติบโตร้อยละ 8.6 (YoY) โดยในปี 2558 สร้างรายได้ราว 2.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในไทย ซึ่งนักท่องเที่ยว UK มีสัดส่วนด้านรายได้คิดเป็น 1 ใน 4 ของรายได้จากนักท่องเที่ยวของ EU

•การลงทุนจากต่างประเทศในไทย (Foreign Direct Investment: FDI) ที่มาจาก EU มีความไม่แน่นอน จากผลของค่าเงินที่อาจกระทบการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในไทย โดยเม็ดเงินที่อาจชะลอลง ได้แก่ ในหมวดอสังหาริมทรัพย์ การค้าส่ง/ค้าปลีก การผลิตคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ การเงิน/การประกันภัย การผลิตอาหารและการผลิตเคมีภัณฑ์ ในทางกลับกันการลงทุนไทยในต่างประเทศ (Thai Direct Investment: TDI) อาจมีโอกาสลงทุนในยุโรปด้วยต้นทุนต่ำ โดยผลของเงินปอนด์และเงินยูโรที่อ่อนค่าเอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุนไทยที่มีศักยภาพใช้จังหวะนี้เข้าซื้อกิจการ (M&A) ในยุโรป หรือต่อยอดกิจการที่มีอยู่ในแล้วให้เติบโตได้อีก แต่นักลงทุนก็จำเป็นต้องมีเป้าหมายตลาดที่ชัดเจน และตระหนักถึงความเสี่ยงจากการถอนตัวจาก EU ที่ยังรอข้อสรุป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในกรณีเลวร้ายที่ไม่สามารถหยุดความผันผวนในตลาดเงินได้นั้น การเกิด Brexit จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการดิ่งลงของค่าเงินปอดน์เป็นหลัก ผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 0.1-0.2 ของ GDP ไทย หรือมีมูลค่าราว 8,900-20,000 ล้านบาท โดยผลกระทบเหล่านี้จะยังดำเนินต่อเนื่องจนกระทั่ง UK ถอนตัวออกจาก EU อย่างสมบูรณ์ ซึ่งนั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นของผลกระทบที่แท้จริง และจะส่งผลต่อไทยในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

บทสรุปความสัมพันธ์ระหว่าง UK กับ EU ในอีก 2 ปีข้างหน้า

สิ่งที่ต้องจับตาหลังจาก Brexit คือรูปแบบการถอนตัวของ UK จะส่งผลต่อธุรกิจการเงินของประเทศที่มีบทบาทสำคัญถึงร้อยละ 7 ของ GDP สร้างรายได้และการจ้างงานสูงที่สุดเมื่อเทียบกับธุรกิจบริการด้านอื่นของ UK นอกจากนี้ UK ยังมีความแนบแน่นทางการเงินเชื่อมโยงกับยูโรโซน รวมถึงประเทศอื่นใน EU ผ่านกิจกรรมทางการเงิน โดยเฉพาะการเป็นตลาดทุนและวานิชธนกิจ (Investment Banking) คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 80 ของ EU รวมทั้งเป็นศูนย์กลางตลาดการค้าเงิน (FX Trading) ปัจจัยเหล่านี้ล้วนชี้ว่าการเกิด Brexit ไม่เพียงจะฉุดเศรษฐกิจ UK แต่อาจสร้างความหวั่นไหวต่อเศรษฐกิจทั้งภูมิภาค ไม่ว่าจะถอนตัวในรูปแบบใดก็ส่งผลเสียในภาพรวม โดยความรุนแรงขึ้นอยู่กับรูปแบบความตกลงในการถอนตัว ดังนี้

รูปแบบที่ 1 สถานะคล้ายประเทศนอร์เวย์ ... โดยสามารถเข้าถึงตลาด EU ได้อย่างสะดวก แต่ไม่มีสิทธิในการออกเสียง เกิดผลลบต่อเศรษฐกิจ EU ค่อนข้างน้อย กล่าวคือ UK ยังอยู่ในเขตเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Area: EEA) และยังคงสถานะการเป็นตลาดร่วม (Single Market) เป็นรูปแบบใกล้เคียงกับที่เป็นอยู่ เพียงแต่ว่า UK จะขาดสิทธิในการออกความเห็นในด้านเศรษฐกิจและนโยบายต่างๆ

รูปแบบที่ 2 สถานะคล้ายประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ... ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงการให้บริการทางการเงินกับ EU อย่างเสรี ส่งผลกระทบโดยรวมต่อเศรษฐกิจ EU นั่นหมายความว่า UK สูญเสียความได้เปรียบในการทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพกับ EU ทำให้มีต้นทุนการทำธุรกรรมทางการเงินข้ามแดนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิก EU เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจต่างชาติเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ (HQ) เพื่อใช้ประโยชน์จากภาษีธุรกิจ ความสะดวกในการโยกย้ายเงินทุน ขณะที่ UK ยังมีความผูกพันทางสิทธิพิเศษทางภาษีสินค้ากับ EU ภายใต้ข้อจำกัดบางประการ และสามารถเคลื่อนย้ายคนข้ามพรมแดนได้ภายใต้ข้อจำกัด

กรณีนี้ สวิตเซอร์แลนด์ได้เจรจาทวีภาคีกับ EU ในแต่ละสาขาที่เอื้อให้ประเทศคงความพร้อมด้านการเงินไว้ได้อย่างแข็งแกร่ง แต่ก็ต้องใช้เวลายาวนาน ดังนั้น หาก UK ไม่สามารถเจรจาหามาตรการมาเยียวยา หรือเจรจาต่อรองกับ EU เพื่อให้ได้สิทธิพิเศษอื่นมาชดเชย จะยิ่งกดดันให้นักลงทุนรายเก่าชะลอการลงทุน รวมทั้งสูญเสียการลงทุนรายใหม่ในอนาคต เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่สู่ประเทศอื่นๆ ตามมา

รูปแบบที่ 3 สถานะเดียวกับประเทศใน WTO ... ถอนตัวอย่างสมบูรณ์ เกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจ EU อย่างมาก โดยสิ่งที่เพิ่มเติมจากรูปแบบที่ 2 คือ UK จะไม่มีความสัมพันธ์ทางการค้าเสรีใดกับ EU และกลายเป็นประเทศนอกกลุ่ม แม้ว่าในระยะยาวจะทำให้ UK มีอิสระในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแต่ก็ต้องก้าวผ่านผลกระทบที่จะตามมาให้ได้ก่อน

ในรูปแบบนี้ UK จะสูญเสียความเกี่ยวโยงด้านมาตรการทางภาษีศุลกากรพิเศษที่มีกับ EU อันเป็นความได้เปรียบส่วนสุดท้ายที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจชดเชยผลกระทบในภาคอุตสาหกรรมการเงิน ซึ่ง UK พึ่งพาตลาด EU ถึงร้อยละ 44.2 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ ทำให้มีต้นทุนทางภาษีสินค้าในอัตรา MFN โดยเฉพาะสินค้าเกษตรมีอัตราร้อยละ 13.2 เสื้อผ้าร้อยละ 11.5 ตามมาด้วยเคมีภัณฑ์ อุปกรณ์การขนส่งและรองเท้าอัตราร้อยละ 4.2-4.6 ประกอบกับ UK จะต้องเริ่มเจรจา FTA กับสหรัฐฯ ใหม่ และเจรจาความตกลงด้านการลงทุนกับจีนที่ต่างก็เป็นตลาดที่สำคัญ และอาจรวมถึงสูญเสีย FTA กับประเทศอื่นๆ ที่ EU มีข้อตกลงทางการค้า ทั้งนี้ สหรัฐฯ และจีนเป็นตลาดส่งออกของ UK ที่มีสัดส่วนร้อยละ 15.5 และร้อยละ 5.9 ตามลำดับ เป็นตลาดรองลงมาจาก EU

โดยสรุป  ยังต้องจับตาผลในการทำประชามติวันที่ 23 มิถุนายน 2559 หาก UK แยกตัวออกมาก็ต้องติดตามการประกาศจุดยืนของประเทศ และการเจรจาเพื่อแยกตัวในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งผลกระทบที่ส่งผ่านมาถึงไทยจึงยังไม่ชัดเจน แต่ถ้าหาก UK ไม่สามารถคงความได้เปรียบทางด้านการเงินไว้ได้จะยิ่งส่งผลลบต่อเศรษฐกิจ UK และผลกระทบจะกระจายเป็นวงกว้าง ฉุดเศรษฐกิจ EU ซึ่งคงยากที่ไทยจะหลีกเลี่ยงผลที่ตามมา อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในท้ายที่สุด ความสัมพันธ์ระหว่าง UK และ EU น่าจะอยู่ระหว่างรูปแบบที่ 1 หรือ รูปแบบที่ 2 ที่ยังมีจุดเชื่อมต่อทางทางเศรษฐกิจทำให้ได้รับสิทธิบางประการและเอื้อประโยชน์ต่อกันอยู่ แต่คงไม่ถึงขั้นรูปแบบ WTO

เมื่อมองไปข้างหน้า การถอนตัวของ UK นอกจากจะสร้างความหวั่นไหวต่อเส้นทางเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่สกอตแลนด์อาจแยกตัวออกจาก UK ด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ยังเพิ่มความท้าทายต่อ EU ในการรักษาความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มเศรษฐกิจ ซึ่ง EU คงต้องมีท่าทีสานสัมพันธ์กับ UK ด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดข้อเปรียบเทียบกับสมาชิกที่เหลือของ EU อีกทั้งการดำเนินนโยบายข้างหน้าคงมีท่าทีรอมชอมมากขึ้นเพื่อลดความแตกแยกของสมาชิกที่มีความเห็นไม่สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจและการเงินของ EU และยูโรโซน (Euro Zone) เพื่อหลีกเลี่ยงการดำเนินรอยตาม UK ในอนาคตข้างหน้า