ลุ้นครม.อนุมัติระบบราง ครบเซตทางคู่-รถไฟฟ้า-รถไฟเชื่อมพื้นที่ในกทม.

17 มิ.ย. 2559 | 02:00 น.
“คมนาคม”ผลักดันโครงข่ายระบบรางในกทม.ล็อตใหญ่ ครบเซตทั้งรถไฟฟ้าของรฟม.3 เส้น และสายสีแดงเข้ม-อ่อนของร.ฟ.ท. แอร์พอร์ตลิงค์ช่วง พญาไท-บางซื่อ-ดอนเมืองพร้อมรถไฟทางคู่อีก 4 เส้นทาง ก่อนจัดประกวดราคาให้แล้วเสร็จช่วงปลายปี 59 รวมวงเงินลงทุนปลายปีนี้ทะลุ 2.6 แสนล้านบาทจากเมกะโปรเจ็กต์ระบบราง

[caption id="attachment_62513" align="aligncenter" width="700"] งบลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ระบบรางที่ลุ้นครม.อนุมัติภายในปลายปี 2559 งบลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ระบบรางที่ลุ้นครม.อนุมัติภายในปลายปี 2559[/caption]

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟช่วงมิสซิ่งลิงค์ที่ประกอบไปด้วยสายสีแดงอ่อน(ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก) และสายสีแดงเข้ม(ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง) ระยะทางประมาณ 25.9 กิโลเมตร วงเงิน 4.4 หมื่นล้านบาท และแอร์พอร์ตลิงค์ส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไท-บางซื่อ(วงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท) ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง (วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท)รวมมูลค่าทั้ง 3 โครงการกว่า 7.4 หมื่นล้านบาทว่า อยู่ระหว่างการเร่งรัดโครงการรถไฟสายสีแดงเข้ม และสายสีแดงอ่อน( มิสซิ่งลิงค์)ซึ่งเป็นโครงข่ายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยจะมีการนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เรื่องความชัดเจนการก่อสร้างในช่วงพญาไท-บางซื่อ เนื่องจากมีการก่อสร้างรูปแบบการใช้ทางร่วมกันด้วย โดยจะมีการเคลียร์ความชัดเจนเรื่องแผนการก่อสร้างช่วงดังกล่าวเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาไปพร้อมกัน

โดยภายในเดือนกรกฎาคมนี้จะนำเสนอครม. พิจารณาซึ่งช่วงบางซื่อ-หัวลำโพงและบางซื่อ-หัวหมากจะเชื่อมต่อโซนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจะก่อสร้างในเส้นทางเดียวกันที่เรียกว่า "คลองแห้ง" ในช่วงพื้นที่สถานีรถไฟสามเสน ซึ่งขณะนี้โครงการสายสีแดงมิสซิ่งลิงค์มีความพร้อมแล้วรอเพียงโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมืองพร้อมเท่านั้นก็จะนำเสนอครม.พิจารณาไปพร้อมกัน

"การก่อสร้างแอร์พอร์ตลิงค์นั้นจะเสนอให้ดำเนินการไปถึงดอนเมือง แต่สามารถแบ่งเฟสการก่อสร้างช่วงพญาไท-บางซื่อก่อนได้ ล่าสุดร.ฟ.ท.จัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมเสนอสศช.ไปแล้ว ทั้งนี้ได้มีการแบ่งพื้นที่ช่วงหน้าสนามบินดอนเมืองเอาไว้แล้วว่าจะมีการใช้โครงสร้างร่วมกันอย่างไรบ้าง จึงต้องมีการนำเสนอตลอดทั้งสาย ส่วนการก่อสร้างจะแบ่งเฟสดำเนินการได้ โดยเส้นทางมิสซิ่งลิงค์และแอร์พอร์ตลิงค์นั้นการประกวดราคาจะดำเนินการได้ภายในปลายปีนี้ขณะนี้ได้สั่งให้จัดทำทีโออาร์พร้อมกัน"

สำหรับโครงการอื่นๆที่จะเร่งผลักดันนำเสนอครม.ต่อเนื่องกันไป ประกอบไปด้วย โครงการรถไฟทางคู่ 4 เส้นทางคือ เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ วงเงิน 2.9 หมื่นล้านบาท เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท เส้นทางนครปฐม-หัวหิน วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้บอร์ดสศช.อยู่ระหว่างการพิจารณา เช่นเดียวกับเส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลนำเสนอสศช.

"ทั้ง 3 เส้นทางสายสีแดงและแอร์พอร์ตลิงค์ส่วนต่อขยายนั้นตามแผนจะนำเสนอครม.ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ดังนั้นหากรวมรถไฟทางคู่เข้าไปด้วยจึงจะสามารถนำเสนอครม.พิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการได้ทั้ง 6 โครงการ โดยจะสามารถจัดการประกวดราคาได้ภายในปลายปีนี้และเริ่มงานก่อสร้างได้ในปลายปี 2560 ต่อไป"

นายอาคมกล่าวอีกว่าในส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่นั้นกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาของญี่ปุ่นอยู่ระหว่างคิดราคามานำเสนอ ซึ่งจะต้องรอความชัดเจนผลการศึกษาด้านการลงทุน
"จะใช้เงินลงทุนจากแหล่งใดบ้างนั้นขณะนี้ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ ซึ่งในการแบ่งตอนก่อสร้างอาจจะแบ่งเป็น 2 ช่วงดำเนินการคือกรุงเทพฯ-พิษณุโลก และพิษณุโลก-เชียงใหม่ หรือหากจะให้เกิดขึ้นโดยเร็วอาจจะเลือกช่วงกรุงเทพฯไปถึงจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งของช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลกไปดำเนินการก่อน "

ด้านนายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกุล รองผู้ว่าการ(กลยุทธ์และแผน)การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างเอกสารประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันออก(ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) วงเงิน 9.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดประกวดราคาได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ในส่วนสายสีชมพู(แคราย-มีนบุรี) วงเงินรัฐลงทุนจ่ายค่ากรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 6,847 ล้านบาท และสายสีเหลือง(ลาดพร้าว-สำโรง) รัฐลงทุนจ่ายค่ากรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 6,013 ล้านบาท นั้นคณะกรรมการตามมาตรา 35 อยู่ระหว่างการเร่งกำหนดเงื่อนไขเอกสารประกวดราคา ตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯพ.ศ.2556 คาดว่าจะสามารถเปิดประกวดราคาได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้และเริ่มก่อสร้างในปลายปี 2560

"ทั้ง 2 เส้นทางกับระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลรูปแบบร่วมลงทุนในเบื้องต้นได้กำหนดระยะเวลาโครงการไว้ 30 ปี บวกกับระยะเวลาการก่อสร้างอีก 3 ปี 3 เดือน ดังนั้นรวมทั้งโครงการจึงมีระยะสัมปทานทั้งสิ้น 33 ปี 3 เดือนคาดว่าจะโดนใจนักลงทุนได้ไม่มากก็น้อย"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,166 วันที่ 16 - 18 มิถุนายน พ.ศ. 2559