กระทรวงอุตฯต้องเปลี่ยน! จากบทบาท‘เรกูเลเตอร์’มาเป็นส่งเสริมมากขึ้น

14 มิ.ย. 2559 | 03:00 น.
ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม คนใหม่ให้สัมภาษณ์พิเศษ\"ฐานเศรษฐกิจ\"เป็นฉบับแรก ถึงภารกิจสำคัญและนโยบายหลักของกระทรวงอุตสาหกรรม ในยุคที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการทำงานที่รวดเร็วและคล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ หรือ New S-curve ถูกยกระดับให้มีบทบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

1ปีในเก้าอี้ปลัดกระทรวงอุตฯ

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวแสดงจุดยืนถึงการมานั่งทำงานในตำแหน่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีระยะเวลาเพียง 1 ปีก็พ้นอายุราชการนั้น ถามว่านานมั้ย! ก็ไม่นาน เพราะผมเกษียณอายุราชการเดือนกันยายนปี2560 แต่โชคดีตรงที่เป็น1 ปีที่มีอายุงานที่เหลือเท่ากับอายุรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)พอดี ดังนั้นภารกิจหลักของผมประการแรก จะต้องเข็นงานที่เป็นนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ออกมาให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด โดยเฉพาะในงานที่ได้รับมอบหมาย ตรงนี้คือภารกิจเร่งด่วนที่จะต้องรีบดำเนินการภายใน 1 ปีนี้ ซึ่งผมพร้อมสตาร์ททันที!

ประการที่ 2 จะต้องวางรากฐานของงานที่จำเป็นหลายๆด้านที่เป็นภารกิจพื้นฐานและสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบของงานที่เคยทำในอดีตที่ทำอยู่ อาจจะปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกตัวอย่าง กระทรวงอุตสาหกรรมที่ทุกคนรู้ว่า ภารกิจหลักเราเป็นเรกกูเรเตอร์ หรือผู้กำกับดูแลด้านนโยบาย เมื่อมองเข้ามา มักจะนึกถึงเรื่องกฏระเบียบ เป็นหลัก เหล่านี้เราจะต้องคำนึงถึงว่า ทุกวันนี้โลกกำลังเปลี่ยนไป มันมีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามา มีวิทยาการใหม่ๆเข้ามา ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องดูแลใหม่ มาจัดกระบวนการใหม่ให้ทันตามกระแสโลกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผมใช้หลักการหรือวิธีคิดง่ายๆ เลยคือ

1.จะต้องสร้างเครือข่ายหรือเนตเวิอร์คและการกำกับดูแล พัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งอาจจะต้องมีงานบางส่วนให้คนอื่นเข้ามาดูแลแทน โดยในส่วนของการกำกับเราอาจจะต้องคำนึงถึง ”เติร์สปาร์ตี้”มากขึ้น ที่อาจจะมาในรูปขององค์กร สมาคม หรือเอกชนที่เข้ามา โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้คุมคุณภาพ โดยมีระเบียบออกมา ยกตัวอย่าง เช่น ห้องแลป อาจจะไปใช้แลปเอกชนก็ได้ แต่จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่เรากำหนด เพื่อจะได้ไม่ต้องรอนาน หน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมคือไปกำหนดให้แลปเหล่านั้นต้องเป็นไปในมาตรฐานเรา

“ยกตัวอย่างเหมือนเราต่อทะเบียนอายุรถเมื่อเกิน7 ปี ที่ปัจจุบันเราสามารถไปตรวจที่อู่ไหนที่มีบริการได้ พอตรวจเสร็จก็นำเอกสารมายื่นไม่เช่นนั้นแล้วต้องไปรอคิวที่กรมขนส่งซึ่งนานมาก ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้การทำงานเร็วขึ้น”
รวมถึงงานด้านอนุญาตทุกอย่าง เหล่านี้เราอาจจะต้องไปดูเรื่องการแก้ไขกฎหมายบางส่วน ซึ่งจำเป็นต้องแก้ และถ้าเราคิดโดยเอากฎหมายมาวางงานก็จะเหมือนเดิม แต่วิธีการผมคือ ต้องถอดกฎหมายออกไปก่อนแล้วมาดูว่าแบบนี้ดีมั้ย ถ้าดี หลังจากนั้นเราก็ไปปรับปรุงกฏหมาย ไปปรับปรุงระเบียบให้ดำเนินการตามนั้น เหล่านี้คือการสร้างเนตเวิร์คในการจัดการดูแล

2.ต้องกระจายอำนาจของกระทรวงอุตสาหกรรมให้มากขึ้นโดยเฉพาะการกำกับดูแล เช่น บางงาน เราสามารถมอบหมายให้กับท้องถิ่นได้ ที่ไม่มีผลกระทบต่อประชาชนเยอะ 3.เราต้องเปลี่ยนจากเรกกูเรเตอร์ มาเป็นการส่งเสริมมากขึ้น เช่น แทนที่จะออกมาตรฐานและกำกับดูแลตรวจสอบคุณภาพ เราอาจจะไปพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้ดีขึ้น ยกระดับให้ได้มาตรฐานโลก รวมทั้งพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้เข้าใจ ให้รู้และสามารถปรับประสิทธิภาพของตัวเองให้ได้มาตรฐานต่างๆ โดยเราเปลี่ยนบทบาทจากที่เป็นคนออกใบอนุญาตเป็นคนกำกับดูแล ก็มาเป็นบทบาทของผู้ส่งเสริมมากขึ้น แต่การกำกับดูแลยังต้องดูแลต่อ เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการกำกับใหม่

“การพัฒนาผู้ประกอบการให้เข้าใจและพัฒนาตัวเองได้ เพราะทุวันนี้เรามีระเบียบ มีบุคลากรเต็มไปหมดแม้กระทั่งมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนเราก็เข้าไปช่วยให้เขาได้มาตรฐานได้ เช่น สินค้าพื้นบ้าน”

4.เร่ง 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ หรือ New S-curve ให้สามารถขยายตัวและโดยเฉพาะการพัฒนาเอสเอ็มอีให้เข้าไปมีส่วนร่วมในซัพพายเชนของกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่และซุปเปอร์คลัสเตอร์ได้อย่างไร

5.พยายามออกแบบและวางแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งระยะสั้นและระยะยาวตามกรอบไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งกรอบนี้อาจจะแยกขอบเขตของคำว่า”อุตสาหกรรม(อินดัสตรี) กับบริการที่อาจต้องผสมผสานกันโดยใช้เรื่องของครีเอทีฟและเทคโนโลยีมากขึ้น

คนในกระทรวงเริ่มสมองไหล

ส่วนกรณีที่มีการตั้งคำถามว่าคนในกระทรวงฯเริ่มสมองไหล หาคนเก่งยากขึ้นนั้น โดยส่วนตัวผมกลับมองว่าคนในกระทรวงเก่งโดยเฉพาะคนในกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.)ในระดับผู้อำนวยการทุกคนเก่งในงานที่ดำเนินการอยู่แล้ว ถ้าถัดไปอีกรุ่นก็ยังมีช่องว่าง เนื่องจากเราเปลี่ยนกระบวนการทำงานไปค่อนข้างมาก เพราะหน่วยงานของรัฐในยุคหลังๆ มักเน้นการเป็นผู้ประสานงาน เป็นผู้กำกับดูแลมากกว่าที่จะลงมือทำเองเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ก็จะทำให้อาจมีคนที่มีความชำนาญอีกด้านที่ไม่ใช่ด้านในทางปฎิบัติมากนัก แต่ที่ผมดูถ้าเราเข้าไปเติมเต็มในระบบการพัฒนาโดยเฉพาะเรื่องการบริหารให้กับคนรุ่นหลังมากขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็คงมีระบบการจัดการในเรื่องการพัฒนาบุคคลกร ค่อนข้างต่อเนื่อง เพียงแต่ระบบราชการอาจทำให้ในบางช่วงมีการจำกัด การรับราชการ ถ้าจำนวนราชการน้อยลงอาจเป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งพอสมควร เช่น อยากดันคนเก่ง คนหนุ่มให้ขึ้นมาเร็วขึ้นก็ทำยาก ไม่สามารถย้ายข้ามหัวใครได้ คือสามารถโปรโมตได้ แต่มีข้อจำกัดในระดับหนึ่ง ซึ่งเหล่านี้มันมีระเบียบที่วางไว้ มีเงื่อนไขที่ค่อนข้างรัดกุมก็เหมือนดาบสองคม เพื่อไม่ให้เกิดการใช้เส้นใช้สาย หรือในบางช่วงที่เศรษฐกิจดี อาจจะมีคนเก่งที่มีทางเลือกอื่น แต่ก็อาจจะมีอุปสรรคสำหรับคนหนุ่มที่เก่ง

ระเบียบใหม่ที่ก.พ.จะออกมาใช้

ระเบียบใหม่ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะออกมาต่อไปนี้ ถ้าจะก้าวขึ้นไปสู่อีกตำแหน่งก็มีเงื่อนเวลา เช่น คนที่จะขึ้นซี9 ผู้อำนวยการจะต้องผ่านประสบการณ์มาจากหน่วยงานด้านต่างๆมาแล้ว 6 ปีโดยจะต้องต่างงาน ต่างพื้นที่ ต่างตำแหน่งคือจะต้องย้ายมาอย่างน้อย3 ที่ ที่ละ2 ปี รวม6 ปี แบบนี้แต่ก็จะมีข้อดีที่ทำให้คนมีความรอบรู้มากขึ้น ผ่านประสบการณ์มาหลายด้าน แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลา การก้าวขึ้นต่อไปจะต้องเรียงไล่ จากปัจจุบันถ้าซี8จะขึ้นซี9 จะต้องมีประสบการจากที่ต่างๆมาอย่างน้อย 4 ปี

สำหรับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้ถ้ามองในแง่ข้าราชการ เราเป็นข้าราชการก็ต้องเดินตามกติกาที่ชัดเจน สิ่งหนึ่งที่จะต้องเดินก็เพราะเป็นนโยบายของรัฐในฐานะหน่วยงานที่ต้องกำกับ ประการต่อมาคือจะต้องถูกระเบียบ ถูกกฎหมาย อย่างชัดเจน เพราะไม่เช่นนั้นแล้วนโยบายที่ท่านนายกรัฐมนตรีสั่งชัดเจนว่าจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย ถ้าไม่ดำเนินการตามกฎหมายมันก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์ ข้าราชการมีระเบียบที่ชัดเจน อย่างกรณีที่มีข้อขัดแย้งอะไรก็แล้วแต่ เราก็รับข้อมูลของความเห็นของทั้ง2ฝ่ายมาพิจารณา แต่สุดท้ายเราก็ยังยืนหยัดอยู่ 2 ประการคือนโยบายและกฎระเบียบกฎหมายที่ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นแล้วก็ไม่เกิดประโยชน์ในการบริหารประเทศ ซึ่งก็เป็นนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรีด้วยว่าข้าราชการจะต้องเดินตามนโยบายและตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด

เร่งพัฒนางานด้านสมอ.

ส่วนงานด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เมื่อมานั่งเป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมก็จะให้นโยบาย โดยในเบื้องต้นจะเร่งพัฒนาในการออกมาตรฐานให้ครอบคลุมจำนวนสินค้าให้มากขึ้น และต้องเล่นบทส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาตัวเองให้เข้าสู่มาตรฐานใหม่ได้ รวมถึงการไปส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้าใจในเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.) ให้มากขึ้น เช่นเวลาเลือกซื้อของ เมื่อเห็นเครื่องหมายมอก.ก็มั่นใจได้การซื้อสินค้าที่มีมอก.มากขึ้น รวมถึงให้ความรู้ผู้ประกอบการในการพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น เราจะต้องเล่นในบาทบาทเหล่านี้มากขึ้น ส่วนบทที่ต้องกำกับดูแล และออกใบอนุญาตก็ดำเนินการตามพรบ.อยู่ แต่จะเน้นในเรื่องของการให้บริการที่ดีขึ้น ไวขึ้นโดยการมีเติร์สปาร์ตี้เข้ามาดำเนินการร่วมอย่างไร ตรงนี้จะใช้หลักการเดียวกันเข้ามาช่วยดูแล ทั้งหมดนี้คือภารกิจเบื้องต้น ก่อนทิ้งท้ายว่าหลังจากนี้อีก 3 เดือนค่อยมาสัมภาษณ์ใหม่ขอเวลาทำงานในบทบาทปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมก่อนซักระยะ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,165 วันที่ 12 - 15 มิถุนายน พ.ศ. 2559