ลุ้นอุตฯทีวีดิจิตอล ก้าวสู่ปีที่ 3 รายได้ทรุด ดึงธุรกิจรองสานต่อสายป่าน

30 พ.ค. 2559 | 01:00 น.
การออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงทิศทางตลาดทีวีดิจิตอลในเมืองไทย ของนักวิชาการ พร้อม แนะให้จับตามองอย่างใกล้ชิดว่าอุตสาหกรรมนี้จะเข้าสู่สภาวะฟองสบู่แตกหรอื ไม่เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณจากปัจจัยต่างๆ ทั้งพฤติกรรมผู้ชมรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไปจากการรับชมทีวีไปสู่ออนไลน์ ส่งผลให้การเติบโตจากระบบเทคโนโลยีสตรีมมิ่งเพิ่มขึ้น, จำนวนช่องที่มีจำนวนมาก ฯลฯ ขณะที่ผู้ประกอบการจำนวนมากเริ่มหาทางออกโดยการนำคอนเทนต์ไปนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เกือบหมด ดังนั้นหากผู้ชมหันไปดูทางออนไลน์ทั้งหมด คุณค่าของทีวีรวมถึงรายได้จากค่าโฆษณาก็จะหายไปด้วย

 ภาวะอุตสาหกรรมสื่อทีวี

จากผลสำรวจของบริษัท เอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัดรายงานการใช้เงินโฆษณาไตรมาสแรกของปี 2559 จนถึงปัจจุบันมียอดต่ำกว่าไตรมาสก่อนและลดลงต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็บงบโฆษณาจากสื่อทีวี ขณะที่การใช้เงินโฆษณาลดลงมากในช่วงเดือนมกราคม และแม้ในช่วงที่ผ่านมาจะฟื้นตัวบ้างแต่ก็ยังไม่ดีมากนัก และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลยังคงลดลงต่อเนื่องราว 9 % หรือ 4.48 พันล้านบาท ขณะที่การใช้เงินโฆษณาผ่านช่องรายการโทรทัศน์รายเดิมนั้นลดลงจากไตรมาสก่อนราว 12% หรือ 1.2 หมื่นล้านบาท

จากปัญหาการชะลอตัวของสภาพเศรษฐกิจส่งผลให้บริษัทเอกชนหลายรายลดค่าใช้จ่ายงบประมาณการโฆษณาลดลง ประกอบกับผลกระทบจากจำนวนช่องโทรทัศน์ที่เพิ่มขึ้น ปัญหาการเรียงหมายเลขช่องไม่เป็นตามที่คาด และพฤติกรรมผู้ชมที่มีแนวโน้มรับชมคอนเทนท์ผ่านทางจอโทรทัศน์ลดลงและหันไปให้ความสนใจกับสมาร์ทโฟนมากขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนแล้วแต่ส่งผลภาวะการแข่งขันที่รุนแรงต่อผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ทั้งสิ้น

 ผลประกอบการลดลง

ทั้งนี้จากการสำรวจผลประกอบการของแต่ละบริษัทสื่อส่วนใหญ่มีผลประกอบการลดลงเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน อาทิ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือช่อง 3 มีรายได้จากการขายเวลาโฆษณาของกลุ่มราว 3.09 พันล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 416.1 ล้านบาท ขณะที่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) มีรายได้รวมไตรมาสแรกกว่า 721 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19% โดยเฉพาะธุรกิจทีวีลดลง 35%

ขณะเดียวกัน บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) มีรายได้รวม 1.21 พันล้าน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 4.11 ล้านบาท ขณะที่ด้านธุรกิจสื่อ ประกอบด้วยสื่อโทรทัศน์และวิทยุมีรายได้กว่า 423 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 148.1 ล้านบาท หรือ 25.9% ด้านบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ไม่ต่างกันมีรายได้รวมทั้งกลุ่มราว 1.97 พันล้านบาท ลดลง 12.2% ซึ่งรายได้ของธุรกิจทีวีดิจิตอลแบ่งเป็น ช่องวัน มีรายได้เท่ากับ 7 ล้านบาท ลดลง 97% เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างงบการเงินใหม่

 ธุรกิจรองหนุนธุรกิจหลัก

สำหรับที่ผ่านมาธุรกิจสื่อหลายแห่งจากเดิมที่เน้นเพียงแค่การขายโฆษณาผ่านจอทีวี แต่ปัจจุบันจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยรายได้โฆษณาลดลงทำให้องค์กรต่างๆดังกล่าวจึงต้องเปลี่ยนเกม พลิกกลยุทธ์หาธุรกิจเสริมเข้ามาช่วยหนุนองค์กรให้มีรายได้มากขึ้น อาทิ ช่องจีเอ็มเอ็ม แชนแนล ที่ประกอบด้วยธุรกิจทีวีดิจิตอล ธุรกิจวิทยุ และธุรกิจ มีรายได้ไตรมาสแรก 420 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.5% ซึ่งอัตราการเติบโตมาจากกลุ่มโชว์บิซเป็นหลัก ขณะที่อสมท แม้จะมีรายได้จากกลุ่มทีวีลดลงแต่มีรายได้จากธุรกิจโครงข่ายทีวีดิจิตอลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกมีรายได้ราว 85 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 77% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ด้านบริษัทอาร์เอส เช่นเดียวกันมีรายได้รับจ้างการผลิตกิจกรรมจากการจัดคอนเสิร์ตและกิจกรรมการตลาดจำนวน 642.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 572.4 ล้านบาทหรือ 813% เนื่องจากในไตรมาสแรกที่ผ่านมาบริษัทมีกิจกรรมที่มีมูลค่าและปริมาณมากว่าปีก่อน อีกทั้งคอนเสิร์ตและกิจกรรมที่จัดขึ้น ทั้งนี้ในส่วนของเวิร์คพ้อยท์ทีวีในปีที่ผ่านมาได้ก่อสร้าง โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ โดยเปิดให้บริการจัดกิจกรรมอีเว้นท์และละครเวที ก็มีรายได้ในไตรมาสแรกนี้ราว 21.48 ล้านบาท

ช่อง 7 ปรับผัง

ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ทีวีดิจิตอลเกิดขึ้น แม้จะมีผู้เล่นบางรายที่ถอดใจไม่ลงทุนต่อแล้ว แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการอีกจำนวนมากที่ยังทุ่มงบลงทุนต่อเนื่องพัฒนาคอนเทนท์ ปรับผังรายการ อาทิ เนชั่นทีวี อมรินทร์ทีวี นิวทีวี พีพีทีวี อื่นๆ เพื่อหวังจะชิงตำแหน่ง TOP 10 ซึ่งไม่ได้มีเพียงผู้เล่นหน้าใหม่ที่ต้องพัฒนาผังรายการต่อเนื่องเพื่อหวังติดอันดับ แต่ผู้เล่นเจ้าเก่าอันดับ 1 อย่างช่อง 7 ก็เร่งปรับผังต่อเนื่องเพื่อหวังครองตำแหน่งแชมป์เก่าเช่นกัน

ล่าสุดช่อง 7 ได้นำเสนอรายการ ละคร ข่าว กีฬา รวมไปถึงซีรีส์และภาพยนตร์จากต่างประเทศ เพื่อเข้าถึงผู้ชม ทุกกลุ่มเป้าหมายทั้งเนื้อหา สาระ และความบันเทิง ด้วยรายการใหม่หลากหลายรูปแบบ เรียลลิตี้ ท่องเที่ยว วาไรตี้ทอล์ก เช่น รายการ World War Star Thailand อุบัติการณ์แห่งดวงดาว ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 15.30น.-17.00 น. สำหรับทุกวันพุธ เวลา 23.10-00.10 น. พบกับรายการประกวด นางสาวไทย 2559 (MISS THAILAND 2016) ตลอดเดือน กรกฎาคม – เดือน สิงหาคม

นอกจากนี้ยังมีรายการ พรุ่งนี้ฉันจะลดความอ้วน และทุกวันเสาร์ เวลา 15.45 น. พบกับ รายการสับขาหลอก เริ่ม วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคมนี้ นอกจากนี้ยังมีรายการท่องเที่ยวแนวต่าง ๆ รวมถึงรายการเอาใจคอกีฬาได้เต็มอิ่มกับรายการกีฬาทั้งไทยและต่างประเทศยอดฮิต

"ในส่วนของรายการข่าว ได้มีการเพิ่มความเข้มข้นและรวดเร็วของข่าวให้เข้าถึง แฟน ๆ มากยิ่งขึ้นด้วยการสื่อสารในช่องทางใหม่ ๆ ในทุกรูปแบบอีกด้วย รวมถึงละครฟอร์มใหญ่ โปรดักชั่นตระการตา ภาพบรรยากาศฉากสวยงามจากทิวทัศน์ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกคับคั่ง เช่น เพลิงพระนาง ทิวลิปสีทอง ลิขิตริษยา น้ำเซาะทราย สายโลหิต เพชรตัดเพชร เป็นต้น อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น 7HD Roadshow ขบวนสุขครบรส กด 35 เพื่อเป็นการตอบแทนแฟนๆ ด้วย" นายพลากร สมสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 กล่าว

คงต้องจับตากันอย่างใกล้ชิดกับก้าวย่างแต่ละก้าวของผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ ที่ยังต้องลุ้นกันสุดลิ่มเลยทีเดียว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,161
วันที่ 29 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559