เปิดใจ‘สมโภชน์’ มือปั้นสตาร์ตอัพค่าย ‘ดีแทค’ สะท้อนมุมมอง STARTUP THAILAND

30 พ.ค. 2559 | 03:00 น.
กระแส สตาร์ตอัพ ไทยแลนด์ 2559 ที่รัฐบาลกำลังผลักดันเพื่อที่จะส่งเสริมและพัฒนากลุ่มธุรกิจผู้ประกอบการรายใหม่ จำนวน 1 หมื่นราย โดยตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2561 พร้อมตั้งงบประมาณสนับสนุนกลุ่มสตาร์ตอัพในเบื้องต้น 2 หมื่นล้านบาท

โดยเป็นงบจากกระทรวงการคลัง 1 หมื่นล้านบาท และ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที หลังร่างกฎหมายเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลฯ ผ่านการพิจารณาจาก สนช.(สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) แล้ว สามารถตั้งกองทุนดิจิตอลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยจะของบประมาณเพิ่มเติมอีก 1 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนโดยให้ 3 ธนาคารรัฐ กรุงไทย ,ออมสิน และ เอสเอ็มอี แบงก์ กันเงินแห่งละ 2,000 ล้านบาทไว้สนับสนุนอีกด้วย

แม้รัฐบาลเพิ่งมาผลักดัน สตาร์ตอัพ ในปีนี้ แต่สำหรับค่ายมือถือให้ความสำคัญในเรื่องนี้มานานแล้วโดยเฉพาะ ดีแทค หรือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ผลักดันโครงการบ่มเพาะ ภายใต้ชื่อ " ดีแทค แอคเซอเลอเรท" เป็นปีที่ 4

อย่างไรก็ตาม "ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายสมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมธุรกิจ และ ดีแทค แอคเซอเลอเรท ของ ดีแทค เกี่ยวกับมุมมองหลังรัฐบาลผลักดันโครงการสตาร์ตอัพไทยแลนด์ รวมไปถึงโครงการ ดีแทค แอคเซอเลอเรท ติดตามอ่านได้จากบรรทัดถัดจากนี้

คิดเห็นอย่างไรกับสตาร์ตอัพ ไทยแลนด์

ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมากเพราะว่าสตาร์ตอัพในหลายๆ ประเทศเป็นฟองสบู่ไปแล้วไม่ว่าที่ ซิลิคอนวัลเล่ย์, สาธารณรัฐประชาชนจีน และ ประเทศอินเดีย แต่ประเทศในย่านภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกำลังเป็นบวก เพราะเมื่อเกิดฟองสบู่ทำให้เม็ดเงินการลงทุนกำลังไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเพิ่มมากขึ้นตามดำลับ

ดังนั้นเมื่อภาครัฐส่งเสริมในเรื่องนี้เป็นสิ่งทีดี ซึ่งในประเทศเวียดนามได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ไปเมื่อ 2 ปี และ ได้แซงประเทศไทยไปแล้ว แต่สิ่งที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการอยู่ถือว่าเป็นการจุดไฟด้วยไม้ขีดให้คนหมู่กว้างเข้าใจรวมไปถึงนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

เช่นเดียวกับโครงการ " ดีแทค แอคเซอเลอเรท" เป็นซีซันที่ 4 มีสตาร์ตอัพจำนวน 22 บริษัท เติบโตขึ้น 3-15 เท่า ด้วยมูลค่าประมาณ 1 พันล้านบาท ทำให้ ดีแทค มีโครงการศูนย์บ่มเพาะ (พี่เลี้ยง) เป็นอันดับ 1 ของประเทศ และ ติดอันดับ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ สตาร์ตอัพในโครงการ ดีแทค แอคเซอเลอเรท 70% ได้รับเงินลงทุน ในขณะที่สตาร์ตอัพในตลาดได้รับเงินลงทุนเฉลี่ยเพียง 20% เท่านั้น และ กองทุน 500 Tuk Tuk ซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในระดับโลก และ มีความเคลื่อนไหวมากที่สุด มีพอร์ตการลงทุนถึง 50 % ในบริษัทที่เข้าโครงการกับ ดีแทค แอคเซลเลอเรท

ขณะที่ เคลมดิ (ClaimDi) ซอฟต์แวร์ที่ปฏิวัติวงการประกันภัยระดับโลก สามารถระดมทุนจากนักลงทุนระดับโลก ในรอบซีรีส์เอ เป็นเงินทั้งสิ้น 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้มูลค่าของบริษัทสูงถึง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตขึ้น 15 เท่าภายในระยะเวลาแค่ 12 เดือนหลังจบโครงการไป และ ถือเป็นการลงทุนในระดับซีรีส์เอที่สูงที่สุดในวงการสตาร์ตอัพไทย ที่เป็นบริษัทของคนไทย 100% และยังจดทะเบียนในไทยที่มีการระดมทุนสร้างมูลค่าบริษัทที่สูงที่สุด และล่าสุดได้รับการจัดอันดับให้ติด Top 10 ของโลกทางด้าน Startup ในสายธุรกิจ Insurance หรือ Top10 InsureTech ของโลก

มีเพียง 10% เท่านั้นที่มีโอกาส

อย่าเรียกว่าข้อเสียเลยนะครับ ขอเป็นข้อควรระวังดีกว่า การที่รัฐเข้ามาสนับสนุนด้วยเม็ดเงินจำนวน 1 หมื่นล้านบาท ถ้าลงทุนในสตาร์ตอัพที่ไม่ผลิตชิ้นงานออกมาก็น่าเสียดาย เพราะสตาร์ตอัพ ส่วนใหญ่ 10% เป็นประเภทซอมมี่ คือ ไม่ตายและไม่โต , 80% เจ๊ง มีเพียง 10% เท่านั้นที่มีโอกาส

ปีที่ 4 กับโครงการสตาร์ตอัพ

ปีนี้เป็นปีที่มีส่งทีมเข้าประกวด 500 ทีม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายสตาร์ตอัพ ไทยแลนด์ และ ที่สำคัญจากการสอบถามนักศึกษาปริญญาโทส่วนใหญ่อยากเป็นเจ้าของกิจการเพราะเห็นคนต้นแบบอย่าง สตีฟ จ็อบส์,มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ร่ำรวยจากโซเชียลมีเดีย

ขณะที่ประเทศไทยคนที่ประสบความสำเร็จ คือ (คุณป้อม) ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ตลาดดอทคอม และ หมู อุ๊คบี (ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์) ที่ให้บริการ e-magazine เป็นต้น ซึ่งทำให้นักศึกษาเหล่านี้อยากเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งปีแรกที่ ดีแทค จัดโครงการนี้ มีผู้สมัครเพียง 30 ทีม ,ปีที่ 2 มีจำนวน 300 ทีม และ ปีที่ 3 จำนวน 300 ทีม (หมายเหตุ: ดีแทค แอคเซอเลอเรท batch 4 เปิดรับสมัครผลงานตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม - 17 เมษายน 2559) นอกจากนี้แล้ว ดีแทค แอคเซอเลอเรทเตรียมประกาศ 7 ทีมสตาร์ตอัพรับ Investment Funding (กองทุนที่สนับสนุนเวนเจอร์แคปปิตอล หรือ vc อีกด้วย)

ดีแทค ได้อะไร

นวัตกรรม หรือ Innovation บริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องการพัฒนาแอพพลิเคชันใหม่ ๆ ต้องใช้ระยะเวลาถึง 18 เดือน แต่เด็กพวกนี้พัฒนาเพียง 18 วันเท่านั้น

มองอัตราการเติบโต

ธุรกิจสตาร์ตอัพ มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีสถิติที่น่าสนใจเกิดขึ้นในปี 2558 มีการลงทุนในกลุ่มสตาร์ตอัพไทยประมาณ 35 – 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,260 – 1,440 ล้านบาท ด้วยดีลในการร่วมลงทุนในธุรกิจกว่า 20 ดีล และยังมีอีกหลายดีลที่ไม่เปิดเผย รวมทั้งหมดแล้วคาดการณ์มูลค่าในการลงทุนประมาณ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1800 ล้านบาท ดีแทคเล็งเห็นถึงการเติบโตในธุรกิจสตาร์ตอัพ จึงได้ให้ความสำคัญและทุ่มเทใน Startup Ecosystem ด้วยการก่อตั้งโครงการดีแทค แอคเซอเลอเรท เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในปี2559 ดีแทค แอคเซอเลอเรท ตั้งเป้าหมายสูงสุดที่จะยกระดับ ดีแทค แอคเซอเลอเรท สู่เวทีสตาร์ตอัพโลก เส้นทางของดีแทค แอคเซอเลอเรท เติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนเข้าปีที่ 4

"เราเป็นโครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัพ เบอร์ 1 ของประเทศไทย จากบทพิสูจน์ผลงานการสร้างธุรกิจแบบโตเร็ว ให้กับทีมที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 11 ทีม ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา จนประสบความสำเร็จในธุรกิจ และสามารถขยายสเกลสู่ตลาดต่างประเทศ"

แนวโน้มแอพในอนาคต

แอพพลิเคชันดาวรุ่งปีนี้ และ ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าน่าจะเป็น FINTECH ขณะที่ HealthTech ก็กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก อันเนื่องมาจากโลกกำลังเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ และ มีอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ ที่มีความฉลาดล้ำเข้ามาเสริม ในขณะที่ EdTech ก็เป็นแอพที่จะช่วยพัฒนาการศึกษาให้ทุกคนได้เข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียม และช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การขยายโครงข่าย 4G ให้ครอบคลุมพื้นที่การใช้งาน ทำให้ความนิยมในการเข้าไปดูวิดีโอ สตรีมมิ่ง มากขึ้นทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ VR Technology หรือ เทคโนโลยีเสมือนจริง ก็กำลังถูกเอามาทำในเชิงพาณิชย์มากขึ้นต่อไปนับจากปีนี้และปีต่อๆไป

นอกจากนี้ ดีแทค ได้เดินหน้ายกระดับพัฒนาศักยภาพ ตั้งเป้าในการเป็น Employer of Choice หรือ องค์กรในฝันที่คนรุ่นดิจิตอลอยากทำงานด้วย พร้อมดึงดูดคนเก่งที่มีคุณภาพ มุ่งให้บริษัทเป็นแหล่งพลังขับเคลื่อนคนดิจิตอล (Digital Talent Powerhouse)

โดยให้พนักงาน ดีแทค เสนอไอเดียที่น่าสนใจมาคัดเลือกทีมจาก 13 ประเทศทั่วโลก โดยผ่านโครงการ "Ignite Incubator" ด้วยการนำหลักสูตรการสอนสตาร์ตอัพมาสอนให้แก่พนักงานในระยะเวลา 3 เดือน เพื่อให้ไอเดียดังกล่าวเกิดขึ้นจริง เพราะ ดีแทค คิดว่าพนักงานหลายคนมีจิตวิญญาณในเมื่อ ดีแทค พัฒนาให้คนนอกเติบโต ถึงเวลาที่ ดีแทค ต้องผลักดันพนักงานเติบโตไปด้วยกัน เพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ก่อนมานำเสนอในงาน Demo Day ช่วงต้นเดือนธันวาคมแก่เหล่านักลงทุนในกลุ่มของเทเลนอร์ เพื่อต่อยอดบริการเหล่านั้นไปให้แก่ลูกค้าเทเลนอร์ทั่วโลก แต่ถ้าไม่สำเร็จก็สามารถกลับมาทำงานตำแหน่งเดิมได้โดยไม่เสียอะไร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,161
วันที่ 29 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559