จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าเตาปูน-บางซื่อ ความ(ไม่)ลงตัวของการเดินทาง

01 มิ.ย. 2559 | 01:00 น.
น่าจะเป็นอีกหนึ่งจุดเชื่อมต่อที่หลายคนมองว่าอาจจะลงตัวแล้วเมื่อกระทรวงคมนาคมจะนำรถชัตเติลบัสและรถไฟมารองรับการเดินทางของผู้ใช้บริการสายสีม่วง เตาปูน-บางซื่อเพื่อเดินทางไปยังสถานีกลางบางซื่อด้วยระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ทั้งที่น่าจะเป็นจุดเชื่อมต่อที่ลงตัวด้วยการใช้บริการระบบรางของสายสีม่วงและสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ณ บริเวณพื้นที่สถานีเตาปูน โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)รับเป็นเจ้าภาพดำเนินการ

โครงการนี้เกิดจากการปรับเปลี่ยนของหลายรัฐบาล เรื่องจึงไม่ต่อเนื่องแต่ก็มีจุดหมายเดียวกันคือต้องการให้ประชาชนได้รับความสะดวก โดยคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ให้รฟม.ไปเจรจากับผู้ประกอบการเดินรถสายสีน้ำเงิน(MRT)ในปัจจุบันเพื่อให้สิ้นสุดกับระยะเวลาสัมปทาน MRT ที่ให้บริการในปัจจุบัน(ปี 2572) ปรากฏว่าไม่ได้รับการตอบรับความเห็นดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าไม่คุ้มค่า

ล่าสุด ครม.จึงเห็นชอบให้นำส่วน 1 กิโลเมตรดังกล่าวไปบรรจุไว้ในส่วนต่อขยายของสายสีน้ำเงิน ซึ่งคณะกรรมการร่างเอกสารประกวดราคาตามที่คณะกรรมการตามมาตรา 35 ของรฟม.แต่งตั้งจะต้องนำเสนอไว้ในเงื่อนไขการเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายบางซื่อ-ท่าพระที่จะประมูลหาผู้เดินรถในเร็วๆนี้ต่อไป

ทั้งนี้แหล่งข่าวรายหนึ่งของกระทรวงคมนาคม ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ยังข้องใจต่อกรณีความไม่ลงตัวของจุดเชื่อมต่อระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตรนี้ว่า ปมเหตุสำคัญนั้นเกิดจากอะไรกันแน่ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2549 ที่ครม. เห็นชอบแนวทางการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า 4 โครงการให้รฟม.ไปออกแบบแต่ละโครงการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งประกอบด้วยสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย(หัวลำโพง-บางแคและบางซื่อ-ท่าพระ) สายสีม่วง (เตาปูน-บางใหญ่) สายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต/และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) และสายสีเขียวต่อขยาย (อ่อนนุช และตากสิน)หรือบีทีเอสในปัจจุบันนั่นเอง

ปมปัญหาเริ่มขึ้นในปี 2550

ในเดือนตุลาคม 2550 ครม. เห็นชอบกรอบวงเงินและให้ดำเนินการก่อสร้างในส่วนงานโยธา โครงการสายสีม่วง(เตาปูน-บางใหญ่) และเห็นชอบให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP โดยรถไฟฟ้าสายสีม่วงมีเส้นทางเริ่มต้นจากคลองบางไผ่ไปสิ้นสุดที่สถานีเตาปูน แต่ได้รวมการก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินจากสถานีบางซื่อถึงสถานีเตาปูนก่อสร้างไปพร้อมกับสายสีม่วงเอาไว้ด้วย

กรณีดังกล่าวนี้ในภาคปฏิบัติกลับพบว่ามีความซับซ้อนอย่างมาก ทั้งการที่จะต้องปฏิบัติตามมติครม. หรือการต้องปฏิบัติตามรูปแบบการร่วมลงทุน PPP Net Cost ถ้าไม่สำเร็จให้ดำเนินการแบบ PPP Gross Cost หรือรูปแบบอื่นที่มีประโยชน์ต่อรัฐให้มากที่สุด โดยให้มีระยะเวลาเท่ากับสายเฉลิมรัชมงคล (ที่จะครบกำหนดเดือนกรกฎาคม 2572)

สิ่งหนึ่งยังต้องมีปัญหาการปฏิบัติในช่วงรัฐบาลรักษาการที่ไม่สามารถนำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาดำเนินการได้ เท่านั้นยังไม่พอเมื่อลงลึกในภาคปฏิบัติแล้ว สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ยังเห็นว่าการที่ รฟม. เสนอเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญจากมติ ครม. เดิม หากจะดำเนินการต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของ พ.ร.บ. ร่วมทุน 2556

หวั่นเกิดปัญหาซ้ำรอย

ดังนั้น รฟม. จึงต้องปฏิบัติโดยยื่นขอดำเนินการตาม พ.ร.บ. ร่วมทุนปี 2556 โดยเสนอทบทวนรูปแบบการลงทุนใหม่ ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(คณะกรรมการพีพีพี) ได้เห็นชอบให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงเตาปูน – ท่าพระรูปแบบ PPP Net Cost โดยให้รวมช่วงบางซื่อ-เตาปูนไว้ด้วยแล้ว ปมปัญหาดังกล่าวข้างต้นจึงเห็นได้จากต้นตอปัญหาว่า จากมติ ครม.2553 ที่รัฐได้กำหนดให้มีการดำเนินโครงการส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินโดยการสร้างศูนย์ซ่อมเพื่อรองรับไว้แล้วที่ถนนเพชรเกษม จึงสามารถดำเนินการให้มีผู้เดินรถรายเดียวและ 2 รายได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า

ประการสำคัญในการเปลี่ยนแนวคิดโดยใช้มุมมองเรื่องความสะดวกของผู้โดยสารด้วยการให้บริการเดินรถต่อเนื่อง โดยนำช่วงบางซื่อ-เตาปูนรวมกับสายสีน้ำเงินต่อขยาย ทำให้เกิดมุมมองไม่ได้ว่าจะเป็นการลงทุนที่สูญเสียของภาครัฐในการใช้ประโยชน์ศูนย์ซ่อมแห่งใหม่นั้นหรือไม่ ทำให้รัฐสูญเสียอำนาจต่อรองโดยสิ้นเชิงหรือไม่ และยังถือเป็นนโยบายที่ขาดความโปร่งใสหรือไม่ อีกทั้งโครงการที่กำลังจะต่อขยายจากบางแคถึงพุทธมณฑลสาย 4 ก็น่าจะนำมาพิจารณารวมในขณะนี้เอาไว้ด้วย เพราะเกรงว่าอาจจะทำให้เกิดปัญหาซ้ำๆ ในอนาคตอีก

ท้ายที่สุดแล้วยังจะต้องลุ้นกันอีกว่าจะมีการเจรจารายเดิมที่จะต้องมีการสรุปข้อดีข้อเสียให้คณะกรรมการพีพีพีประกอบการพิจารณาให้ล่าช้าออกไปอีกหรือไม่ แต่ที่แน่ๆช่วงนี้ชาวประชาชนคงต้องใช้บริการรถชัตเติลบัสและรถไฟเชื่อมโยงจากเตาปูนไปบางซื่อและบางซ่อนไปบางซื่อไปพลางก่อนจนกว่าจะได้ตัวผู้เดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายอย่างเป็นทางการตามที่มีแผนเปิดให้บริการประมาณปี 2562

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,161
วันที่ 29 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559