CAT ร่วมสนับสนุน งาน DIGITAL THAILAND 2016

25 พ.ค. 2559 | 06:24 น.
75ffe8d6-6408-4b16-ba8b-c34c7eab6853(1) นายสุรพันธ์ เมฆนาวิน กรรมการบริษัท รักษาการในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม หรือ CAT เปิดเผยถึงแผนขยายโครงข่ายโทรคมนาคมว่า “ทุกวันนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเชื่อมโยงเครือข่าย Digital มีความสำคัญอย่างยิ่ง CAT จึงได้พัฒนาระบบโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมอย่างไม่หยุดยั้ง รวมถึงการเปิดเส้นทางเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกผ่านระบบเคเบิลใยแก้วนำแสงใต้น้ำ (Submarine Cable) ในหลากหลายเส้นทาง และในปีนี้ CAT มีแผนการเปิดใช้งานเส้นทางใหม่ ได้แก่ APG (Asia Pacific Gateway) ซึ่ง CAT ร่วมลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท โดยจะเป็นระบบเคเบิลใยแก้วใต้น้ำที่เชื่อมโยงโดยตรงจากประเทศไทย ไปยัง มาเลเซีย, สิงคโปร์, เวียดนาม, ฮ่องกง, จีน, เกาหลี และญี่ปุ่น ทำให้ CAT Internet Gateway เป็นผู้ให้บริการรายเดียวในประเทศไทยที่ใช้งานระบบใต้น้ำโดยตรงจากประเทศไทยไปยัง Content Provider ที่มีความนิยมในต่างประเทศโดยตรง อาทิ Google, Facebook, Microsoft, Line, Akamai, Amazon โดยระบบเคเบิลใยแก้วนำแสงใต้น้ำนับเป็นเทคโนโลยีโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมที่ดีที่สุดและมีเสถียรภาพมากที่สุด”

ปัจจุบัน CAT Internet Gateway มีจำนวนและขนาดแบนด์วิธในการเชื่อมต่อไปยังผู้ให้บริการทั่วโลก มากที่สุดในประเทศไทย เทียบเท่าผู้ให้บริการชั้นนำของภูมิภาค โดยมีการเชื่อมต่อไปยัง สิงคโปร์ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน ฝรั่งเศส และประเทศในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงมีแผนขยายวงจรเชื่อมต่อขนาด 100 กิกะบิตต่อวินาทีไปยังภูมิภาคต่างๆ ซึ่งจะทำให้มีแบนด์วิธรวมกว่า 500 กิกะบิตต่อวินาที ทำให้ผู้ใช้บริการ ผ่าน CAT Internet l Gateway สามารถเข้าถึง Content ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และปีนี้เราได้ ทุ่มงบพัฒนาระบบและอุปกรณ์อีกกว่า 200 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพโครงข่ายให้รองรับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจดิจิทัล และการเปิดประชาคมอาเซียน (AEC) ให้สามารถใช้งานเครือข่ายได้ถึงระดับเทราบิตต่อวินาที และเพื่อเป็นการตอบสนองแนวโน้มการบริโภคข้อมูลที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนโครงสร้างเศรษฐกิจแบบดิจิตอลของประเทศ CAT จึงร่วมมือกับรัฐบาลในการดำเนินงานโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยไฮไลท์ของโครงการมีดังนี้

การพัฒนาอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วสูง (High-Speed Broadband Internet) สำหรับสัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สายโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ห่างไกล สถานศึกษา รวมถึงเครือข่ายทางการศึกษา (NEdNet) และเครือข่ายข้อมูลของรัฐบาล (GIN) เพื่อให้บริการข้อมูลที่มีประโยชน์และจำเป็นทั่วประเทศ

ระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (National Infrastructure) ด้วยมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาทจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) โครงการนี้จะเติมเต็มช่องว่างระหว่างเมืองและชนบทด้วยโครงสร้างใยแก้วนำแสงที่จะครอบคลุมเกือบ 70,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ หรือคิดเป็น 93 เปอร์เซ็นต์ของชุมชนหมู่บ้านในประเทศไทย

โครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่เตรียมผลักดันให้ภูเก็ตเป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบเพื่อรองรับการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิตอลรวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยอาศัยเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน ศูนย์ข้อมูล และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT

โครงการ Thailand One Map เพื่อรวบรวมและจัดการข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่จากหลายภาคส่วนเพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกป่า หรือ ความขัดแย้งระหว่างพื้นที่

โดยภายในงาน DIGITAL THAILAND 2016 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 - 28 พฤษภาคม 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ CAT จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอเทคโนโลยีด้านการสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อแสดงถึงศักยภาพและความพร้อมของ CAT ในการเป็นผู้ให้บริการด้านโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม ที่สามารถรองรับการใช้งานในยุคดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์