ขาดแคลนนํ้าตาลวิกฤติหนัก โค้กหยุดผลิตในเวเนซุเอลา

27 พ.ค. 2559 | 14:00 น.
โคคา-โคลา เป็นบริษัทล่าสุดที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองภายในเวเนซุเอลา หลังปัญหาขาดแคลนน้ำตาลทำให้บริษัทต้องประกาศหยุดการผลิตเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า บริษัท โคคา-โคลา ได้หยุดทำการผลิตเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลในประเทศเวเนซุเอลาแล้ว หลังจากบริษัทผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศประกาศระงับการผลิตน้ำตาลชั่วคราวเนื่องจากขาดแคลนน้ำตาลทรายดิบ ขณะที่เครื่องดื่มที่ปราศจากน้ำตาล อาทิ โคคา-โคลา ไลท์ และน้ำดื่ม ยังคงดำเนินการผลิตได้ตามปกติ

"ซัพพลายเออร์น้ำตาลในเวเนซุเอลาได้แจ้งกับเราว่าจะหยุดการผลิตชั่วคราวเนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ" เคอร์รี เทรสเลอร์ โฆษกของโคคา-โคลา กล่าว พร้อมกับระบุว่าทางบริษัทกำลังพูดคุยกับซัพพลายเออร์ เจ้าหน้าที่ทางการ และภาคส่วนอื่นๆ เพื่อหาทางแก้ปัญหา

โคคา-โคลาเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์รายล่าสุดที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภายในเวเนซุเอลา ซึ่งกำลังเผชิญกับภาวะการขาดแคลนสินค้า การควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในโลก โดยก่อนหน้านี้ คราฟท์ ไฮนซ์ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารรายใหญ่ และคลอร็อกซ์ ผู้ผลิตน้ำยาทำความสะอาด ได้หยุดการผลิตในเวเนซุเอลาไปแล้วเช่นกัน

ไม่เพียงแต่น้ำตาลเท่านั้น แต่เวลานี้เวเนซุเอลากำลังขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานจำนวนมาก อาทิ แป้ง ไข่ นม ตลอดจนเวชภัณฑ์ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อชีวิตของคนในประเทศ
เศรษฐกิจเวเนซุเอลากำลังประสบกับภาวะถดถอยอย่างรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี เนื่องจากการตกต่ำของราคาน้ำมันซึ่งเป็นรายได้หลักประมาณ 95% ของประเทศ ส่งผลให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 13 ปีที่ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่เศรษฐกิจหดตัวถึง 5.7% เมื่อปีก่อน และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่าจะหดตัวเพิ่มเติมอีก 8% ในปีนี้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงถึงเกือบ 500% และมีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มขึ้นเกินกว่า 1,600% ในปีหน้า

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ทางการเมืองภายในกำลังอยู่ในภาวะที่ตึงเครียด หลังจากพรรคฝ่ายค้านพยายามผลักดันให้มีการจัดทำการลงประชามติเพื่อตัดสินว่านายนิโคลัส มาดูโร ควรอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปหรือไม่ ขณะนายมาดูโรไม่ยินยอมให้มีการจัดทำประชามติ ส่งผลให้เกิดการประท้วงอย่างรุนแรงภายในประเทศ

รายงานจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ (ยูเอสดีเอ) ที่เผยแพร่เมื่อปี 2558 ระบุว่า การถูกควบคุมราคา ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และการขาดแคนเงินตราต่างประเทศ ส่งผลให้กำลังการผลิตอ้อยในเวเนซุเอลาลดน้อยลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่เกษตรกรรายย่อยหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ไม่ถูกควบคุมราคา เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นแทน

ยูเอสดีเอประเมินว่า เวเนซุเอลาจะผลิตน้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ได้ประมาณ 430,000 ตันในปี 2559-2560 ลดลงจาก 450,000 ตันที่ผลิตได้เมื่อปีก่อน และจะเข้าน้ำตาลทรายเป็นประมาณ 850,000 ตัน

ขณะเดียวกัน ธุรกิจอื่นๆ ในเวเนซุเอลาก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน เมื่อเดือนกันยายนปีก่อน เป๊ปซี่รายงานมูลค่าความเสียหาย 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากธุรกิจในเวเนซุเอลา ส่วนบริษัท โพลาร์ เอ็นเตอร์ไพรเซสฯ ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดของประเทศ ต้องปลดพนักงานออก 10,000 คนเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากต้องหยุดการผลิตในโรงงาน 4 แห่งเองจากขาดแคลนวัตถุดิบข้าวบาร์เลย์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,160 วันที่ 26 - 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2559