วิบากกรรมทีวีดิจิตอล ตอนดิ้นรนเพื่อให้‘รอด’

20 พ.ค. 2559 | 12:00 น.
ตอนที่แล้วได้รายงานสถานการณ์ของแวดวงธุรกิจทีวีดิจิตอล ถึงวันนี้สถานการณ์ยังคงไม่แปรเปลี่ยนโดยเฉพาะในด้านความนิยมของท่านผู้ชม ซึ่งอาจตีความรวมไปถึงด้านรายได้บวกด้วยความอยู่รอดของแต่ละช่อง(บริษัท) โดยเฉพาะกลุ่มที่สุ่มเสี่ยงออกอาการ "โยนผ้า" คล้ายกับเจ๊ติ๋ม หญิงแกร่งแวดวงธุรกิจโฆษณาทีวีที่หาญกล้าเข้าประมูลมาได้ถึง 2 ช่อง สุดท้ายไปไม่รอดต้องทิ้งไพ่คืนใบอนุญาตหลังรันธุรกิจมาได้เพียงปีเศษๆ ด้วยเพราะประสบปัญหาเรื่องทุน ขณะกิจการทีวีที่ประมูลมา 2 ช่องก็ยังไม่สามารรถสร้างเม็ดเงิน(โฆษณา)ได้พอที่จะต้องจ่ายไปแต่ละเดือน

ขณะที่ใครจะเป็นรายต่อไป กลายเป็นประเด็นที่กระจอกข่าวทุกสำนักตามกัดติดไม่เว้นกระทั่งแวดวงดิจิตอลด้วยกัน เนื่องจากมีเสียงทักจากนักวิเคราะห์ในแวดวงธุรกิจทีวีทำนายทายทักก่อนหน้าว่า "ยังจะมีอีกหลายรายที่เตรียมตัดสินขอคืนใบอนุญาตเหมือนในรายของไทยทีวีที่มีเจ้าแม่ทีวีพูลบริหาร"

อย่างที่ทราบ "รายได้" จากการโฆษณาเป็น ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจสื่อทั้งหลายอยู่รอด ขณะเม็ดเงินก้อนโตจากการโฆษณาสินค้าจะตกอยู่กับสื่อผู้นำ สำหรับในแวดวงทีวีจะต้องเป็นช่องที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมทั้งประเทศ ซึ่งปัจจัยที่จะเป็นผู้นำได้จะต้องเป็นช่องที่มี "คอนเทนต์"หรือรายการที่มีผู้ชมติดตามเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่"คอนเทนต์"หรือประเภทรายการ ที่ผู้ชมที่เป็นคนไทยนิยมสิบอันดับแรกยังเหนียวแน่นไม่เปลี่ยนแปลงไล่เรียงลงไปยังคงเป็นละครไทย ซีรีส์ไทย อันดับหนึ่งตามด้วยภาพยนตร์ไทย/ต่างประเทศ การ์ตูน ซีรีส์ต่างประเทศ ละครซิตคอม เรียลลิตี 26.5% ดนตรีประกวดร้องเพลง เกมโชว์ ขณะที่รายการข่าว-วิเคราะห์ข่าว รวมถึงรายการถ่ายทอดสดกีฬา ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูงยังติดอันดับท้ายๆ ที่ 9 และ 10 ตามลำดับเท่านั้น

ไม่แปลกที่ผลสรุปของการจัดเรตติ้ง(ความนิยมของผู้ชม) ประจำของแต่ละเดือน อันดับ 1 และ 2 ยังคงเป็นของรายเดิมอย่าง ช่อง 7 และช่อง 3 ยกตัวอย่างล่าสุดเดือนเมษายน 2559 โดยเอจีบี เนลสันฯ อันดับ 1-10 ยังคงเป็นช่อง 7 HD ช่อง 3 HD ช่องเวิร์คพอยท์ ช่องโมโน ช่อง 8 ช่อง ONE ช่อง 3 SD ช่อง True 4U ช่องไทยรัฐ ทีวี และช่อง 9 HD

จากข้อมูลการจัดเรตติ้งของเอจีบี เนลสันฯ ล่าสุด บวกกับปัจจัยสำคัญที่เอเยนซีโฆษณาและเจ้าของสินค้าทั้งหลายเลือกซื้อเวลาในการโฆษณาสินค้าแล้ว คงจะได้เห็นวิบากกรรมของแต่ละช่องทีวีดิจิตอลได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะช่องที่มีเรตติ้งติดอยู่ในลำดับท้ายๆ เนื่องจากธุรกิจทีวีมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง

"ธุรกิจทีวีดิจิตอลเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินทุนค่อนข้างสูง นอกจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีแล้ว ยังมีค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิตอลเดือนละหลายล้านบาท ค่าจ้างพนักงาน ค่าลิขสิทธิ์คอนเทนต์ ค่าสตูดิโอ และอื่นๆ รวมมูลค่าการลงทุนตั้งแต่เริ่มประกอบกิจการจนถึงขณะนี้รวมมูลค่าที่ใช้จ่ายแล้วกว่าหลายพันล้านบาท" นายเขมทัศน์ พลเดช อุปนายกสมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ช่อง 36 พีพีทีวี ได้กล่าวกับนักข่าวเมื่อครั้งที่เป็นตัวแทนผู้ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิตอลรวม 8 รายเข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้ใช้อำนาจ ม. 44 แก้ไขปัญหาความล้มเหลวของการเปลี่ยนผ่านการรับชมโทรทัศน์จากระบบอะนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอลของประเทศไทย

โดยทางกลุ่มอ้างว่าเพื่อเป็นการเยียวยาและสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันโดยเฉพาะกับรายเก่าๆ แต่เท่าที่ได้ชมเนื้อหาทั้ง 9 ข้อหากได้รับความกรุณาจากท่านผู้นำทั้งหมดก็คงไม่ใช่การเยียวยา แต่น่าจะช่วยทุกๆช่องอยู่รอดได้แบบ วิน วิน วิน ทั่วหน้า!! และที่สำคัญหากผลออกมาแบบนั้นจริง กสทช. ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลกิจการดังกล่าวแทนภาครัฐและประชาชนจะมีเอาไว้ทำไม!!

น่าคิดนะครับ!!

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,158 วันที่ 19 - 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559