อียูหนุนล้านยูโรแก้ค้ามนุษย์ ประมงเฮเจ้าท่าเลิกซีแมนบุ๊ก

18 พ.ค. 2559 | 06:00 น.
อียูหนุน 1 ล้านยูโร หนุนโครงการต่อสู้กับปัญหารูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลของไทย ชงปลัดแรงงาน-อียูประจำประเทศไทย เป็นประธานร่วมขับเคลื่อน หวังแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ขีดเส้น 42 เดือนต้องเห็นผล ด้านสมาคมประมงเฮ กรมเจ้าท่าประกาศยกเลิกซีแมนบุ๊ก หลังเข้าใจคลาดเคลื่อนในการตีความ

[caption id="attachment_53912" align="aligncenter" width="700"] ตัวอย่างแผนงานของคณะกรรมการที่ต้องเข้าร่วม ตัวอย่างแผนงานของคณะกรรมการที่ต้องเข้าร่วม[/caption]

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการต่อต้านรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงผลการประชุม เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมาว่าทางสหภาพยุโรป (อียู) ได้ให้เงินสนับสนุนเงิน 1 ล้านยูโร หรือประมาณ 40 ล้านบาทแก่ไทยในการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการต่อต้านรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินการโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ร่วมกับกระทรวงแรงงานของไทย ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) สหภาพแรงงาน องค์กรแรงงานและองค์กรประชาสังคม องค์กรนายจ้าง สมาคมอุตสาหกรรม กลุ่มผู้ซื้อและผู้ค้าปลีก และองค์กรอื่นๆ อาทิ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เป็นต้น โดยมี ม.ล. ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน และนายเฆซูล มิเกล ซันส์ เอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย หรือผู้แทนเป็นประธานร่วมกัน

สำหรับวัตถุประสงค์โดยรวมของโครงการมี 4 ข้อ คือ 1. เสริมสร้างกรอบกฎหมาย นโยบาย และการกำกับดูแลในกิจการประมงและอาหารทะเล มีความเข้มแข็งขึ้น ด้วยการยกระดับมาตรฐานต่างๆ ด้านแรงงานและส่งเสริมการย้ายถิ่นอย่างถูกกฎหมายของแรงงานในภาคการประมงและอาหารทะเล 2.เสริมสร้างศักยภาพทางเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ผู้ตรวจแรงงาน ในการสอดส่องและดำเนินการปราบปรามการค้ามนุษย์และการละเมิดสิทธิแรงงานต่างๆ ในภาคการประมงและการแปรรูปอาหารทะเลได้ อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 3.ส่งเสริมการปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักการและสิทธิพื้นฐานต่างๆ ในการทำงาน (มาตรฐานแรงงานฉบับหลักๆ ในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลด้วยการดำเนินโครงการแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี และ 4.เพิ่มการเข้าถึงบริการสนับสนุนช่วยเหลือต่างๆ สำหรับแรงงานและเหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิ เช่น เด็ก ด้วยการมีส่วนร่วมและการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรประชาสังคมและสหภาพแรงงาน

สำหรับอำนาจหน้าที่จะวางแนวทางยุทธศาสตร์และให้คำแนะนำต่างๆ โดยจัดให้มีการประชุมปีละ 2 ครั้ง เพื่อพิจารณารายงานประจำปีและติดตามแผนงานประจำปี โครงการนี้เริ่มต้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ -1 สิงหาคม 2562 รวมระยะเวลาดำเนินงาน 42 เดือน

ด้านนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่ารู้สึกดีใจ กรณีที่ล่าสุดกรมเจ้าท่า ประกาศยกเลิก ระเบียบกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการออกหนังสือคนประจำเรือประมง พ.ศ.2559 หรือซีแมนบุ๊ก ที่เพิ่งออกมาใหม่เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมนี้ ให้แก่บุคคลผู้มิได้มีสัญชาติไทย เพื่อป้องกันปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2559 "ขอให้ชาวประมงยังคงสามารถออกเรือทำการประมงได้ตามปกติ เช่นที่ผ่านมา สำหรับหนังสือคนประจำเรือประมงและใบแทนหนังสือคนประจำเรือประมงที่เจ้าหน้าที่ออกไปให้แล้วก่อนหน้านี้ ยังสามารถนำมาใช้ได้ตามปกติ"

สอดคล้องกับ นางจิราภรณ์ จันทรศิริ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านความปลอดภัย กล่าวยอมรับว่าเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการตีความ ดังนั้นจึงยกเลิกฉบับนี้ไป ซึ่งการออกหนังสือคนประจำเรือประมงตามมาตรา 83 แห่ง พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 นั้น กรมประมงกำลังเสนอร่างอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องรองรับให้สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างชัดเจนต่อไป

photo : pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,157 วันที่ 15 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559