‘ไก่-กุ้ง-หมู’ยอดโตยกแผง CPF มั่นใจปีนี้โต 10-15%/ลุยธุรกิจใหม่ปั๊มรายได้

16 พ.ค. 2559 | 11:00 น.
ไก่ กุ้ง หมู ฟื้นยกแผง ซีพีเอฟไตรมาสแรกฟันรายได้ 1.05 แสนล้าน-กำไรพุ่งกระฉูด ระบุ 4 ปัจจัยหนุน มั่นใจสิ้นปีนี้ยอดขายโต 10-15% ขยับลงทุนเพิ่มทั้งในต่างประเทศ ตั้งงบ 5 ปีลงทุน 5 หมื่นล้าน ไม่รวมซื้อกิจการที่อยู่ระหว่างดีล 2-3 ราย ขณะอนุมัติงบลุยธุรกิจใหม่โรงงานซอส เครื่องปรุงรส เล็งอาหารมังสวิรัติเป้าหมายถัดไป

[caption id="attachment_53455" align="aligncenter" width="360"] อดิเรก ศรีประทักษ์  กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร  บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) อดิเรก ศรีประทักษ์
กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน)[/caption]

นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของซีพีเอฟในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 ว่า บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้จากการขาย 1.05 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10% โดยมีกำไรสุทธิ 3.76 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% สำหรับรายได้ดังกล่าวสัดส่วน 60% มาจากการลงทุนในประเทศต่างๆ 13 ประเทศ และอีก 40% เป็นรายได้จากการผลิตสินค้าและจำหน่ายในประเทศ 34% และอีก 6% ส่งออกต่างประเทศ

สำหรับรายได้ของซีพีเอฟที่กลับมามีผลการดำเนินงานที่ดีดังกล่าว ในขณะที่เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกไม่ค่อยดี แต่ธุรกิจอาหารไม่ได้ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ และการเมืองแต่อย่างใด ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ซีพีเอฟมีการเติบโตของยอดขายและกำไรที่น่าพอใจมาจาก 4 ประเด็นหลักคือ 1. ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ของโลก ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด ถั่วเหลืองมีราคาถูกลง ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ลดลง 2. ภาวะราคาเนื้อสัตว์กลับมาดี โดยเฉพาะปัญหาเรื่องภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำ และเรื่องของโรคติดต่อที่เกิดขึ้นในตัวสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสุกร หรือไข้หวัดนกในไก่ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา หรือในยุโรป ส่งผลให้ให้จำนวนสัตว์ลดลง การเคลื่อนย้ายสัตว์ยากขึ้น มีส่วนสนับสนุนให้ราคาสินค้าทั้งเนื้อไก่ เนื้อสุกร ปรับตัวสูงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ 3.จากการเลี้ยงกุ้งของไทยที่ได้รับผลกระทบจากโรคตายด่วน(EMS)มาหลายปี แต่ปีนี้ผลผลิตกุ้งได้เริ่มฟื้นคืนกลับมา โดยไทยมีการพัฒนาสายพันธุ์กุ้งที่ดี การใช้ระบบการบำบัดน้ำที่ดี และมีวิธีการเลี้ยงที่ดี ขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจของบริษัทที่เกี่ยวกับกุ้งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาที่ขาดทุน เริ่มกลับมากำไร และ 4.ธุรกิจที่ซีพีเอฟไปลงทุนในต่างประเทศเริ่มส่งผลตอบแทนกลับมาได้อย่างเห็นชัดขึ้น

"กำไรสุทธิข้างต้น เป็นกำไรที่มาจากต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งนี้ยอดขายของซีพีเอฟในปี 2559 คาดจะเพิ่มขึ้น 10-15% จากปีที่ผ่านมามียอดขาย 4.2 แสนล้านบาท ขณะที่เราจะใช้งบลงทุนทั้งในและต่างประเทศปีละ 2 หมื่นล้านบาท โดย 5 ปีจากนี้กำหนดงบลงทุนไว้ที่ 5 หมื่นล้านบาท ไม่รวมงบการเข้าซื้อกิจการที่อยู่ระหว่างดีลอยู่ 2-3 ราย ซึ่งรายหนึ่งเป็นบริษัทในบราซิล"

ด้านวีระชัย รัตนบานชื่น ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจไก่เนื้อ ซีพีเอฟ เผยว่า จากที่สหภาพยุโรป(อียู)มีความเข้มงวดเรื่องอาหารปลอดภัย (ฟูดเซฟตี้)โดยสินค้าที่ส่งเข้าไปต้องปลอดเชื้อไวรัส ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายไม่กล้าส่งสินค้าเข้า ขณะที่ซีพีเอฟได้พัฒนาคุณภาพมาตรฐานการผลิตได้เป็นที่ยอมรับ ส่งผลดีทำให้บริษัทได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างมากในตลาดยุโรป โดยล่าสุดราคาสินค้าไก่แปรรูปได้ปรับขึ้นจาก 2.3 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เป็น 2.5-2.6 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ถือเป็นโอกาสในการส่งออก ขณะในตลาดญี่ปุ่นทางซีพีเอฟเข้าไปถือหุ้นในอิโตชู(เจ้าของแฟมิลี่มาร์ท)ทำให้มีจุดขายกว่า 1 หมื่นสาขา รวมถึงสาขาของเซอร์เคิลเค(ที่อิโตชูไปซื้อกิจการมา)อีก 6 พันสาขา รวมเป็น 1.6 หมื่นสาขา ช่วยเพิ่มยอดส่งออกไก่แปรรูปของซีพีเอฟในญี่ปุ่นอีก 350-400 ตันต่อเดือน

ขณะที่นายสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจอาหารสำเร็จรูป ซีพีเอฟ เผยว่า ล่าสุดได้รับการอนุมัติงบลงทุนจากคณะกรรมการลงทุนฯของซีพีเอฟ 700 กว่าล้านบาท เพื่อทำการวิจัย และการลงทุนอาหารสำหรับผู้ป่วย คนสูงอายุ และอาหารสำหรับเด็ก รวมถึงการตั้งโรงงานผลิตซอสและเครื่องปรุงรสต่างๆ สำหรับตลาดในและต่างประเทศ คาดแผนงานต่างๆ จะแล้วเสร็จในปีหน้า นอกจากนี้จะของบลงทุนอีกก้อนหนึ่งสำหรับลงทุนผลิตและจำหน่ายอาหารมังสวิรัติ ซึ่งเป็นอีกตลาดหนึ่งที่น่าสนใจ

Photo Cover : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,157 วันที่ 15 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559