TOP เดินหน้าสร้างโรงกลั่น ลงทุน1.4แสนล.วอนขอบีโอไอหนุนส่งเสริมรูปแบบคลัสเตอร์

18 พ.ค. 2559 | 06:00 น.
ไทยออยล์เดินหน้าสร้างโรงกลั่นน้ำมันใหม่ เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ใช้เงินลงทุน 1.4 แสนล้านบาท "อธิคม" เผยอยู่ขั้นออกแบบทางวิศวกรรม พร้อมเปิดหาผู้รับเหมาได้ในปีหน้า วอนขอบีโอไอช่วยพิจารณาส่งเสริมการลงทุนรูปแบบคลัสเตอร์ เพราะเป็นเชื้อเพลิงสะอาด และเป็นวัตถุดิบป้อนปิโตรเคมีชนิดพิเศษ ที่รัฐบาลส่งเสริม

นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาโครงการปรับปรุงหน่วยการกลั่นน้ำมันดิบ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตภายใต้โครงการเชื้อเพลิงสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) โดยจะพิจารณาก่อสร้างหน่วยกลั่นใหม่ทดแทนหน่วยกลั่นที่ 1 และ2 ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการกลั่นรวมประมาณ 1 แสนบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากมีการใช้งานมาแล้วกว่า 50 ปี จึงเป็นเทคโนโลยีเก่า ส่วนหน่วยกลั่นที่ 3 กำลังการผลิต 1.75 แสนบาร์เรลต่อวัน ยังคงไว้ เพราะมีอายุเพียง 30 ปีเท่านั้น ดังนั้หน่วยกลั่นใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนจะมีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 2.25 แสนบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ภายหลังจากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จโรงกลั่นไทยออยล์จะกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน

โดยปัจจุบันไทยออยล์อยู่ระหว่างขั้นตอนออกแบบทางวิศวกรรม ในการเลือกเทคโนโลยี ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ และหลังจากนั้น จะจัดทำเอกสารและเปิดประมูล ที่จะต้องใช้เวลาอีกเกือบ 1 ปี ซึ่งตามแผนคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปลายปี 2560 เนื่องจากเห็นว่า การลงทุนในช่วงที่ราคาน้ำมันที่ยังไม่ปรับเพิ่มขึ้นมากนัก ค่าก่อสร้างมีราคาถูกอยู่ เพราะงานรับเหมาสร้างโรงกลั่นมีน้อย โดยจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.4 แสนล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) หากสามารถสรุปได้ภายในปีหน้า จะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 4 ปี

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลมีนโยบายเร่งการที่จะเร่งรัดการลงทุนหรือยื่นขอส่งเสริมการลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมกาส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ คงไม่สามารถดำเนินการได้ทัน เพราะในปีนี้ยังไม่สามารถมีเอกสารเพียงพอในรายละเอียด ซึ่งน่าจะยื่นขอบีโอไอได้ภายในปีหน้าได้ แต่ทั้งนี้อยากให้ภาครัฐเข้ามาพิจารณาว่าโครงการก่อสร้างโรงกลั่นเชื้อเพลิงสะอาดนี้ น่าจะได้รับการสงเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ ที่จะได้สิทธิประโยชน์จากบีโอไอค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับการขอสิทธิประโยชน์ทั่วไป เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันแห่งนี้ จะเป็นฐานการผลิตวัตถุดิบ เช่น แนฟทา เพื่อไปต่อยอดในการผลิตปิโตรเคมีชนิดพิเศษ ตามที่รัฐบาลส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ได้ และยังเป็นโรงกลั่นน้ำมันที่ออกแบบไว้รองรับคุณภาพมาตรฐานน้ำมันยูโร 6 ไว้ด้วย จากปัจจุบันประเทศไทยใช้แค่มาตรฐานยูโร 5 เท่านั้น

นายอธิคม กล่าวอีกว่า สำหรับโรงกลั่นใหม่นี้ จะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สามารถเลือกน้ำมันดิบเข้ามากลั่นจากแหล่งต่างๆ ได้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการกลั่นน้ำมันลงมาได้มาก และทำให้กลั่นน้ำมนเตาได้น้อย ได้สัดส่วนของน้ำมันดีเซลที่สร้างมูลค่าได้ในปริมาณที่สูง รวมทั้งแนฟทาเพิ่มขึ้นด้วย ขณะที่น้ำมันเตาก็จะลดลงด้วย โดยจะสอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำมันดีเซลที่เติบโตขึ้น และยังเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะมารองรับการเติบโตของบริษัทต่อไปในอนาคต

สำหรับน้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นได้นั้น ส่วนหนึ่งจะป้อนความต้องการใช้ในประเทศเป็นหลักก่อน เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันบางชนิด และที่เหลือจะถูกส่งออกป้อนให้กับภูมิภาคนี้ทั้งหมด โดยเฉพาะรองรับการเติบโตของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ซึ่งบางประเทศยังไม่มีโรงกลั่นน้ำมันเกิดขึ้นหรือมีกำลังการผลิตเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,157 วันที่ 15 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559