จีนเตรียมผงาดขึ้น เศรษฐกิจมหาอำนาจ วางหยวนเดินเกมการเงิน-การค้า

18 พ.ค. 2559 | 03:00 น.
สาธารณรัฐประชาชนจีนนับเป็นประเทศที่ถูกจับตามองในเรื่องของเศรษฐกิจจากทั่วโลก ภายหลังประกาศปรับโครงสร้างเศรษฐกิจการเติบโตจากการลงทุนสู่การบริโภคภายในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจที่เคยเติบโตร้อนแรงด้วยตัวเลข 2 หลัก ปรับลดลงเหลือตัวเลขหลักเดียว ประกอบกับที่ผ่านมาจะเห็นว่าทางการจีนพยายามดำเนินนโยบายทางการเงินต่างๆ ออกมามากมาย โดยเฉพาะการนำเงินหยวนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตะกร้าเงินโลก หรือเรียกว่า SDR เพื่อให้สกุลเงินหยวนมีความเป็นสากลมากขึ้น แต่อีกมุมก็ส่งผลให้เกิดความผันผวนต่อตลาดโลกเช่นกัน ซึ่งจากนโยบายดังกล่าวล่าสุดสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีนร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดเสวนาโต๊ะกลม "วิเคราะห์เศรษฐกิจจีน ผ่านกลยุทธ์ เงินหยวน-ทองคำ โกอินเตอร์ ผลต่อเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย" เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา

แนะไทยตั้งเกมรับเงิน 2 สกุลหลักให้ดี

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หนึ่งในวิทยากรร่วมเสวนา สะท้อนภาพเศรษฐกิจจีน ภายหลังการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ นับเป็นบริบทใหม่ที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจโลก สิ่งที่เป็น Key Word จากการเดิมเกมเศรษฐกิจของจีนครั้งนี้ เพื่อเป็นการวิวัฒนาการตัวเอง หรือ Evolution ที่มีกรอบระยะสั้น-ระยะยาว โดยกรอบระยะสั้น 1-3 ปี จีนพยายามทำให้สกุลเงินหยวนได้รับการยอมรับจากเวทีโลก โดยพยายามผลักดันให้อยู่ในตะกร้าเงินของโลก(SDR) จนได้รับการอนุมัติจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่จะมีผลภายในวันที่ 1 ตุลาคมนี้

สะท้อนว่าจีนเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกประเทศหนึ่ง เนื่องจากสกุลเงินที่อยู่ในตะกร้าจะต้องเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งและมีเสถียรภาพ แม้ว่าสัดส่วนสกุลเงินหยวนในตะกร้า SDR มีเพียง 10.9% แต่ถือว่าเป็นประเทศใหม่ที่ได้การยอมรับจากเวทีโลก ซึ่งในอนาคตจะเห็นสัดส่วนเงินหยวนเข้ามาแทนที่เงินสกุลเยนและปอนด์ จากปัจจุบันเงินสกุลเยนมีอยู่ที่ 8.3% และปอนด์ 8.1%

ดังนั้น จะเห็นว่าทางการจีนปล่อยมือจากการเข้าไปดูแลค่าเงินโดยตรงเป็นแบบประคองโดยดูตามจังหวะและโอกาส ทำให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินหยวนมีแนวโน้มอ่อนค่าลง สะท้อนว่าจีนมีความพร้อมที่จะผ่อนคลายภาคการเงินให้เหมาะสม นับเป็นจุดแข็งของภาคการเงินในภูมิภาคอาเซียนรวมถึงจีน ที่ดำเนินนโยบายแบบก๊อบปี้จากฝั่งตะวันตกนำมาใช้โดยต่อยอดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาปรับใช้กับนโยบายของประเทศตัวเอง ขณะที่การเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีนในบริบทใหม่ ซึ่งไทยจะต้องปรับตัว ทั้งองค์กรหรือภาคธุรกิจควรหันมาทำกลยุทธ์หรือแผนยุทธศาสตร์ที่มีมติของจีนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย เพราะในอนาคตจีนจะเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมและกระจายตัวทั่วโลก โดยภายใน 5-8 ปีข้างหน้า ไทยจะต้องเดินเกมให้ดี เพราะมีการเปลี่ยนผ่านของเกมการเงิน และเจอเงิน 2 สกุล(ดอลลาร์สหรัฐฯและหยวน) จึงต้องสร้างสมดุลให้ดี

" เพราะสหรัฐฯอยู่โดยไม่มีจีนไม่ได้ และหากดูในระยะ 10-20 ปีข้างหน้า จะเห็นประเทศมหาอำนาจทั้ง 2 ประเทศใกล้เคียงกัน โดยประเทศหนึ่งกำลังจะไต่ขึ้น ส่วนอีกประเทศกำลังลดกำลังลง แต่เป็นการลงอย่างช้าๆ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศอาจจะไปเจอกันระหว่างทางได้ แต่ฟันธงได้ว่าจีนขึ้นแน่นอนแต่ระยะเวลาไม่แน่นอน + โดยโมเดลจีนขับเคลื่อนด้วยเครือข่ายภาคการค้าในระยะข้างหน้า นับเป็นทิศทางสำคัญ โดยจะเห็นเงินสกุลหลักและสกุลเงา และไทยควรเดินเกมให้ดี แทงกั๊กอย่างสง่างาม เพราะจะทิ้งสกุลดอลลาร์สหรัฐฯก็ไม่ได้ จะไม่จับหยวนก็ไม่ได้ ดังนั้น ในเชิงธุรกิจต้องเดินหมากให้ดี"

ธนชาตชี้อนาคตดอลลาร์ลดบทบาท

นายฐานิศร์ ศาสตราวาหะ ผู้อำนวยการอาวุโส ปริวรรตเงินตราต่างประเทศ บริหารเงินและตลาดทุน ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) (บมจ.) วิทยากรอีกท่านกล่าวว่า ภายหลังจากเงินสกุลหยวนได้เข้าไปอยู่ในตะกร้า SDR สิ่งที่จีนจะต้องทำ คือ ต้องทำให้เงินสกุลหยวนได้รับการยอมรับและใช้อย่างแพร่หลายให้มากขึ้น แม้การจะให้คนหันมานิยมใช้เงินหยวนคงไม่เร็วมาก ขณะเดียวกัน เริ่มเห็นสัญญาณลูกค้าของธนาคารธนชาตที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องหรือมีการค้าขายกับประเทศจีนก็หันมาทำธุรกรรมซื้อขายเงินหยวนโดยตรง จึงเชื่อว่าอนาคตสกุลเงินหยวนจะมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นและมีการซื้อขายโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านเงินสกุลอื่น

ขณะที่การเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวน นับตั้งแต่ปลายปีก่อนจนถึงปัจจุบันปรับตัวแข็งค่าขึ้นประมาณ 2% ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวมาจากปัจจัยกระแสข่าวการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่วนทิศทางหยวนเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท จะเห็นการเคลื่อนไหวไม่มากนัก โดยปีก่อนเคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 5.70-5.80 บาทต่อหยวน ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 5.50 บาทต่อหยวน ทำให้ความเสี่ยงของผู้ประกอบการที่ค้าขายกับจีนไม่สูงมากนัก และคาดว่าในปีนี้เงินหยวนเมื่อเทียบกับค่าเงินบาทจะทรงตัวอยู่ในระดับนี้

"เมื่อก่อนจีนเป็นประเทศที่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงสุดถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 3.21 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งหายไปเกือบ 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นผลมาจากการถูกโจมตีค่าเงิน ส่วนไทยมีเงินทุนสำรองประมาณ 1.7-1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมาจากการค้าขายและกระแสเงินทุนไหลเข้า แต่จะเห็นตัวเลขฐานฟอร์เวิร์ดที่แบงก์ชาติไว้แทรกแซงหรือดูแลค่าเงินประมาณ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะเห็นว่าธปท.ดูแลค่าเงินไม่ให้มีความเสี่ยงเกินไป"

จับตาตลาดทองคำเซี่ยงไฮ้หลังใช้หยวน

เช่นเดียวกับนายบุญเลิศ สิริภัทรวณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ออสสิริสฯ กล่าวให้ความเห็นผ่านวงเสวนาว่า นับตั้งแต่ปี 2556 จีนเป็นประเทศที่บริโภคทองคำมากที่สุด ซึ่งเป็นไปตามขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และภายหลังที่จีนต้องการให้สกุลเงินหยวนมีความเป็นสากล และก้าวไปสู่การกำหนดราคา (เบนมาร์ก) ซึ่งหากดูข้อมูลยอดทุนสำรองของทองคำประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีสัดส่วนของทองคำมากกว่า 50% ซึ่งประเทศจีนมีทุนสำรองทองคำประมาณ 1.7 พันตัน คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 6 ของทุนสำรอง หรืออยู่ในอันดับ 6 โดยประเทศสหรัฐฯ อยู่ในอันดับ 1 มีทุนสำรองทองคำอยู่ประมาณ 8 พันตัน หรือประมาณ 72% ของทุนสำรองทั้งหมด ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับ 26 มีทุนสำรองทองคำ 152.4 ตัน หรือประมาณ 3%

"จีนเป็นผู้ผลิตทองคำรายใหญ่ และก็เป็นผู้บริโภครายใหญ่เช่นเดียวกัน หากรวมจีนและอินเดียจะสร้างดีมานด์สูงเกินกว่า 50% ซึ่งจะทำให้กระแสโฟร์ผ่านตลาดเซี่ยงไฮ้ทั้งหมด เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,157 วันที่ 15 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559